จี้ ‘ผู้นำเข้า’ เฮดจิ้งค่าเงิน

จี้ ‘ผู้นำเข้า’ เฮดจิ้งค่าเงิน

จี้ "ผู้นำเข้า"เฮดจิ้งค่าเงิน "ทีเอ็มบี" คาดดอกเบี้ยสหรัฐจ่อสูงกว่าไทยปีหน้า

ทีเอ็มบี มองแนวโน้มดอกเบี้ยนโยบายสหรัฐ สูงกว่าไทย ส่งผลส่วนต่างดอกเบี้ยส่อติดลบครั้งแรกรอบ 10 ปี แนะผู้ส่งออกปรับตัวทำสัญญาสั้นลง พร้อมปรับวิธีการกู้เงินบาทแทนดอลลาร์เพื่อลดต้นทุน จี้ป้องกันความเสี่ยงเต็มประสิทธิภาพ เลี่ยงเก็งกำไรค่าเงิน

นายศรัณย์ ภู่พัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานธุรกิจตลาดเงิน ธนาคารทหารไทย หรือ ทีเอ็มบี เปิดเผยว่า ในระยะยาว การที่ส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย และ สหรัฐที่เริ่มแคบลง จนอัตราดอกเบี้ยของเฟด จะสามารถสูงกว่า อัตราดอกเบี้ยของไทย จะส่งผลให้ Forward point หรือที่ตลาดนิยมเรียกว่า Swap point ที่สะท้อนส่วนต่างของอัตราดอกเบี้ยไทยกับสหรัฐกลับมาติดลบ

มองว่า หากเฟดขึ้นดอกเบี้ยได้ตามเป้าหมาย ขณะที่ดอกเบี้ยไทยยังทรงตัว ในปีหน้าอาจจะได้เห็น “Swap point” ติดลบเป็นครั้งแรก หลังจากที่ ค่าดังกล่าวเป็นบวก มาเป็นระยะเวลา เกือบ 10 ปี

ดังนั้น ผู้ประกอบการที่ซื้ออัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า (ผู้นำเข้า) จะได้ประโยชน์จากการทำธุรกรรมดังกล่าว ในขณะที่ผู้ที่ขายอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า (ผู้ส่งออก) จะเสียประโยชน์ เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้าที่ขายได้จะถูกกว่าราคาในปัจจุบัน ดังนั้นในช่วง Swap point กลับมาติดลบ แนะนำว่า ผู้ส่งออก ควรจะทำสัญญาสั้นลง ส่วนนำเข้า ควรจะทำสัญญานานขึ้น

“หลังจากนี้ในช่วงที่ swap point ติดลบอาจจะเห็นผู้ส่งออก มีการกำหนดระยะเวลาในสัญญาสั้นลง หลังจาก นับตั้งต้นปี ที่ค่าเงินบาทแข็งค่าสวนทางกับ สิ่งที่ผู้ส่งออกต้องการ พบว่า ผู้ส่งออกมากำหนดสัญญาให้นานขึ้นเช่นจาก 2-3 เดือนเป็น 3-6 เดือน แต่ก็มองว่า สถานการณ์ดังกล่าว ยังไม่น่ากังวลนัก เพราะช่วงที่ผ่านมาผู้ส่งออก ทั้งรายใหญ่และเอสเอ็มอี มีการป้องกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนเรื่อยๆ”

อีกทั้ง ในช่วงที่ดอกเบี้ยเฟด แพงกว่าดอกเบี้ยไทย ผู้ประกอบการที่มีภาระเงินกู้เป็นดอกเบี้ยสหรัฐจะมีต้นทุนทางการเงินที่เพิ่มขึ้น จึงควรหาทางปรับเปลี่ยนจากการกู้ในอัตราดอกเบี้ยสหรัฐมาเป็นดอกเบี้ยไทย และเปลี่ยนการกู้แบบ Floating rate มาเป็น Fixed rate เพื่อลดภาระดอกเบี้ยในยามที่อัตราดอกเบี้ยกลับมาเป็นขาขึ้น

นายพูน พานิชพิบูลย์ นักวิเคราะห์เศรษฐกิจ ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจธนาคารทหารไทย (ทีเอ็มบี) คาดว่า ทิศทางดอกเบี้ยนโยบายของไทย กนง. ยังทรงตัวอยู่ที่ระดับ 1.5% ต่อเนื่องจนถึงกลางปีหน้า คาดว่าน่าจะมีโอกาสปรับขึ้นได้ ขณะที่คาดว่าเฟดมีโอกาสที่จะขึ้นดอกเบี้ยอีก 1 ครั้ง ในการประชุมเดือนธ.ค.นี้ และ ถ้าหากเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังคงเติบโตได้ดี เฟดก็สามารถที่จะคงแนวทางการขึ้นดอกเบี้ยได้อีก 3 ครั้งในปีหน้า

“อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าค่าเงินบาท ณ สิ้นปี จะอยู่ที่เท่าไหร่ สิ่งหนึ่งที่ผู้ประกอบการ ควรพึงกระทำเสมอก็คือ การป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งในปัจจุบัน ผู้ประกอบการจำนวนไม่น้อย ยังคงติดกับภาพการเก็งกำไรอัตราแลกเปลี่ยน จึงทำให้การป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน ไม่สามารถทำได้เต็มประสิทธิภาพ”