คาด ‘กำไรแบงก์’ ไตรมาส2วูบ

คาด ‘กำไรแบงก์’ ไตรมาส2วูบ

คาด "กำไรแบงก์" ไตรมาส2วูบ ลดดอกเบี้ยเงินกู้กระทบส่วนต่าง

บล.เคจีไอ (ประเทศไทย) จัดทำประมาณการผลประกอบการกลุ่มธนาคารพาณิชย์ไตรมาส 2 ปี 2560 คาดว่า กำไรบางธนาคารดูหวือหวาเมื่อเทียบกับปีก่อน

โดยฝ่ายวิจัย คาดว่ากำไรสุทธิของกลุ่มธนาคารในไตรมาส 2 ปีนี้  จะลดลง 4%  จากไตรมาส 1 ปี 2560 ที่ผ่านมา และลดลง  1% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน เนื่องจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้รอบล่าสุดในเดือนพ.ค. ส่งผลกระทบกับ NIM, ค่าใช้จ่ายสำรองยังคงอยู่ในระดับสูงจากกระแสเอ็นพีแอล (NPL) ใหม่ที่เพิ่มขึ้น, และสินเชื่อที่เติบโตอย่างช้าๆ 

ทั้งนี้ ฐานที่สูงในไตรมาส 2 ปี 2559 กดดันการเติบโตของกำไร ธนาคารไทยพาณิชย์, กรุงไทย, และ ทหารไทย ในขณะที่ฐานที่ต่ำในไตรมาส 2 ปี 2559 จะหนุนการเติบโตของธนาคารกรุงเทพ, กสิกรไทย และ ทิสโก้

ทั้งนี้ ฐานกำไรที่ต่ำในไตรมาส 2 ปี 2559 จะช่วยหนุนการเติบโตของกำไร ธนาคารกรุงเทพ และ กสิกรไทย โดยในกรณีของธนาคารกรุงเทพ รายได้จากการซื้อขายหลักทรัพย์ในไตรมาส 2 ปี 2559  ต่ำผิดปกติ อยู่ที่ 51 ล้านบาทเท่านั้น (จากระดับปกติที่ 1.2-1.5 พันล้านบาท) ซึ่งทำให้ฐานกำไรในไตรมาส 2 ปี 2559 ต่ำ ในขณะที่ธนาคารเข้ามาซื้อขายในตลาดตราสารหนี้อย่างคึกคักในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา ซึ่งน่าจะทำให้กำไรจากการซื้อขายหลักทรัพย์กลับไปอยู่ที่ระดับปกติและหนุนรายได้ในไตรมาส 2 ปี 2560 ซึ่งจะช่วยชดเชยค่าใช้จ่ายสำรองที่ยังอยู่ในระดับสูงได้ ส่วนในกรณีของ กสิกรไทย ฐานรายได้ค่าธรรมเนียมที่ต่ำในไตรมาส 2 ปี 2559 และรายได้จากค่าธรรมเนียมปกติที่ดีขึ้นในไตรมาส 2 ปี 2560 ช่วยหนุนการเติบโตของกำไร

ขณะที่ฐานที่สูงในไตรมาส 2 ปี 2559 และสำรองที่เพิ่มขึ้นกดดันกำไรของ กรุงไทย  และ ไทยพาณิชย์ ในกรณีของ ไทยพาณิชย์ กำไรพิเศษจากการจัดชั้นการลงทุนในธุรกิจประกันชีวิตส่งผลให้กำไรดีดตัวขึ้นในไตรมาส 2 ปี 2559 ในขณะที่ credit cost ซึ่งยังทรงตัวอยู่ในระดับสูงในไตรมาส 2 ปี  2560 บวกกับฐานกำไรที่ต่ำในไตรมาส 2 ปี 2559 และ NIM จะกดดันการเติบโตของกำไรในไตรมาส 2 ปี 2560 ส่วนในกรณีของ กรุงไทย ได้ใช้สมมติฐานว่ามีการกำหนด credit cost ก้อนใหญ่ในไตรมาส 2 ปี 2560  ที่ 1.76% (จาก 1.55% ในไตรมาส 1 ปี 2560 และ 1.56 ในไตรมาส 2 ปี 2559) เพื่อรักษาระดับการรองรับหนี้เสียเอาไว้เท่าเดิม ทั้งนี้ การที่สินเชื่อไม่โต และยังถูกกดดันจาก NIM ในไตรมาส 2 ปี 2560 น่าจะทำให้กำไรของ SCB ลดลงหนักกว่าธนาคารอื่น

NIM ที่ลดลงส่งผลกระทบกับธนาคารแต่ละแห่งไม่เท่ากันโดย ไทยพาณิชย์ จะถูกกระทบหนักสุด การที่ธนาคารต่างๆ ปรับลดอัตราดอกเบี้ย MRR ลง 50bps และคง MLR ไว้เท่าเดิมเมื่อกลางเดือนพ.ค. (ยกเว้น ไทยพาณิชย์ ที่ปรับลด MRR และ MLR ลงอย่างละ 0. 25%) จะกดดันให้ NIM ลดลงประมาณ  0.10 % ในไตรมาส 2 ปี 2560  

โดยฝ่ายวิจัยคาดว่า ไทยพาณิชย์ จะถูกกระทบหนักที่สุด ซึ่งตามปกติแล้ว MRR จะเป็นอัตราดอกเบี้ยอ้างอิงสำหรับสินเชื่อผู้บริโภคและเอสเอ็มอี ขนาดเล็ก ซึ่งโดยเฉลี่ยแล้วสินเชื่อประมาณ 35-40% ของพอร์ตสินเชื่อ กสิกรไทย และ ไทยพาณิชย์ จะอิงกับ MRR ในขณะที่ผลกระทบกับ ธนาคารกรุงเทพ จะน้อย

“จากภาวะตลาดที่ไม่เอื้อ และกระแส NPL ใหม่ที่เพิ่มขึ้นในไตรมาส 2 ปี 2560  ทำให้แนะนำให้เลือกซื้อแค่ ธนาคารกสิกรไทย เนื่องจากมีส่วนรองรับหนี้เสียสูง รองลงมาคือ ธนาคารกรุงเทพ จากราคาหุ้นที่ไม่แพง และส่วนรองรับหนี้เสียที่สูง ในขณะที่กำไรของสามธนาคารเล็ก (ทิสโก้, เกียรตินาคิน และ ธนชาต) น่าจะโตได้ดีกว่าธนาคารใหญ่” 

ฝ่ายวิจัย บล.กรุงศรี ระบุว่า คุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารขนาดเล็กแข็งแกร่งมาก คาดว่าผลประกอบการไตรมาส 2 ปี 2560 จะยังคงแข็งแกร่ง เนื่องจาก credit cost ลดลง 

หลังจากที่ทีมวิจัย ได้คุยกับผู้บริหารของธนาคารขนาดเล็ก คาดว่ากำไรน่าจะโตได้ 12-20% จากไตรมาสเดียวกันปีก่อน ในไตรมาส 2 ปีนี้ จากการกันสำรองลดลงเพราะสามารถติดตามาหนี้เสียได้ในอัตราสูง และมีผลขาดทุนจากการขายรถที่ยึดมาลดลง 

โดยคาดว่าสินเชื่อของทั้ง เกียรตินาคิน และ ธนชาต น่าจะขยายตัวจากไตรมาสก่อนหน้า โดยในกรณีของ เกียรตินาคิน จะมาจากการขยายสินเชื่อธุรกิจในขณะที่ของ ธนชาต จะมาจากการขยายสินเชื่อ HP เราคาดว่าสินเชื่อของ ทิสโก้ จะหดตัวจากไตรมาสที่แล้ว เนื่องจากธนาคารไม่มีนโยบายที่จะแข่งขันด้านราคาในกลุ่มสินเชื่อ HP เมื่อมองในแง่ margin คาดว่า NIM จะยังอยู่ในระดับสูงเนื่องจากทั้งสามธนาคารได้รับผลกระทบไม่มากนักจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้รอบล่าสุดและยังได้อานิสงส์จากการที่ดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่อง 

อย่างไรก็ตาม รายได้ค่าธรรมเนียมของธนาคารกำลังถูกกดดันจากค่าธรรมเนียมนายหน้าที่ลดลงในไตรมาส 2 ปี 2560