พิชิตพอร์ต 'แปดหลัก' ผ่านเทคนิค 'นัทธ์ เอื้ออารีมิตร'

พิชิตพอร์ต 'แปดหลัก' ผ่านเทคนิค 'นัทธ์ เอื้ออารีมิตร'

โลดแล่นในวงการเทคนิคไม่นาน แต่ 'นัทธ์ เอื้ออารีมิตร' กลับคว้าพอร์ตลงทุน 'หลักสิบล้าน' มาครอบครองได้ไม่ยาก

มุมหนึ่งของ 'อั๋น-นัทธ์ เอื้ออารีมิตร' ดีกรีปริญญาตรี สาขาเศรษฐศาสตร์ University of Wollongong ประเทศออสเตรเลีย ในฐานะลูกชายคนโตในจำนวนพี่น้อง 2 คน (มีน้องสาวคนเล็ก 'อุ๋ย-อนุษรา เอื้ออารีมิตร' เรียนจบปริญญาตรีคณะสัตวแพทยศาสตร์) ของ 'นพ.อำนาจ เอื้ออารีมิตร' กรรมการบริหาร และผู้อำนวยการโรงพยาบาล บมจ.เอกชัยการ แพทย์ หรือ EKH ผู้ดำเนินธุรกิจโรงพยาบาลเอกชน ภายใต้ชื่อ 'โรงพยาบาลเอกชัย จังหวัดสมุทรสาคร' กำลังขะมักเขม้นกับการทำหน้าที่ ผู้ช่วยผู้จัดการแผนกพัฒนาธุรกิจต่างประเทศ ที่ผู้เป็นพ่อมอบหมายให้เมื่อ 3 ปีก่อน

ขณะที่อีกฟากหนึ่ง 'ชายหนุ่มวัย 31 ปี' ยังสวมบทบาท 'นักลงทุนด้านเทคนิค' โดยมี 'คุณพ่อ' (นพ.อำนาจ เอื้ออารีมิตร) เป็นเหมือนต้นแบบในการลงทุนมาตั้งแต่วัยเรียน เพราะเห็นการลงทุนของคุณพ่อมาตั้งแต่ตอนเป็นเด็ก ด้วยความที่ไม่มีความรู้เรื่องการลงทุนก็ถามพ่อว่าเล่นหุ้นเขาเล่นกันยังไง แกก็ตอบกลับมาว่า 'ลองซื้อดู 1 ตัวก่อน เดี๋ยวก็จะรู้เอง'

ทว่า หลังจากตัดสินใจเข้ามาช่วยงานที่โรงพยาบาลเอชัย และมีโอกาสได้ติดตามคุณพ่อออกไปตามสถานทีต่างๆ จึงได้รู้จัก 'วิน-นพ.รัชต์ชยุตม์ จีระพรประภา' นักลงทุนเทคนิค ซึ่งเป็นรุ่นน้องคุณพ่อที่คณะแพทย์ศาสตร์ศิริราช ได้แสดงตนขอทำความรู้จักทันที (หลังคุณพ่อแนะนำ) และขอคำปรึกษาและวิธีการดูกราฟเทคนิคถึงในห้องเทรดส่วนตัว

เมื่อทายาทรพ.เอกชัย มีความเชื่อว่า ตลาดหุ้นเป็น 'แหล่งลงทุนชั้นดี' เมื่อเทียบกับการนำเงินไปออมกับแบงก์ หรือลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และพันธบัตรที่สร้างผลตอบแทนในอัตราต่ำ ประกอบกับชื่นชอบการลงทุนในตลาดหุ้น เขาตัดสินใจควักเงินลงทุนก้อนแรก '2.7 แสนบาท' เปิดพอร์ตเมื่อสมัยเรียนอยู่ปี 1 มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ หรือ เอแบค

ผลการลงทุนในปีแรก กระโดดเข้าซื้อ หุ้นธนาคารทหารไทย (TMB) ด้วยเงินเก็บทั้งหมด 2.7 แสนบาท ที่ราคาหุ้นละ 2 บาท คิดเป็นจำนวนหุ้นราว 100,000 กว่าหุ้น ก่อนตัดสินใจขายทิ้งแม้ 'ขาดทุน' หลังทิศทางราคาหุ้นย้ำอยู่กับทีมาตลอด แต่ระหว่างมีซื้อ 'หุ้น เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป หรือ MAJOR' ตัวนี้มีรีเทิร์นกลับมาเป็น 'กำไรเล็กน้อย' หลังถือระยะเวลาไม่กี่เดือน ก่อนจะบินไปเรียนต่อปริญญาตรีประเทศออสเตรเลียนาน 4 ปี

'อั๋น-นัทธ์ เอื้ออารีมิตร' เล่าเรื่องการลงทุนให้ 'กรุงเทพธุรกิจ BizWeek' ว่า ชื่นชอบการลงทุนตั้งแต่วัยเด็ก และเป็นคนไม่ชอบให้เงินอยู่เฉย ๆ ช่วงวัยเด็กนั้นวันหยุดทุกเสาร์-อาทิตย์ จะลงทุนด้วยการ 'ค้าขาย' ตามตลาดนัดแถว ๆ บ้าน (จ.สมุทรสาคร) ยกตัวอย่าง สั่งซื้อเสื้อผ้ามือสองมาจากตลาดโรงเกลือ จังหวัดสระแก้วมาขายตามตลาดนัด ซึ่งเงินที่ได้จากการขายค้าขายจะนำมาใช้จ่าย ส่วนเงินเดือนที่คุณพ่อให้ประจำจะเป็นเงินเก็บ

หลังใช้ชีวิตในต่างแดนมา 4 ปี กลับมาเหยียบเมืองไทย เริ่มต้นชีวิตมนุษย์เงินเดือนที่แรกคือ 'ธนาคารกรุงศรีอยุธยา' ในฝ่ายธุรกิจการค้าต่างประเทศ นั่งทำงานกินเงินเดือนได้ราว 1 ปี เริ่มรู้สึกว่างานที่ทำไม่ตรงกับสายที่เรียนมา ไม่ตรงกับความชอบเรื่องการลงทุนเกี่ยวกับตลาดหุ้น ตอนนั้นตัดสินใจลาออกและเป็นจังหวะเดียวกับบริษัทหลักทรัพย์ โนมูระ พัฒนสิน หรือ CNS ประกาศเปิดรับสมัครพนักงานฝ่ายมาร์เก็ตติ้ง ไม่รีรอยื่นใบสมัครทันทีทำงานอยู่ที่นั้นราว 2 ปี

กลับมาเริ่มลงทุนอีกครั้ง เขาฟันกำไรเหนาะๆ '3 เด้ง' หลังภาวะตลาดหุ้นกำลังเป็น 'ขาขึ้น' โดยเฉพาะหุ้นเก็งกำไร ตอนนั้นซื้อตัวไหนก็เป็นกำไร ทว่าหุ้นเด่นสุดประจำพอร์ตคงต้องยกให้ 'หุ้น พีเออี (ประเทศไทย) หรือ PAE' หลังช้อนซื้อที่ระดับ 0.80 บาท ก่อนขายออก 2.40 บาท ภายในระยะเวลาไม่เกิน 3 เดือน

ตัวต่อไป คือ 'หุ้น ทิปโก้แอสฟัลท์ TASCO' ถือเป็นหุ้นกลุ่มสินค้าโภคภัณฑ์ (Commodity) ซึ่งลักษณะธุรกิจจะเป็นวัฎจักร 3 ปี ธุรกิจจะเป็นขาขึ้นรอบใหญ่ และบังเอิญเข้าไปซื้อตอนธุรกิจเป็นขาขึ้น และราคาหุ้นปรับตัวขึ้นตามผลการดำเนินงานที่เติบโต โดยราคาหุ้นปรับตัวขึ้นมาแรงมาก ส่งผลให้พอร์ตมีกำไรค่อนข้างเยอะ แต่ระยะเวลาถือหุ้นนานเหมือนกัน

ทว่าระหว่างทางเกิด 'เจ็บตัว' เพราะ หุ้น ซุปเปอร์บล๊อก หรือ SUPER ซื้อมาช่วงราคา 8-9 บาทต่อหุ้น ขายไป 4-5 บาท 'ขาดทุนหนักมาก' ตอนนั้นซื้อหุ้นตัวนี้จากข่าวล้วนๆ ประกอบกับเห็นราคาหุ้นเคยปรับขึ้นไป 'สูงสุด' แตะ 10 บาท แต่ตอนราคาหุ้นร่วงเร็วกว่าตอนราคาขึ้นอีก ตอนนั้นต้องตัดสินใจยอมขายขาดทุน

'ยอมรับว่ากลยุทธ์การลงทุนในตอนนั้นร้อยเปอร์เซ็นต์ในพอร์ตเป็น 'หุ้นซิ่ง' ทั้งหมด ตัดสินใจซื้อหุ้นแบบคิดน้อยมาก และซื้อตามข่าวเขาบอกมาลองผิดลองถูกไปเรื่อยๆ'

'หนุ่มอั๋น' บอกว่า ปัจจุบันหลักการลงทุนเปลี่ยนไปแล้วไม่นิยมเล่นหุ้นซิ่ง แต่ปรับพอร์ตการลงทุนในตลาดหุ้นแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ 'หุ้นพื้นฐาน' โดยเป็นหุ้นที่ยืนเหนือเส้นค่าเฉลี่ย 200 วัน มาไม่ต่ำกว่าระยะเวลา 3 ปี คิดเป็นสัดส่วนของพอร์ต 50% เช่น หุ้น บิวตี้ คอมมูนิตี้ หรือ BEAUTY ,หุ้น กันยงอีเลคทริก หรือ KYE , หุ้น ลีซ อิท หรือ LIT เป็นต้น และ 'หุ้นเทรดดิ้ง' คิดเป็น 50%

หุ้นประจำพอร์ตตอนนี้ราว 6 ตัว ยกตัวอย่าง หุ้น ทิปโก้แอสฟัลท์ TASCO หุ้นตัวนี้ตัดสินใจกลับมาซื้อรอบใหม่ (หลังขายไปแล้ว) เพราะดูจากกราฟเทคนิคไม่ได้แย่ ประกอบกับผลประกอบการมีแนวโน้มเติบโต เหตุผลเดียวกับที่ซื้อ หุ้น ล่ำสูง หรือ LST เพราะดูจากเส้นกราฟเทคนิค และเก็งในผลประกอบการ

ส่วน หุ้น ลีซ อิท หรือ LIT และ หุ้น โรงพยาบาลเอกชัยการแพทย์ หรือ EKH เป็นหุ้นที่ชอบเพราะส่วนตัวชอบในธุรกิจไฟแนนซ์ ฉะนั้น การลงทุนจะเป็นระยะยาว ปัจจุบันมูลค่าพอร์ตหลัก 'สิบล้านบาท' 

ทว่าในพอร์ตการลงทุนส่วนตัวไม่ได้มีแค่หุ้น แต่ยังมีการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอื่นๆ ด้วย เช่น อสังหาริมทรัพย์ และ พันธบัตรรัฐบาล โดยแบ่งพอร์ตเป็นในตลาดหุ้น 80% และในอสังหาริมทรัพย์และพันธบัตรรัฐบาล 20%
สำหรับการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทอสังหาฯ ที่เข้าไปลงทุนเป็น 'คอนโดมิเนียมปล่อยเช่า' ซึ่งเป็นคอนโดฯ อยู่ในกรุงเทพฯ จำนวน 2 แห่ง ปล่อยเช่าเดือนละ 15,000 บาทเท่านั้น (ถือว่าไม่แพง) หากมองในแง่ของรีเทิร์นอาจไม่สูงแค่ 1-2% ต่อปี เมื่อเทียบกับลงทุนในตลาดหุ้น

แต่มีว่า 'ข้อดี' ในแง่ของมูลค่าสินทรัพย์ที่ราคาปรับเพิ่มขึ้นทุกปี ประกอบกับถือเป็นกลยุทธ์การลงทุนที่ในพอร์ตต้องมีการกระจายความเสี่ยงของพอร์ตด้วย และมีลงทุนในพันธบัตรรัฐบาลด้วยแต่เป็นสัดส่วนลงทุนไม่มาก

'ด้วยอายุยังน้อยในพอร์ตลงทุนจึงเน้นลงทุนในตลาดหุ้นเป็นส่วนใหญ่ ส่วนอสังหาฯ มีไว้เพื่อเป็นการกระจายความเสี่ยงเท่านั้น เพราะว่ายังสามารถรับความเสี่ยงได้สูง หากการลงทุนเกิดผิดพลาด ผมยังมีเวลาหาเงินใหม่ได้อีก'

ท่ามกลางเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว กลุ่มอุตสาหกรรมที่อาจมีผลประกอบการที่ดี และน่าสนใจยังมีอยู่ คือ 'กลุ่มโรงพยาบาล' มองว่าเป็นธุรกิจที่ยังไงก็ต้องเติบโตต่อไปอีก เพราะว่ายังไงคนก็ต้องเจ็บป่วยไม่มีใครหลีกเลี่ยงได้ที่เจ็บป่วยต้องมาโรงพยาบาล หุ้นในกลุ่มดังกล่าวที่น่าสนใจ จะเป็น หุ้น กรุงเทพดุสิตเวชการ (BDMS) ,หุ้น โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ หรือ BH และ หุ้น โรงพยาบาล ลาดพร้าว หรือ LPH และอีกอุตสาหกรรม 'กลุ่มประกันชีวิต' เป็นอีกธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตขึ้นทุก ๆ ปี

'หนุ่มอั๋น' ยังทิ้งท้ายว่า การเลือกลงทุนในภาวะตลาดผันผวน ควรเลือกลงทุนในหุ้นพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ที่สำคัญนั้นก่อนซื้อหุ้นแต่ละครั้งควรศึกษาดูงบทางการเงินของแต่ละบริษัท หากมีความรู้ด้านเทคนิคก็ใช้ประกอบการลงทุนได้

'ผมใช้เวลาหลังเลิกงานดูงบการเงิน และดูกราฟราคาหุ้น และสิ่งสำคัญดูวิสัยทัศน์ของผู้บริหารประกอบด้วย'

เสริมโซเชียล 'สตอรี่ใหม่' 

'นัทธ์ เอื้ออารีมิตร' เริ่มต้นสัมผัสชีวิตพนักงานในกิจการของครอบครัวเมื่อ 3 ปีก่อน หลังจาก เห็นคุณพ่อ (นพ.อำนาจ) เหนื่อยๆ และไม่มีใครช่วยทำงาน จึงตัดสินใจลาออกจากงานประจำเข้ามาช่วยงานธุรกิจโรงพยาบาล ยอมรับว่ามาทำงานวันแรกแบบไม่มีประสบการณ์ในธุรกิจการแพทย์มาก่อน แม้จะคลุกคลีในแวดวงมาตั้งแต่เด็ก

'หนุ่มวัย31ปี' ยอมรับว่า งานชิ้นแรกที่ได้รับมอบหมายคือ 'แผนกดูแลลูกค้าต่างชาติ' ในตำแหน่งพนักงานผู้ช่วยผู้จัดการแผนกพัฒนาธุรกิจต่าประเทศ ของ โรงพยาบาลเอกชัยการแพทย์ โดยตอนนั้นโรงพยาบาลเอกชัยมี 'เอเจนซี่' ชาวตะวันออกกลาง (อาหรับ) ซึ่งคุณพ่อให้เข้ามารับหน้าที่ดูแลส่วนนี้ เพราะว่ามีความถนัดในด้านภาษาอังกฤษ และต่อมาหลังบริษัทเข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยได้รับมอบหมายอีกตำแหน่ง คือ นักลงทุนสัมพันธ์ หรือ IR

แต่ประสบการณ์ที่มีความถนัดคือ ความรู้ด้านอินเทอร์เน็ตและมาร์เก็ตติ้งออนไลน์ ซึ่งผมได้เข้ามาเสริมในส่วนของการทำมาร์เก็ตติ้งโรงพยาบาล เช่น การทำเว็บไซต์ , เฟซบุ๊ก (Facebook) ,อินสตาแกรม (IG) เป็นต้น

เดิมนั้น โรงพยาบาลเอกชัยไม่มีช่องทางโซเชียลมีเดีย แต่หลังนำช่องทางเหล่านี้เข้ามาเสริมแล้ว ทำให้มีคนไข้ทั้งในประเทศและต่างประเทศเข้ามาติดต่อเข้ามาปรึกษาปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพ ค่ารักษาพยาบาล ผ่านช่องทางดังกล่าว ซึ่งโรงพยาบาลจะมีบุคลากรให้คำปรึกษาผ่านการ Facebook Lite ในการตอบคำถามต่างๆ

หลังโรงพยาบาลมีช่องทางโซเชียลมีเดียเข้ามา กระแสตอบรับจากคนไข้ถือว่าดีมาก แต่ไม่สามารถวัดได้ว่าจำนวนคนไข้ของโรงพยาบาลที่มีสัดส่วนเติบโตขึ้นมานั้นมาจากช่องทางโซเชียลมีเดียที่เสริมเข้ามาหรือป่าว ทว่าสิ่งที่สามารถวัดได้คือจำนวนคนติดตามในช่องทางเพิ่มมากขึ้น

'ในช่วงแรกช่องทางเฟซบุ๊กมีคนกดติดตาม 800 ไลค์ แต่ล่าสุดยอดกดไลค์แฟนเพจเกือบ 15,000 ไลค์ และช่องทางอินสตาแกรมจะเป็นคนไข้ชาวตะวันออกกลางเป็นส่วนใหญ่'

บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาการหารายได้เสริมใน 'กลุ่มต่างชาติ' เมื่อปลายปี 2558 ได้เปิดออฟฟิศให้บริการในซอยนานา โดยได้รับกระแสตอบรับจากกลุ่มคนไข้ตะวันออกกลางถือว่าดีมาก ซึ่งออฟฟิศดังกล่าวจะมีแพทย์คอยให้คำแนะนำ และตอบคำถามเกี่ยวกับเรื่องการทำศัลยกรรม เช่น เสริมหน้าอก,เสริมจมูก และตัดไข้มันส่วนเกิน เป็นต้น

สำหรับในส่วนของแผนการลงทุนของโรงพยาบาลเอกชัย เขาบอกว่า บริษัทอยู่ระหว่างการลงทุนก่อสร้างตึกแห่งใหม่ มูลค่า 200 ล้านบาท เพื่อทำเป็น 'ศูนย์แม่และเด็ก' จำนวน 50 เตียง คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในช่วงไตรมาส 3 ปี 2560 และจะแล้วเสร็จปลายปี 2561 ล่าสุดอยู่ในช่วงของการขอการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA

ปัจจุบันบริษัทมีรายได้รวมมาจาก 3 ส่วนหลัก คือ 1.รายได้ผู้ป่วยนอก (OPD) คิดเป็น 46.20% 2.รายได้ผู้ป่วยใน (IPD) คิดเป็น 52.37% และ 3.รายได้ตรวจสุขภาพนอกสถานที่ คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 5-7%