สิ่งซ่อนเร้นในภาพเก่าอายุร้อยกว่าปี (มีคลิป)

 สิ่งซ่อนเร้นในภาพเก่าอายุร้อยกว่าปี  (มีคลิป)

มีหลายสิ่งหลายอย่างซ่อนอยู่ในภาพถ่ายอายุร้อยกว่าปี ในนิทรรศการพิเศษ ‘120 ปี โรเบิร์ต เลนซ์และห้องภาพในสยาม’ ที่ Art Tower ชั้น 6 เซ็นทรัลแอมบาสซี่ ผลงานของโรเบิร์ต เลนซ์ ช่างภาพหลวงคนสำคัญสมัยรัชกาลที่ ๕

     ถูกคัดสรรภาพถ่ายต้นฉบับกรรมสิทธิ์ของสำนักพิมพ์ สยาม เรเนซองส์ ชุดของสะสมส่วนบุคคลของอรรถดา คอมันตร์ รวบรวมกลับคืนมาจากต่างประเทศ มีทั้งภาพพระราชวงศ์ไทย ทิวทัศน์สองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา วัดวาอารามและศาสนาพุทธที่อยู่คู่กับสังคมไทย แม้แต่ประเพณี ศิลปวัฒนธรรมแห่งการร่ายรำ วิถีชีวิตของชาวบ้าน ชายผู้นี้ยังบันทึกเอาไว้หลังจากที่เขาปักหลักอยู่ในเมืองสยามเมื่อปีพ.ศ.๒๔๓๗ รับจ้างถ่ายรูปเป็นการชั่วคราวที่บริเวณถนนโรงแรมโอเรียนเต็ล หลังจากที่เขามีร้านถ่ายภาพมาแล้ว ในประเทศสิงคโปร์ เมื่อเห็นว่าหากทำการค้าในไทยคงเจริญรุ่งเรือง จึงตัดสินใจเปิดร้าน ร้านถ่ายภาพเป็นการถาวรที่หัวมุมถนนเจริญกรุงตัดกับถนนตีทองอีกสองปีต่อมา 

     จะว่าไป เรื่องการถ่ายภาพสำหรับเมืองไทยถือว่าเป็นเรื่องใหม่มาก ยิ่งร้านถ่ายรูปแห่งใหม่ของนายโรเบิร์ต เลนซ์ ตกแต่งด้วยพระบรมฉายาลักษณ์ของล้นเกล้าฯ รัชกาลที่ ๕ และสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง โดยเขามีโอกาสถวายงานในต่างประเทศมาก่อนหน้านี้ แล้วจึงอัญเชิญมาให้ผู้คนชมอย่างใกล้ชิด  แถมยังลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์บางกอกไทม์นานนับเดือน ร้านถ่ายภาพของเขากลายเป็นห้างที่มีชื่อเสียงมากที่สุดในขณะนั้น มีผู้มาใช้บริการเป็นจำนวนมาก ทั้งพระมหากษัตริย์ พระบรมวงศานุวงศ์ ขุนนาง ชาวต่างประเทศและพ่อค้าคหบดี 

     นอกจากนี้โรเบิร์ต เลนซ์ ยังถ่ายภาพทิวทัศน์ สภาพบ้านเมือง การดำเนินชีวิตของผู้คนในสมัยรัชกาลที่ ๕ หลายแง่มุม รวมทั้งจำหน่ายอุปกรณ์การถ่ายรูป เช่น กล้องถ่ายรูป อัลบั้ม กรอบรูป กระจก น้ำยาล้างรูป รวมทั้งบัตรอวยพร โปสการ์ด และรูปถ่ายต่างๆ สิ่งเหล่านี้จึงเป็นเครื่องมือในการบันทึกเหตุการณ์ต่า่งๆ ในประเทศไทยอย่างดี ก่อนจะตกไปอยู่ในมือของคนหลายรุ่น 

     ไม่เพียงแต่ภาพหายากที่เราจะได้รับชม ความพิเศษของนิทรรศการดังกล่าว ปิติรัชต์ จูช่วย หนึ่งในทีมผู้จัดนิทรรศการกล่าวว่า ภาพถ่ายหลายๆ ภาพมีการจัดทำรูปแบบการนำเสนอใหม่ ๆ อาทิ กรรมวิธีพิเศษอัดขยายใหญ่พร้อมรายละเอียดชัดเจน ด้วยเทคนิคแบบ Fine Art รวมทั้งการใช้เทคนิค Multiple Tone เพื่อสร้างชีวิตชีวาให้ภาพเก่าจากการลงสีภาพบางจุด เพื่อให้ทุกท่านได้ชมและสัมผัสกับประวัติศาสตร์สยามที่หายไปได้อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น ซึ่งคุณค่าและความงามเหล่านี้ เราสามารถมาสืบค้นได้จากจากภาพถ่ายโบราณจนถึงวันที่ 12 ก.ค.ศกนี้ 

ภาพโดย วันชัย ไกรศรขจิต