เปิดปม! ปัญหาเลือก 'ผอ.ไทยพีบีเอส' !?

เปิดปม! ปัญหาเลือก 'ผอ.ไทยพีบีเอส' !?

ปัญหาเลือก "ผอ.ไทยพีบีเอส" ปมกระบวนการสรรหาไม่ถูกต้อง

จากกรณีที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส มีมติเลือก รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล (อดุลยานนท์) อดีตรองผู้อำนวยการไทยพีบีเอส ในสมัยของ ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ อดีตผู้อำนวยการ ส.ส.ท. ให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการไทยพีบีเอสคนใหม่ ด้วยคะแนน 2 ใน 3 ของที่ประชุมจากคณะกรรมการนโยบาย ส.ส.ท. ที่เข้าประชุมจำนวน 7 คนจาก 9 คน เนื่องจากมีกรรรมการ 2 คน ไม่เข้าร่วมประชุม

และเริ่ม "ส่อเค้า" ปัญหาเมื่อมีคนเริ่มแสดงความไม่เห็นด้วยกับการเลือก ผอ.ไทยพีบีเอส ในครั้งนี้ ตั้งแต่การสรรหาฯ ว่าไม่น่าถูกต้องเป็นการ ‘คัดออก’ ไม่ใช่ ‘กลั่นกรองคัดเลือก ’ ผู้สมัครฯ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ นายแก้วสรร อติโพธิ กรรมการธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคม ไทยพีบีเอส ได้ทำหนังสือระบุว่า กระบวนการสรรหาไม่ถูกต้อง

ดังนั้นจึงจะสรุปภาพรวมในเรื่องนี้ให้เห็นเป็นแต่ละประเด็นไป เพื่อจะได้ัชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้น ส่วนหนึ่งเกิดจากการ ‘ตีความ’ ข้อบังคับเกี่ยวกับการสรรหา ผอ.ไทยพีบีเอส ไม่ตรงกัน

ในการสรรหา ผอ.ไทยพีบีเอส ในครั้งนี้ เป็นการดำเนินการตาม 'ข้อบังคับองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทยว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการรับสมัคร และการสรรหาผู้อำนวยการองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พ.ศ.2560

โดยเฉพาะในมาตรา 9 ของข้อบังคับฯ ที่ระบุว่า ให้คณะกรรมการสรรหาดำเนินการกลั่นกรองคัดเลือกผู้สมัครที่เหมาะสมที่จะดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ โดยมีขั้นตอนดังนี้

9.1 การคัดเลือก ให้คณะกรรมการสรรหาประชุมเพื่อพิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัครและกลั่นกรองคัดเลือกให้เหลือผู้ที่เหมาะสมไม่เกิน 5 คน เสนอคณะกรรมการนโยบายเพื่อพิจารณาเห็นชอบภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ปิดการรับสมัคร

ในการสรรหาครั้งนี้ คณะกรรมการสรรหาฯ ซึ่งมีจำนวน 6 คน ได้ใช้วิธีในการคัดเลือก คือ หลังจากคณะกรรมการสรรหาฯ ได้พิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัครฯและรับฟังวิสัยทัศน์ของผู้สมัครทั้ง 7 คน จากเดิมสมัคร 9 คน แต่ถอนตัวไป 2 คน โดยครบถ้วนเรียบร้อยแล้ว เห็นว่า ในจำนวนผู้สมัคร 7 คน ในเบื้องต้นน่าจะมีผู้สมัครไม่เกิน 2 คน ที่เหมาะสมที่จะได้รับการเสนอชื่อต่อคณะกรรมการนโยบายฯ เพื่อคัดเลือกในขั้นตอนสุดท้าย เป็น ผอ.ไทยพีบีเอส

จากนั้นคณะกรรมการสรรหาฯ ก็ได้ทำการโหวตกันว่า 2 คน นั้นจะเป็นใคร โดยกรรมการฯแต่ละคนใช้วิธีเขียนชื่อของผู้สมัคร 2 คน ที่ตนเองเลือกลงในกระดาษใบลงคะแนน จากนั้นประธานคณะกรรมการสรรหาฯเซ็นกำกับใบลงคะแนน แล้วเปิดออกดูในที่ประชุม ปรากฏเป็นชื่อของผู้สมัครคนใด ผู้สมัครคนนั้นก็ได้ 1 คะแนน จากนั้นก็จัดลำดับคะแนน เพื่อดูว่า ผู้สมัครคนใดที่ได้คะแนนมากลำดับ 1 และลำดับ 2 ซึ่งผู้สมัคร 2 คน ที่ได้รับเลือกจากคณะกรรมการสรรหา ก็คือ นายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ และ รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล จากนั้นก็เสนอรายชื่อทั้ง 2 คน ไปให้คณะกรรมการนโยบายฯลงมติเลือก 1 คน เป็น ผอ.ไทยพีบีเอส

แต่มีผู้เห็นว่า วิธีการคัดเลือกดังกล่าวของคณะกรรมการสรรหาฯ ไม่ถูกต้อง โดยวิธีการที่ถูกต้องคือ คณะกรรมการสรรหาต้องโหวตให้คะแนนผู้สมัครทั้ง 7 คน เป็นรายบุคคลทีละคนไป
และถ้าโหวตแล้ว 7 คนที่สมัครมานี้ได้คะแนนโหวตผ่านเกณฑ์ที่กำหนด เช่น กึ่งหนึ่งขึ้นไป เกิน 5 คน ถึงตรงนี้่ คณะกรรมการสรรหาฯจึงค่อย ‘โหวตคัดออก’ เช่น ให้กรรมการสรรหาฯแต่ละคนเลือกมา 5 คน แล้วเอาคะแนนมารวมกันเรียงจากลำดับที่ 1 ถึง 5 ก็จะได้ผู้สมัครที่เหมาะสมจำนวน 5 คน เสนอต่อคณะกรรมการนโยบายฯ

ดังนั้น การที่คณะกรรมการสรรหาไปใช้วิธีการโหวตให้กรรมการแต่ละคนเลือกมาสองคน แล้วเอาคะแนนที่แต่ละคนได้มารวมกัน จึงเป็นวิธีการที่ไม่ถูกต้อง

จำเป็นหรือไม่ที่กรรมการสรรหา ต้องเสนอชื่อผู้สมัครถึง 5 คน ให้คณะกรรมการนโยบายคัดเลือก

คณะกรรมการสรรหาฯเห็นว่า ไม่จำเป็น ที่ผ่านมาคณะกรรมการสรรหาฯ ชุดก่อนๆ ก็เสนอผู้สมัครที่เหมาะสมเป็น ผอ.ไทยพีบีเอส ไปให้คณะกรรมการนโยบาย ไม่ถึง 5 คน เช่น เสนอ 2 คน,3 คน , 4 คน ตัวอย่างเช่น สมัยที่ ทพ.กฤษดา เรืองอารีย์รัชต์ ได้เป็นผู้อำนวยการไทยพีบีเอส ครั้งนั้นมีผู้สมัครจำนวน 13 คน ซึ่งมากกว่าครั้งนี้ และคณะกรรมการสรรหาฯเสนอชื่อไปให้คณะกรรมการนโยบายฯ พิจารณาจำนวน 3 คน

ส่วนผู้เห็นแย้ง เห็นว่า มีความจำเป็นที่คณะกรรมการสรรหาฯ จะต้องเสนอชื่อผู้สมัครไปให้คณะกรรมการนโยบายฯพิจารณาจำนวน 5 คน เพื่อคณะกรรมการนโยบายฯ จะได้มีโอกาสพิจารณากลั่นกรองผู้สมัครฯได้ คณะกรรมสรรหาฯไม่มีอำนาจไป ‘คัดออก’ ผู้สมัครฯ จนเหลือ 2 คน ซึ่งน้อยเกินไป เป็นการปิดกั้นโอกาสของคณะกรรมการนโยบายฯในการคัดเลือก

อีกทั้งคณะกรรมการสรรหาฯมีอำนาจแค่กลั่นกรองพิจารณาคุณสมบัติของผู้สมัครฯว่าครบถ้วนหรือไม่เท่านั้น อำนาจคัดเลือกผู้สมัครฯอยู่ที่คณะกรรมการนโยบายฯ ไม่ใช่คณะกรรมการสรรหา

คณะกรรมการนโยบายฯจำเป็นหรือไม่ ที่ต้องเลือกผู้สมัคร 2 คนตามที่กรรมการสรรหาฯเสนอมา เป็น ผอ.ไทยพีบีเอส

ประเด็นนี้ คณะกรรมการสรรหาฯ อ้างว่า ตาม ข้อ 9.2 วรรคสอง ของข้อบังคับฯ ระบุว่า คณะกรรมการนโยบายสามารถสงวนสิทธิ์ในการที่จะยังไม่ดำเนินการคัดเลือกผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ ในกรณีที่มีจำนวนผู้สมัครน้อยราย หรือ ในกรณีที่ได้มีการกลั่นกรองแล้วแต่ไม่มีผู้สมัครรายใดมีคุณสมบัติที่เหมาะสม และให้การตัดสินของคณะกรรมการนโยบายเป็นที่สุด”

ดังนั้น คณะกรรมการสรรหาฯจึงมีหน้าที่เพียงกลั่นกรอง และสรรหาผู้สมัครที่มีคุณสมบัติครบถ้วน เหมาะสม และสมควรที่จะแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ เพื่อส่งให้คณะกรรมการนโยบายพิจารณาเท่านั้น หากคณะกรรมการนโยบายเห็นว่า กระบวนการสรรหาไม่ถูกต้อง ก็มีอำนาจที่จะยกเลิกกระบวนการสรรหา และดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใด เพื่อให้ได้ผู้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการ ส.ส.ท.ได้ โดยไม่จำเป็นต้องพิจารณาผู้สมัครที่คณะกรรมกรสรรหาได้กลั่นกรองส่งให้แต่อย่างใด แต่กรณีนี้คณะกรรมการนโยบายฯได้ลงมติเลือกตามที่คณะกรรมการสรรหาเสนอมา 2 ชื่อ โดยเลือก ดร.วิลาสินี เป็น ผอ.ไทยพีบีเอส

มีการหยิบยกประเด็นที่ว่านายอดิศักดิ์ มีปัญหาเรื่องคดีความถูกฟ้องอยู่ ส่วนดร.วิลาสินี ก็มีปัญหา สตง. สั่งให้ตรวจสอบการลงนามซื้อหุ้นกู้ส.ส.ท. ดังนั้นคนทั้งสอง จึงมีปัญหาความเสี่ยงเรื่องจริยธรรม ซึ่งอาจขัดต่อข้อกำหนดของ ส.ส.ท. ที่กำหนดว่าผู้บริหารจะต้องปฏิบัติตามกฎหมาย

ประเด็นนี้กรรมการสรรหาได้มีการพิจารณาหรือไม่ตอนที่เสนอชื่อบุคคลทั้งสอง ซึ่งคณะกรรมการสรรหาฯ ชี้แจงว่า ได้มีการหยิบยกประเด็นดังกล่าวขึ้นมาพิจารณาแล้ว แต่เห็นว่า ในเมื่อคดียังไม่ถึงที่สุด จึงไม่มีเหตุผลที่จะตัดสิทธิผู้สมัครทั้งสอง

ปัญหาว่า การเลือก ผอ.ไทยพีบีเอส ในครั้งนี้ชอบหรือไม่ จะต้องให้หน่วยงานใดเป็นผู้ชี้ขาด เนื่องจาก องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) มีฐานะเป็นหน่วยงานของรัฐ ดังนั้นหากจะฟ้องเพิกถอนมติ่แต่งตั้ง ผอ.ไทยพีบีเอส ก็ต้องยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง โดยผู้ยื่นฟ้องต้องเป็นผู้มีส่วนได้เสีย เช่น เป็นผู้สมัครฯ และก่อนยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ต้องไปยื่นคัดค้านมติเลือก ผอ.ไทยพีบีเอส ต่อคณะกรรมการนโยบายฯก่อน หากคณะกรรมการนโยบายฯไม่ยอมทบทวนมติ จึงจะไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองได้