เงินดอลลาร์ทุบ 'ทองคำ'

เงินดอลลาร์ทุบ 'ทองคำ'

เงินดอลลาร์ทุบ "ทองคำ" กูรูแนะเก็งกำไรระยะสั้น

ราคาทองคำช่วงต้นสัปดาห์นี้ ยังคงปรับลดลงต่อเนื่อง โดยได้รับแรงกดดันจากเงินสกุลดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นหลังจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (บอนด์ยิลด์) สหรัฐ รุ่นอายุ 10 ปีปรับเพิ่มขึ้น และเงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการเปิดเผยดัชนีภาคการผลิตของ ISM ที่เพิ่มเกินคาดสู่ระดับ 57.8 ในเดือนมิ.ย. จากระดับ 54.9 ในเดือนพ.ค. สูงกว่าตัวเลขคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่ระดับ 55.1 อีกด้วย

นอกจากนี้แล้วในทางเทคนิค ราคาทองคำได้หลุดแนวรับสำคัญที่ 1,233 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเป็นแนวรับของเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ 200 วัน ทำให้ราคาทองคำปรับลดลงมาทำจุดต่ำสุดรอบ 7 สัปดาห์ โดยปิดที่ระดับ 1,219 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ในช่วงคืนวันที่ 3 ก.ค. 2560

พิชญา พิสุทธิกุล” อุปนายก สมาคมค้าทองคำ มองว่า การเคลื่อนไหวของราคาทองคำในระยะสั้นนั้นจะยังแกว่งตัวอยู่ในกรอบแคบ แม้ตัวเลขทางเศรษฐกิจสหรัฐออกมาไม่ดีนัก และมีปัญหาด้านความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลีมากขึ้น ไม่ส่งผลให้ราคาทองคำปรับตัวเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด

ส่วนการขายทองคำของกองทุนเอสพีดีอาร์ กองทุนที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ยังมีทิศทางการขายออกมากดดันกับตลาดบ้าง โดยล่าสุดลดการถือครองทองคำลงอีก 6.21 ตัน

“ความเคลื่อนไหวของราคาทองคำในขณะนี้ยังแกว่งตัวอยู่ในกรอบแคบมาก เป็นไปตามสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลก ทั้งในตลาดหุ้น และตลาดพันธบัตร ซึ่งนักลงทุนอยู่ระหว่างการพิจารณาเลือกลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความหลากหลายมากขึ้น”

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่นักลงทุนต้องติดตามคือ ความขัดแย้งในคาบสมุทรเกาหลีที่เริ่มมีทิศทางที่มากขึ้น รวมถึงปัญหาความขัดแย้งระหว่างจีนและสหรัฐเริ่มปรับตัวมากขึ้นตามลำดับ ทั้งนี้ สมาคมประเมินกรอบราคาทองคำอยู่ที่ 1,220-1,250 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ขณะที่กรอบราคาทองคำในประเทศอยู่ที่ 19,500-21,000 บาทต่อบาททองคำ แนะนำให้ผู้ลงทุนเลือกลงทุนหากราคาทองคำต่ำกว่า 20,000 บาทต่อบาททองคำ

วรุต รุ่งขำ” ผู้อำนวยการฝ่ายวิเคราะห์ บริษัท วายแอลจี บูลเลี่ยน แอนด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด ระบุว่า เงินดอลลาร์ที่แข็งค่าขึ้นสูงสุดในรอบ 4 เดือน ได้สร้างแรงกดดันต่อราคาทองคำ ประกอบกับดัชนีดาวโจนส์ที่วันก่อนหน้า (3 ก.ค.) ปิดบวกถึง 129 จุด จากการพุ่งขึ้นของหุ้นกลุ่มพลังงานและกลุ่มธนาคาร ถือเป็นอีกปัจจัยที่กระตุ้นแรงขายทองคำที่อยู่ในฐานะสินทรัพย์ปลอดภัย

ราคาทองคำปรับลดลงแตะจุดต่ำสุดรอบ 7 สัปดาห์ ที่ 1,218.81 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ระหว่างการซื้อขายในวันจันทร์และปิดตลาดด้วยการปรับตัวลดลง 20.84 ดอลลาร์ต่อออนซ์ หรือ 1.68% ในขณะที่ กองทุน เอสพีดีอาร์ ลดการถือครองทองคำลง 6.21 ตัน ส่วนวานนี้ (4 ก.ค.) ปริมาณการซื้อขายทองคำเบาบางกว่าปกติเนื่องจากตลาดการเงินสหรัฐปิดทำการเนื่องในวันชาติสหรัฐ

สำหรับกลยุทธ์การลงทุน นายวรุต แนะนำว่า ทยอยขายทำกำไรหากราคาดีดตัวขึ้นไปทดสอบบริเวณแนวต้าน 1,236 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยถ้าราคามีการปรับตัวลดลงและไม่หลุดแนวรับนักลงทุนที่รับความเสี่ยงได้อาจพิจารณาเข้าซื้อทองคำ ซึ่งคาดการณ์แนวรับที่ระดับ 1,213 ดอลลาร์ โดยตั้งจุดตัดขาดทุนเมื่อราคาไม่เป็นไปตามคาดการณ์

กฤชรัตน์ หิรัณยศิริ” ประธานกรรมการกลุ่ม บริษัท เอ็มทีเอส โกลด์ แม่ทองสุก ระบุว่า ราคาทองคำส่งสัญญาณขาลงชัดเจน หลังหลุดแนวรับ 1,240 ดอลลาร์ต่อออนซ์ โดยมีแนวรับถัดไปที่ 1,200 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ด้านเม็ดเงินลงทุนไหลเข้าตลาดพันธบัตรสหรัฐ หลังตัวเลขเศรษฐกิจสหรัฐยังดี ต่อเนื่องสร้างแรงกดดันต่อราคาทองคำ

“ภาพรวมของราคาทองคำปรับตัวลดลงแรงต่อเนื่อง มาจากก่อนหน้านี้มีปัจจัยลบเรื่องเฟดส่งสัญญาณชัดเจนเกี่ยวกับการขึ้นดอกเบี้ย รวมถึงธนาคารกลางยุโรป (อีซีบี) มีแนวโน้มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเช่นกัน”

นอกจากนี้เม็ดเงินลงทุนเริ่มไหลไปตลาดพันธบัตรรัฐบาลสหรัฐหลังพันธบัตร 5 ปีและ 10 ปี ให้ผลตอบแทนที่ดีกว่า ในขณะที่ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐ ในช่วงปลายสัปดาห์นี้ต้องจับตา หากตลาดมีมุมมองออกมาดียิ่งกดดันราคาทองคำ โดยแนวรับถัดไปที่ 1,200 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ส่วนแนวต้านที่ 1,2400 ดอลลาร์ต่อออนซ์

ส่วนราคาทองคำในประเทศไทยหลุดระดับ 20,000 บาท ลงมาตามทิศทางราคาทองโลก โดยมองแนวรับ 19,500 บาท แนะนำนักลงทุนระยะสั้นและกลาง เข้าเก็งกำไรระยะสั้นในช่วงทองขาลง ส่วนนักลงทุนระยะยาวแนะนำให้ทยอยซื้อเก็บและควรลงทุนแบบไม่ใช้มาร์จิน

ขณะที่บทวิเคราะห์ บริษัท ฮั่วเซ่งเฮง โกลด์ ฟิวเจอร์ส จำกัด ระบุว่า หลังจากราคาทองคำหลุดแนวรับสำคัญที่ 1,233 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ทำให้เกิดสัญญาณขายทางเทคนิคและทิศทางราคาทองคำเป็นขาลง อย่างไรก็ตาม ถ้าราคาทองคำสร้างฐานที่บริเวณ 1,220 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ได้จะเริ่มฟื้นตัว แต่ถ้าหลุดจะมีแนวรับถัดไปที่ 1,215 ดอลลาร์ต่อออนซ์

ประกอบกับเครื่องมือทางเทคนิคบางชนิดส่งสัญญาณขายมากเกินไป ทำให้ราคาทองคำอาจจะฟื้นตัวในระหว่างวัน ทั้งนี้มีแนวต้านแข็งแกร่งระยะสั้น 1,233 ดอลลาร์ต่อออนซ์ และแนวต้านถัดไปที่ 1,240 ดอลลาร์ต่อออนซ์