ไทยแอร์ปั้นช่างอากาศยานหนุนฮับการบิน

ไทยแอร์ปั้นช่างอากาศยานหนุนฮับการบิน

ไทยแอร์เอเชีย หนุนไทยสร้างฮับการบินภูมิภาค จับมือพันธมิตรผลิตช่างอากาศยานครั้งแรก ชี้การส่งมอบเครื่องบินกว่า 3 หมื่นลำในเอเชียแปซิฟิกรอบ 20 ปีดันความต้องการเพิ่ม 4 หมื่นตำแหน่ง

นายบัญญัติ หรรษกุล ผู้อำนวยการฝ่ายวิศวกรรม สายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า จากการขยายตัวของอุตสาหกรรมการบินต่อเนื่องและรวดเร็ว ส่งผลให้มีความต้องการบุคลากรผู้เชี่ยวชาญด้านการบินต่อเนื่อง โดยเฉพาะช่างอากาศยาน (Aircraft Mechanic) ที่เพิ่มขึ้นตามจำนวนสั่งเครื่องบิน โดยไทยแอร์เอเชีย ซึ่งมีฝูงบิน 54 ลำ และภายในปีนี้รับมอบเพิ่มอีก 4 ลำ ได้ลงนามความร่วมมือกับ 2 พันธมิตร ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ และโรงเรียนการบินกรุงเทพ โดย บริษัทบางกอกเอวิเอชั่นเซ็นเตอร์ จำกัด (บีเอซี) ร่วมกันจัดหลักสูตรการศึกษาเพื่อพัฒนาและผลิตช่างอากาศยาน ระยะสั้น 1 ปี เพื่อผลิตบุคลากรที่พร้อมปฏิบัติงานในฐานะพนักงานของไทยแอร์เอเชียทันที

ความร่วมมือดังกล่าว ประเมินว่าจะสอดรับกับนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ซึ่งหนึ่งในนั้นมีเป้าหมายส่งเสริมไทยเป็นศูนย์กลาง (ฮับ) อุตสาหกรรมการบินในภูมิภาค โดยมีแผนส่งเสริมสนามบินอู่ตะเภาเป็นศูนย์ซ่อมอากาศยานระดับนานาชาติ ภายใต้การส่งเสริมการลงทุนพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) ดังนั้น หากไม่มีการเตรียมความพร้อมล่วงหน้า ก็อาจประสบปัญหาขาดแคลนในอนาคต

ทั้งนี้ ไทยแอร์เชียมีพนักงานซ่อมบำรุงอากาศยานทั้งหมด 321 คน แบ่งเป็นวิศวกรอากาศยาน 105 คน และช่างอากาศยาน 216 คน และตั้งเป้าว่าจากหลักสูตรนี้ จะเพิ่มช่างอากาศยานได้ประมาณ 100 คนภายใน 3 ปี ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.เปิดรับสมัครไปแล้ว มีค่าใช้จ่าย 3 แสนบาทต่อหลักสูตร 1 ปี แต่จะได้บรรจุเป็นพนักงาน และมีเงินเดือนทันที

สำหรับการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ เนื่องจากเป็นสถาบันที่มีหลักสูตรช่างอากาศยานตามมาตรฐานความปลอดภัยแห่งสภาพยุโรป (เอียซ่า) จึงมีการลงทุนด้านเครื่องมือใช้สำหรับฝึกฝนที่จำเป็นอยู่แล้ว ขณะที่ บีเอซี มีการฝึกสอนนักบินใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่ง และมีเครื่องบินเซสน่าที่ใช้สอนนักเรียน 37 ลำ เข้ามาเติมเต็มในภาคปฏิบัติ ก่อนจะส่งนักเรียนมาฝึกกับเครื่องบินแอร์บัส เอ320 ของไทยแอร์เอเชียได้ต่อไป

ด้านนายปิยะ ตรีกาลนนท์ ประธานกรรมการบริหาร บีเอซี กล่าวว่า บีเอซี ผลิตนักบินได้มากเป็นอันดับ 2 ของโลก และเห็นความสำคัญขององค์ประกอบด้านช่างอากาศยาน ที่มีความต้องการสูงเช่นกัน จึงได้ร่วมมือกับไทยแอร์เอเชีย ในการจัดทำหลักสูตร 1 ปี ที่จะแบ่งเป็นการอบรมทักษะด้านงานซ่อมบำรุงกับมหาวิทยาลัย 6 เดือน และมาเรียนในภาคปฏิบัติกับ บีเอซี เพื่อความชำนาญพื้นฐานในการซ่อมเครื่องบินเล็กก่อนอีก 3 เดือน ก่อนจะขยับสู่การฝึกการปฎิบัติจริงหน้างาน (On The Job Training) กับไทยแอร์เอเชีย 3 เดือน

นายสาธิต พุทธชัยยงค์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ กล่าวว่า ในรอบ 20 ปี การส่งมอบเครื่องบินใหม่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จากการประเมินของแอร์บัสและโบอิ้ง ผู้ผลิตรายใหญ่ของโลกรวมกันแล้วจะมีอีกไม่ต่ำกว่า 3 หมื่นลำ จากปัจจุบันมีอยู่ราว 1.2-1.3 หมื่นลำ และทำให้ในทวีปเอเชีย ยังมีความต้องการบุคลากรด้านการบิน การควบคุมการจราจรทางอากาศ และฝ่ายช่างอากาศยานภาคพื้นกว่า 4 หมื่นอัตรา ขณะที่การผลิตช่างอากาศยานในไทยมีสถาบันอยู่ 2-3 แห่ง แต่ยังมีกำลังการผลิตบุคลากรต่ำเมื่อเทียบกับ สิงคโปร์, มาเลเซีย, จีน ที่ริเริ่มการศึกษาด้านนี้มาก่อน โดยเฉพาะมาเลเซีย ที่ทำมาแล้วกว่า 8 ปี

ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยฯ มีจุดแข็งด้านการผลิตบุคลากร เนื่องจากสถาบันการบินที่ได้รับรองเป็นศูนย์ฝึกอบรมช่างอากาศยานตามมาตรฐานเอียซ่า โดยนอกเหนือจากหลักสูตรล่าสุดที่จับมือกับไทยแอร์เอเชีย และ บีเอซี ในครั้งนี้แล้ว ยังมีหลักสูตรประกาศนียบัตรตามมาตรฐานเอียซ่าระยะเวลา 2 ปี ที่เริ่มส่งผู้ฝึกสอน 14 คนไปฝึกอบรมที่แอโร่ บินดุง ในเยอรมนีมาตั้งแต่ปี 2557 รวม 3 รุ่น ซึ่งจะกลับมาเป็นกำลังสำคัญในการขยายการฝึกอบรมช่างอากาศยานในไทยต่อไป

เหตุผลที่เลือกมาตรฐานเอียซ่าก่อน เพราะครอบคลุมอุตสาหกรรมการบินกว่า 70% ของโลก และขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการเพื่อสร้างหลักสูตรมาตรฐานของสำนักงานบริหารการบินแห่งชาติ หรือ เอฟเอเอ (Federal Aviation Administration) หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านการบินแห่งชาติของสหรัฐอเมริกา ที่จะทำให้ครอบคลุมอุตสาหกรรมการบินอีก 20% ของโลก เพราะเป็นมาตรฐานที่อเมริกา, แคนาดา และเม็กซิโก ใช้เป็นหลัก

นายสาธิต กล่าวว่า แม้จะเริ่มต้นทีหลังเพื่อนบ้านในเอเชีย แต่ไทยมีจุดขายเรื่องค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมต่ำกว่ามาเลเซียเกือบเท่าตัว โดยมหาวิทยาลัยมีค่าใช้จ่ายต่อหลักสูตร 2 ปีที่ 4.9 แสนบาท แต่ที่มาเลเซีย อัตราอยู่ที่ 8 แสนบาทสำหรับหลักสูตรเดียวกัน และที่เซียะเหมิน (จีน) อยู่ที่ 7 แสนบาท และปัจจุบันเริ่มได้รับความสนใจจากต่างชาติมาลงเรียนแล้ว เช่น จากบังคลาเทศ เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม การฝึกอบรมเพื่อให้ได้ใบประกาศนียบัตรหลักสูตรเอียซ่าในไทยยังจำกัดด้วยอัตราที่รองรับได้ไม่เกิน 50 คนต่อปี ดังนั้นจึงอยู่ระหว่างหารือกับสำนักงบประมาณ ในการขยายการผลิตบุคลากรไปตั้งฐานภูมิภาคที่มหาวิทยาลัยในเชียงใหม่, นครราชสีมา และอีก 1 แห่งทางภาคใต้ด้วย ขณะที่การมีหลักสูตรระยะสั้น 1 ปีที่ทำงานร่วมกับไทยแอร์เอเชีย จะเข้ามาเสริมความต้องการตลาดได้ในระยะเปลี่ยนผ่านด้วย

“ความต้องการช่างอากาศยานยังมีสูงมาก และเป็นอาชีพที่มีการตอบแทนสูง หากผ่านการอบรมมาตรฐานแล้ว และมีใบอนุญาต จะมีค่าแรงไม่ต่ำกว่า 2000 ดอลลาร์ต่อเดือน (6.8 หมื่นบาท)”