กกต.เอกฉันท์ไม่ส่งหนังสือแย้งร่างพ.ร.ป.พรรคการเมือง

กกต.เอกฉันท์ไม่ส่งหนังสือแย้งร่างพ.ร.ป.พรรคการเมือง

ลงมติเอกฉันท์ "กกต." ไม่ส่งหนังสือแย้งร่างพ.ร.ป.พรรคการเมือง ชี้ไม่มีเนื้อหาขัดเจตนารมณ์รธน.

นายสมชัย ศรีสุทธิยากร กกต.ด้านบริหารกลาง กล่าวภายหลังการประชุมกกต. ว่า ที่ประชุมกกต.มีมติเอกฉันท์เห็นตามที่สำนักงานกกต.เสนอว่าร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองไม่มีเนื้อหาขัดหรือแย้งต่อเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ และเมื่อรัฐธรรมนูญมาตรา 267 วรรค 5 กำหนดว่า หากมีความเห็นแย้งก็ไม่ต้องส่งความเห็นกลับไปยังสนช.ภายใน 10วัน แต่เมื่อขณะนี้กกต.ไม่มีความเห็นแย้งดังนั้นก็จะไม่มีหนังสือแจ้งกลับไป อย่างไรก็ตามในเรื่องการปฏิบัติตามร่างพ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองยอมรับว่าอาจจะมีปัญหาซึ่งที่ประชุมกกต.ก็ให้แนวปฏิบัติกับทางสำนักงานฯว่า หากร่างพ.ร.ป.ฉบับนี้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว กกต.ต้องแถลงชี้แจงให้กับพรรคการเมืองทั้งใหม่ และเก่าทราบว่าจะต้องทำอะไรบ้าง เช่น 6 เดือนแรกหลังประกาศใช้พรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นใหม่จะต้องหาสมาชิกใน 4 ภาคให้ได้ 5 พันคน และต้องมีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 1 ล้านบาท เป็นต้น โดยพรรคการเมืองเองก็ต้องศึกษากฎหมายให้เข้าใจว่ามีเนื้อหาสาระอย่างไร

"มติกกต.วันนี้เป็นมติเอกฉันท์ 4 เสียง เนื่องจากประธานกกต.ติดไปร่วมประชุมคณะกรรมาธิการร่วม 3 ฝ่ายพิจารณาพ.ร.ป.กกต. แต่ก็ไม่เป็นปัญหาเพราะมติกกต.วันนี้ก็สอดคล้องกับความเห็นของคณะที่ปรึกษากฎหมายของกกต. และความเห็นของสำนักงาน โดยการปฏิบัติตามร่างพ.ร.ป.พรรคการเมืองเป็นรายละเอียดใหม่ที่อาจจจะยุ่งยากต่อการปฏิบัติในระยะแรก ๆ แต่กระบวนการต่างๆ มุ่งหวังที่จะทำให้พรรคการเมืองเข้มแข็งมีความเป็นสถาบัน ซึ่งกกต.ก็จะพยายามช่วยอำนวยความสะดวกในการปฏิบัติให้กับพรรคการเมืองมากที่สุด"นายสมชัย กล่าว


นายสมชัย กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ที่ประชุมมีมติตามที่สำนักกฎหมายของสำนักงานกกต.เสนอให้ตั้งคณะอนุกรรมการไต่สวนข้อเท็จจริงกรณีนายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ ทีมกฎหมายพรรคเพื่อไทย ร้องขอให้ตรวจสอบการกระทำที่เป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 186 ประกอบมาตรา 187 และมาตรา 170(5) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการถือครองหุ้น ของสมาชิกสภานิติบัญญัติแแห่งชาติ (สนช.) 90 คน ซึ่งอาจเป็นเหตุให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่งตามมาตรา 264 วรรคสอง โดยประธานกกต.จะได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะอนุกรรมการให้แล้วเสร็จภายใน 7 วันนับจากนี้ และคณะอนุกรรมการไต่สวนมีเวลาดำเนินการสอบสวนให้แล้วเสร็จภายใน 60 วันก่อนเสนอความเห็นต่อกกต. โดยหากเห็นว่าไม่มีมูลก็จะเสนอกกต.ยกคำร้อง แต่หากเห็นว่ามีมูล ก็จะเสนอให้กกต.มีความเห็นเสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย