เตรียมทุบสะพานบางกะปิเดินหน้าสร้างรถไฟฟ้า

เตรียมทุบสะพานบางกะปิเดินหน้าสร้างรถไฟฟ้า

"รมว.คมนาคม" เจรจาหน่วยงานราชการเคลียร์พื้นที่ก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม-เหลือง-ชมพู เตรียมทุบสะพานบางกะปิ เพื่อก่อสร้างขึ้นใหม่และใช้โครงสร้างเสาร่วมกัน

นายภคพงศ์  ศิริกันทรมาศ รองผู้ว่าการการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยภายหลังการประชุม เพื่อขอใช้พื้นที่หน่วยงานต่างๆ ก่อสร้างรถไฟฟ้าของ รฟม. โดยมีนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เป็นประธานว่า ได้เชิญหน่วยงานราชการที่มีการก่อสร้างเดิม และโครงการที่จะก่อสร้างใหม่ ซึ่งทับซ้อนกับโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าของ รฟม. ได้แก่  กรุงเทพมหานคร (กทม.) ศาลปกครอง กรมการกงสุล และกรมศุลกากร  มาหารือ เพื่อวางแผนการก่อสร้างร่วมกัน และแก้ปัญหาพื้นที่ทับซ้อน โดย กทม. เป็นหน่วยงานที่มีพื้นที่ทับซ้อนกับงานก่อสร้างของ รฟม.มากที่สุด อาทิ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (ตะวันออก) ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-มีนบุรี(สุวินทวงศ์)  ทาง กทม. มีโครงการต่อขยายทางยกระดับถนนรามคำแหง บริเวณแยกลำสาลี-คลองบางขัน ซึ่งจะก่อสร้างโครงสร้างทางยกระดับอยู่บนโครงสร้างของสถานี และอุโมงค์ของรถไฟฟ้า บริเวณสถานีลำสาลี และสถานีคลองบ้านม้า โดย รฟม. เสนอว่า กทม ควรก่อสร้างไปพร้อมกันเลย เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับการก่อสร้างทางยกระดับของกทม. ในอนาคต ซึ่ง กทม.เห็นด้วย และรับกลับไปจัดหางบประมาณมาให้ รฟม. ดำเนินงานก่อสร้างต่อไป

นอกจากนี้ กทม.ยังมีโครงการสร้างทางลอด บนถนนรามคำแหง บริเวณใต้แยกต่างระดับกาญจนาภิเษก ยาวตลอดแนวเขตทางไปจนถึงจุดต่างระดับ  ซึ่งจะทับซ้อนกับ รฟม. ที่ต้องมีการก่อสร้างเสาตอม่อรถไฟฟ้าบริเวณกึ่งกลางทางลอด ซึ่งที่ประชุมเห็นชอบร่วมกันว่า รฟม. สามารถสร้างเสาตอม่อไปก่อนได้ โดยไม่ต้องรอการก่อสร้างของ กทม . แต่ กทม. ต้องก่อสร้างระบบความปลอดภัยภายในอุโมงค์ทางลอดด้วย เพื่อป้องกันอันตรายจากการใช้ทางให้แก่ประชาชน เนื่องจากจะมีเสาต่อม่อรถไฟฟ้าปักอยู่กึ่งกลางทางลอด  โดย กทม.ก็ยินดี ขณะเดียวกันบริเวณถนนราษฎร์พัฒนา ทาง กทม. มีโครงการก่อสร้างสะพานลอยรถยนต์เชื่อมทางเข้าและออก ซึ่งทับซ้อนกับสถานีราษฎร์พัฒนา รฟม. จึงต้องปรับแบบก่อสร้างทางยกทางระดับสูงขึ้นอีก 8 เมตร ตลอดแนว เพื่อไม่ให้ทับซ้อนกับสะพานลอยของกทม. ทำให้ รฟม. มีภาระต้นทุนการก่อสร้างเพิ่มขึ้น 150 ล้านบาท แต่ กทม. ได้รับที่จะกลับไปพิจารณาปรับแบบก่อสร้างใหม่ โดยอาจสร้างเป็นทางลอดใต้ดินแทน เพื่อลดภาระค่าก่อสร้างให้ รฟม.
               
ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว-สำโรง จะทับซ้อนบริเวณสะพานข้ามแยกบางกะปิของ กทม. ที่ก่อสร้างไว้เดิม กับเสาตอม่อรถไฟฟ้า สถานีหน้าเดอะมอลล์บางกะปิ ของ รฟม.ที่จะก่อสร้างใหม่ ซึ่งเดิม รฟม.จะก่อสร้างเสาตอม่อด้วยการถ่างสะพานบางกะปิออกแล้วปักเสาตอม่อตรงกลางตลอดแนว แต่ กทม. มองว่าระยะปักเสาที่ห่างกันเพียง 15 เมตรถี่เกินไป จึงเสนอให้ รฟม. ทุบสะพานบางกะปิออก เพื่อก่อสร้างโครงสร้างขึ้นมาใหม่แล้วใช้โครงสร้างเสาร่วมกัน โดยสะพานรถยนต์ของกทม.จะใช้โครงสร้างอยู่ระดับ 2 และรถไฟฟ้าใช้ระดับ  3 (ชั้นบนสุด)  ซึ่ง รฟม. ไม่ขัดข้อง แต่จะต้องก่อสร้างไปพร้อมกัน โดย กทม.จะต้องไปจัดหางบก่อสร้าง จำนวน 250 ล้านบาท มาสนับสนุนการก่อสร้างด้วย  ซึ่งกทม.จะนำเสนอขอรับการจัดสรรงบจากสภา กทม. ต่อไป

สำหรับโครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรีนั้น ศาลปกครอง ได้ขอให้ รฟม.ขยับทางขึ้น-ลง ของสถานีศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติออกไป ไม่ให้บดบังทัศนียภาพตัวอาคารของศาลปกครอง  ขณะที่กรมการกงสุล ขอให้ รฟม.ปรับเลื่อนสถานีศูนย์ราชการฯ ไปทางฝั่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ เนื่องจากมองว่าสถานีจะบดบังอาคารของกรมการกงศุล ซึ่ง รฟม.ก็รับไว้พิจารณา