กรมควบคุมโรคลงนามค้นหาผู้ป่วยวัณโรคในเรือนจำ

กรมควบคุมโรคลงนามค้นหาผู้ป่วยวัณโรคในเรือนจำ

"รองอธิบดีกรมควบคุมโรค" ลงนามความร่วมมือค้นหาและรักษาผู้ป่วยวัณโรคในเรือนจำกาฬสินธุ์ พร้อม Big cleaning เพื่อก้าวสู่การเป็นเรือนจำที่ผู้ต้องขังมีสุขภาพดีทั้งกายและใจ

ที่เรือนจำ จ.กาฬสินธุ์ นายแพทย์ภาณุมาศ ญาณเวทย์สกุล รองอธิบดีกรมควบคุมโรค ได้เข้าตรวจเยี่ยมกิจกรรมตรวจสุขภาพและค้นหาผู้ป่วยวัณโรคในเรือนจำ จ.กาฬสินธุ์ ที่ได้ดำเนินการมาตั้งแต่วันที่ 19-23 มิ.ย. 2560และกิจกรรม Big cleaning โดยมี นายพชรวิเชียร สมจิตร ผู้บัญชาการเรือนจำ จ.กาฬสินธุ์ นำคณะตรวจเยี่ยมมี นายแพทย์พีระ อารีรัตน์ สาธารณสุข จ.กาฬสินธุ์ พ.ต.อ.ทิณนะรัตน์ เพชรพันธ์ศรีรอง ผบก.ภ.จว.กาฬสินธุ์ นายแพทย์ศิวบูลย์ ชัยสงคราม หัวหน้ากลุ่มงานเวชกรรมสังคม โรงพยาบาลกาฬสินธุ์ และแพทย์หญิงนฎา กมลชัย อายุรแพทย์ โรงพยาบาลกาฬสินธุ์รายงานผลข้อมูลการตรวจสุขภาพและค้นหาผู้ป่วยวัณโรคภายในเรือนจำ จ.กาฬสินธุ์ ทั้งนี้ผู้ต้องขังได้โชว์การแสดงวงดนตรีพื้นเมือง ที่เป็นอีกหนึ่งกิจกรรมลดความเครียดของผู้ต้องขัง ที่สร้างความประทับใจให้กับผู้ชมอย่างมาก

นายแพทย์พีระ กล่าวว่าผู้ต้องขังภายในเรือนจำมีความเสี่ยงสูงต่อการป่วยเป็นโรควัณโรคซึ่งกลายเป็นปัญหาสำคัญของเรือนจำทุกแห่งในประเทศในปัจจุบันด้วยภูมิต้านทานต่ำและสิ่งแวดล้อมภายในเรือนจำที่มีพื้นที่จำกัด มีความแออัดโดยปัจจุบันพบว่าแนวโน้มมีการแพร่ระบาดสูงอัตราการป่วยที่ 700 -100 คนต่อผู้ต้องขังแสนคนสิ่งนี้จึงเกิดเป็นความร่วมมือของภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันและควบคุมโรคในเรือนจำให้เป็นรูปธรรม โดยได้ดำเนินการค้นหาผู้ป่วยโรควัณโรคมาตั้งแต่ 19-23 มิ.ย. และดำเนินการ Big cleaning แดน 7 สถานพยาบาลการตรวจอาหารปลอดภัยและโรงครัว ความสะอาดของสูทกรรมและโรงเลี้ยง

นายพชรวิเชียร กล่าวว่า เรือนจำ จ.กาฬสินธุ์ ได้ตั้งเป้าที่จะเป็นเรือนจำนำร่องให้ผู้ต้องขังมีสุขภาพดีทั้งด้านร่างกายและจิตใจส่วนนี้ทางเรือนจำ จ.กาฬสินธุ์ ได้รับความร่วมมือด้วยดีจากภาคส่วนงานที่เกี่ยวข้องเอื้อเฟื้อในการดำเนินมาตรการต่าง ๆ ร่วมกัน โดยเฉพาะการค้นหาผู้ป่วยวัณโรคเชิงรุกภายในเรือนจำ ซึ่งหากมีการพบว่ามีผู้ป่วยวัณโรคทางเรือนจำจะดำเนินการแยกผู้ต้องขัง และดำเนินการดูแลผู้ป่วยทุกรายโดยมอบหมายให้ผู้ช่วยงานหรือพยาบาลดูลการกินยาทุกมื้อ ซึ่งจำนวนผู้ต้องขัง 2,183 คนได้ผ่านการตรวจทุกรายและในขั้นต่อไปคือการให้คำปรึกษาโดยพบแพทย์เฉพาะทางและให้โอกาสตัดสินใจในการรักษา