ตู้‘ทีทีอาร์เอส’ลดเหลื่อมล้ำบริการโทรคมฯ

ตู้‘ทีทีอาร์เอส’ลดเหลื่อมล้ำบริการโทรคมฯ

จากสถิติจากศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารแห่งประเทศไทย (ศูนย์ทีทีอาร์เอส) พบว่าปัจจุบันประเทศไทยมีผู้พิการทางการได้ยิน 200,000 คน 

ส่วนล่ามแปลภาษาที่ศูนย์ทีทีอาร์เอส มีเพียง 37 คน ทำให้บางครั้งผู้พิการทางการยินไม่ได้รับความสะดวกในเรื่องการสื่อสารด้านโทรคมนาคม หากต้องการใช้งานโทรศัพท์เพื่อติดต่อกับผู้อื่น

พล..สุกิจ ขมะสุนทร กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ร่วมกับ...อนุศิลป์ สิริเวชชะพันธ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการการรถไฟขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) รักษาการแทนรองผู้ว่าการ รฟม. เปิดใช้งานโทรคมนาคมสำหรับผู้พิการทางการได้ยิน ที่ติดตั้งในสถานีรถไฟฟ้าเอ็มอาร์ที 

โดยสำนักงานกสทช.ได้จัดทำแผนการจัดให้บริการโทรคมนาคมพื้นฐานโดยทั่วถึงเพื่อสังคม จึงได้สนับสนุนงบประมาณให้แก่มูลนิธิสากลเพื่อคนพิการ เพื่อจัดตั้งศูนย์บริการถ่ายทอดสื่อสารแห่งประเทศไทย (ทีทีอาร์เอส)

มีวัถตุประสงค์เพื่อเชื่อมต่อการสื่อสารระหว่างคนปกติและผู้มีปัญหาทางการได้ยิน ด้วยบริการล่ามภาษามือแบบออนไลน์เป็นแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย โดยการติดตั้งตู้ทีทีอาร์เอสนี้เป็นหนึ่งในบริการถ่ายทอดสดการสื่อสารแบบสนทนาวีดิโอผ่านตู้ทีทีอาร์เอส ซึ่งเป็นตู้บริการสำหรับผู้บกพร่องทางการได้ยิน 

ปี2560 มูลนิธิฯได้ติดตั้งตู้ทีทีอาร์เอส แล้วเสร็จจำนวน 180 ตู้ทั่วประเทศ โดยการเปิดพื้นที่สถานีรฟม. นี้ได้ติดตั้งตู้ทีทีอาร์เอส 2 แห่งคือสถานีกำแพงเพชรและสถานีศูนย์สิริกิติ์

ทั้งนี้ ศูนย์ทีทีอาร์เอสมี 9 บริการถ่ายทอดการสื่อสาร 1. บริการถ่ายทอดการสื่อสารแบบข้อความสั้น (เอสเอ็มเอส) 2.บริการถ่ายทอดการสื่อสารแบบรับ-ส่งข้อความผ่านแอพพลิเคชั่น 3.บริการถ่ายทอดการสื่อสารแบบข้อความอินเทอร์เน็ต 4.บริการถ่ายทอดการสื่อสารแบบสนทนาวีดิโอบนอินเทอร์เน็ต 5.บริการถ่ายทอดการสื่อสารแบบสนทนาวีดิโอผ่านแอพพลิเคชั่น 6.บริการถ่ายทอดการสื่อสารแบบสนทนาผ่านตู้ทีทีอาร์เอสปัจจุบันให้บริการแล้ว 150 แห่ง 7.บริการถ่ายทอดการสื่อสารแบบปรับปรุงเสียงพูด สำหรับผู้ไร้กล่องเสียง และผู้ที่ปากแหว่งเพดานโหว่ 8.บริการถ่ายทอดการสื่อสารแบบแปลงเสียงเป็นข้อความผ่านแอพพลิเคชั่นและ 9.บริการถ่ายทอดการสื่อสารแบบการแจ้งเหตุฉุกเฉิน

พล.อ.สุกิจ กล่าวว่าการทำงานร่วมกับ รฟม.ครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งในการต่อยอดความร่วมมือที่กสทช.ต้องการลดความเหลื่อมล้ำบริการโทรคมนาคมของผู้พิการ  รวมทั้งหน้าที่ในการกำกับกิจการโทรคมนาคม การส่งเสริมเสรีภาพของประชาชนทั้งหมดให้มีความเสมอภาคและเท่าเทียมกัน 

โดย กสทช.ได้ร่วมกับศูนย์ทีทีอาร์เอส ในการจัดตั้งศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารสำหรับผู้บกพร่องทางการได้ยินและผู้บกพร่องทางการพูดเป็นการดำเนินการจัดบริการพิเศษเพื่อสังคม ซึ่งถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของการบริการโทรคมนาคมอย่างทั่วถึง ทำหน้าที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้บกพร่องทางการได้ยินและผู้บกพร่องทางการพูดได้มีโอกาสใช้บริการโทรคมนาคมเพื่อติดต่อสื่อสารกับบุคคลทั่วไปในสังคม

เนื่องจากผู้บกพร่องทางการได้ยินมีข้อจำกัดในการสื่อสารด้วยการพูด การสื่อสารที่ทำได้จะเป็นการพิมพ์ข้อความหรือการใช้ภาษามือโดยผ่านอุปกรณ์โทรคมนาคมที่ฝ่ายผู้รับไม่มี หรือผู้รับไม่เข้าใจเนื้อหาที่สื่อสารโดยตรง เช่นการสื่อสารด้วยภาษามือ 

ดังนั้นจำเป็นจำเป็นต้องให้ผู้รับปลายทางได้เข้าใจ โดยมีคนกลางที่เชื่อมต่อการสื่อสารทั้งสองทางได้เข้าใจ เช่นเดียวกับผู้บกพร่องทางการพูดที่สื่อสารด้วยเสียง แต่เป็นเสียงที่ไม่ชัดทำให้ไม่เข้าใจ จึงจำเป็นต้องมีคนกลางที่เข้าใจเสียงพูด และทวนเสียงพูดนั้นให้ผู้รับปลายทาง

ทั้งนี้ ศูนย์บริการถ่ายทอดการสื่อสารผู้บกพร่องทางการได้ยินและผู้บกพร่องทางการพูด จึงทำหน้าที่ในการถ่ายทอดการสื่อสารระหว่างผู้ส่งและผู้รับปลายทาง ซึ่งอาจเป็นเสียงพูด ข้อความสั้น ข้อความออนไลน์ หรือภาษามือ โดยมีเจ้าหน้าที่ถ่ายทอดการสื่อสารที่มีความเชี่ยวชาญเป็นพิเศษทำหน้าที่เป็นคนกลางในการติดต่อ