น้ำมันปลาน้ำจืด วิจัยส่งต่อสตาร์ทอัพ

น้ำมันปลาน้ำจืด วิจัยส่งต่อสตาร์ทอัพ

ความสำเร็จจากการเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดลูกผสม “บึกสยามแม่โจ้” นักวิจัยมหาวิทยาลัยแม่โจ้เดินหน้าพัฒนาเทคนิคสกัดน้ำมันปลาด้วยเทคนิคใหม่ ไร้สารอันตรายต่อคนและสิ่งแวดล้อม รับทุน Research Gap Fund ส่งต่อสตาร์ทอัพนวัตกรรมพร้อมสู่เชิงพาณิชย์ปลายปี 60

บึกสยามแม่โจ้เป็นปลาน้ำจืดลูกผสมที่เกิดจากการผสมข้ามสายพันธุ์ปลาบึกกับปลาสวาย มีลักษณะโดดเด่นคือ ปลาเนื้อขาว โตไว ผลงานโดย รศ.เกรียงศักดิ์ เม่งอำพันและคณะ พร้อมทั้งวางโมเดลธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำของระบบการเพาะเลี้ยงที่ได้มาตรฐานไปจนถึงการประยุกต์ใช้ประโยชน์จากทุกส่วนของปลาเพื่อให้ขยะเหลือศูนย์ (ซีโร่เวสท์) หนึ่งในนั้นคือ การนำไขมันจากช่องท้องและส่วนหัวมาสกัดเป็นน้ำมันปลาน้ำจืด

เพิ่มมูลค่าปลาน้ำจืด

ผศ.ดวงพร อมรเลิศพิศาล รองคณบดีบัณฑิตวิทยาลัยฝ่ายยุทธศาสตร์และวิจัย มหาวิทยาลัยแม่โจ้ กล่าวว่า กระบวนการแปรรูปปลาบึกสยามแม่โจ้จะมีของที่ยังไม่ได้ใช้ประโยชน์ ไม่ว่าจะเป็น ก้อนไขมัน กระดูก หนังปลาและอื่นๆ จึงมีงานวิจัยต่อยอด ทั้งน้ำมันปลา คอลลาเจนสำหรับเครื่องสำอางและอาหารเสริม รวมถึงอาหารสัตว์

“ไขมันช่องท้องหรือส่วนหัวที่หลายคนไม่กินนั้น เราสามารถนำมาเพิ่มมูลค่าด้วยการสกัดเป็นน้ำมันปลาน้ำจืดที่มีกรดไขมันอิ่มตัวและไม่อิ่มตัว โดยเฉพาะโอเมก้า-9 สูงมาก จึงพัฒนาวิธีการสกัดที่ใช้เทคนิคทางกายภาพ และไม่ใช้ตัวทำละลายที่เป็นอันตรายทั้งต่อผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม ขณะนี้ได้จดสิทธิบัตรกระบวนการสกัดนี้แล้ว”

ผลการตรวจวิเคราะห์น้ำมันปลาน้ำจืดดังกล่าว พบสารสำคัญที่น่าสนใจมาก แม้ตลาดปัจจุบันจะมีแต่น้ำมันปลาทะเล จึงได้ทดสอบเปรียบเทียบโดยดูส่วนประกอบทางไขมัน ผลที่ได้คือ ไขมันอิ่มตัวมีค่าไม่ต่างกันทางสถิติ ในขณะที่ไขมันไม่อิ่มตัวนั้น น้ำมันปลาทะเลมีโอเมก้า-3 สูงมาก ในขณะที่น้ำมันปลาน้ำจืดมีโอเมก้า-9 สูงมาก

โอเมก้า-9 เป็นกรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว ที่มีโอเลอิกแอซิด เช่นเดียวกับน้ำมันมะกอกที่ช่วยในการควบคุมคลอเลสเตอรอล และไตรกลีเซอไรด์ ทีมวิจัย ม.แม่โจ้ จึงร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ ทำการทดสอบในสัตว์ทดลอง โดยดูผลของการลดน้ำตาลและไขมันในเลือดในหนูที่ถูกเหนี่ยวนำให้อ้วนและเป็นเบาหวาน กลุ่มแรกกินอาหารปกติ กลุ่มที่ 2 ให้น้ำมันปลาน้ำจืด และกลุ่มที่เหลือให้น้ำมันปลาทะเล

เมื่อครบ 3 เดือน หนูกลุ่มที่ได้น้ำมันปลาน้ำจืดและทะเลมีค่าไขมันและน้ำตาลในเลือดลดลงในระดับปกติ แต่ที่แตกต่างคือ หนูกลุ่มที่ได้รับน้ำมันปลาน้ำจืดจะเริ่มเห็นผลในเดือนที่ 2 แต่ในเดือนที่ 3 ทั้งกลุ่มที่ได้รับน้ำมันปลาก็มีค่าน้ำตาลและไขมันในเลือดระดับปกติ

สตาร์ทอัพนวัตกรรมรับช่วง

“หลายคนถามว่า เราจะสามารถกินน้ำมันปลาน้ำจืดแทนที่น้ำมันปลาทะเลได้ไหม ต้องดูว่าจะกินเพื่ออะไร เพราะผลการทดสอบที่เราวิจัยพบนั้น โอเมก้า-9 ในน้ำมันปลาน้ำจืดมีผลที่ดีในเรื่องของการลดน้ำตาลและไขมันในเลือด ดีต่อเรื่องของการป้องกันโรคหลอดเลือดและหัวใจ เบาหวาน อ้วน แต่ปริมาณดีเอชเอที่มีผลต่อสมองยังน้อย” ผศ.ดวงพร กล่าว

อย่างไรก็ดี ปัจจุบันทีมงานอยู่ระหว่างการพูดคุยเพื่อร่วมวิจัยเพิ่มเติมกับมหาวิทยาลัยมหิดล ในการทดสอบผลของน้ำมันปลาน้ำจืดกับเซลล์สมอง พร้อมกันนี้ได้รับการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ทั้งจะส่งต่อให้กับภาคธุรกิจเอกชนที่เป็นสตาร์ทอัพนวัตกรรม โดยได้รับทุนผ่านโครงการสนับสนุนเร่งการเติบโตของธุรกิจนวัตกรรมรายใหม่ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (Research Gap Fund) ของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์ละเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)

โครงการนี้สนับสนุนผู้ประกอบการที่เป็นสตาร์ทอัพนวัตกรรมในการนำผลงานวิจัยไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ที่เกิดจากความร่วมมือ 4 ส่วนคือ ภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา และประชาคมวิสาหกิจหรือสตาร์ทอัพนั่นเอง

“ปัจจุบันมีสตาร์ทอัพที่มารับถ่ายทอดเทคโนโลยีแล้ว ซึ่งเป็นกลุ่มที่ผลิตน้ำมันงามาก่อนและเจ้าของเป็นแพทย์ ทำให้มีความเข้าใจเรื่องของน้ำมันและการแพทย์เป็นอย่างดี โดยได้จัดเตรียมพื้นที่โรงงานเพื่อสกัดก้อนไขมันปลา มีการส่งตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำมันปลาทั้งทางเคมีและกายภาพ จนสามารถพัฒนาเป็นแคปซูลน้ำมันปลาน้ำจืด ที่เก็บได้นาน 2 ปี พร้อมออกสู่เชิงพาณิชย์ในช่วงปลายปีนี้” ผศ.ดวงพร กล่าว