สตาร์ทอัพไทย สเกลอัพเอเชีย

สตาร์ทอัพไทย สเกลอัพเอเชีย

'เทคมี ทัวร์' สตาร์ทอัพด้านการท่องเที่ยว 'ไอ้แต้ม' บริการค้นหาสัตวแพทย์ ตัวอย่างสตาร์ทอัพที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะในอุตสาหกรรมของตัวเอง

TakeMeTour (เทคมี ทัวร์) สตาร์ทอัพด้านการท่องเที่ยวและ iTaam (ไอ้แต้ม) บริการค้นหาสัตวแพทย์ ตัวอย่างสตาร์ทอัพที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะในอุตสาหกรรมของตัวเอง ทั้งบ่งบอกความหลากหลายของธุรกิจเทคโนโลยี ขณะที่ภาครัฐ-ตลาดทุนเตรียมแก้กฎระเบียบสกัดการออกไปจดทะเบียนในตลาดสิงคโปร์

ทั้งสองธุรกิจเทคโนโลยีนี้จะร่วมอวดโฉมในงานสตาร์ทอัพ ไทยแลนด์ 2017 ภายใต้แนวคิด “สเกล อัพ เอเชีย” ระหว่างวันที่ 6-9 ก.ค.นี้ ที่ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์


เฟ้นหาสุดยอดสตาร์ทอัพ


นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวถึงงานสตาร์ทอัพไทยแลนด์ฯ ว่า จะมีบูธนำเสนอผลงาน 300 บูธใน 9 สาขาธุรกิจที่เกิดจากการสนับสนุนของภาครัฐและภาคเอกชนอย่างครบวงจร คาดว่าจะมีเม็ดเงินลงทุนภายในงานกว่า 4,000 ล้านบาท พร้อมกันนี้ยังมีบูธผู้สนับสนุนทั้งด้านแหล่งทุน แหล่งสนับสนุนจากภาครัฐ ภาคเอกชน นักลงทุน มหาวิทยาลัยและหน่วยสนับสนุนสตาร์ทอัพจากพันธมิตรทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมกว่า 30 หน่วยงานจาก 15 ประเทศ


ปีนี้ถือเป็นครั้งแรกที่จะมอบรางวัล Prime Minister Award : National Startup 2017 แก่สตาร์ทอัพไทยที่มีผลงานโดดเด่นในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา มีผู้เข้ารับการพิจารณา 9 ราย ได้แก่ 1.ZeekDoc 2.Buik 3. Wongnai 4. Skilllane 5. Ricult 6. Digio 7. Eventpop 8. Gisscoและ9. Local a Like


ตัวอย่างผู้ประกอบการที่จะร่วมออกบูธในงานสตาร์ทอัพไทยแลนด์ 2017 เช่น TakeMeTour สตาร์ทอัพด้านการท่องเที่ยวในการหาไกด์ท้องถิ่นพาเที่ยวในพื้นที่ เป็นธุรกิจที่กำลังได้รับความนิยมในแถบเอเชีย โดยการสร้างแพลตฟอร์มให้คนในพื้นที่จัดทริปนำเที่ยว 1 วัน จากข้อมูลพบว่า 21 ล้านคนคือ จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในไทยแบบไม่ใช้แพกเกจทัวร์ หรือนักท่องเที่ยวที่เดินทางด้วยตนเอง ซึ่งมีจำนวนเพิ่มขึ้นทุกปี สะท้อนให้เห็นพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ต้องการศึกษาวิถีชีวิตของคนในพื้นที่นั้นๆ หรือเรียกว่า “โลคัล เอ็กซ์พีเรียน” โดยไกด์ในพื้นที่จะเชื่อมโยงเรื่องราวของตนเองและคนในพื้นที่เข้าไว้กับการท่องเที่ยว โดยมี 1.2 หมื่นคน กว่า 50 จังหวัด ที่เข้ามาร่วมในกิจกรรมนี้


ขณะที่ iTaam ริเริ่มโดย น.สพ.ธนพัฒน์ สุขวิสุทธิ์ ได้พัฒนาแพลตฟอร์มสำหรับค้นหาสัตวแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อขอคำแนะนำ-ติดต่อใช้บริการ และมีข้อมูลของสัตว์แต่ละตัวที่สามารถบันทึกร่วมกันได้ระหว่างผู้เลี้ยงกับสัตวแพทย์ จะช่วยให้การดูแลสุขภาพสัตว์มีประสิทธิภาพมากขึ้น
ล่าสุดที่จะเปิดตัวช่วงกลางเดือน ก.ค.ก็คือ บริการจัดส่งสัตวแพทย์ไปดูแลสัตว์ในเชิงป้องกันถึงที่บ้าน เช่น ฉีดวัคซีนถือว่าตลาดใหญ่น่าสนใจเพราะจากตัวเลขเบื้องต้นมีจำนวนเลี้ยงสัตว์ประมาณ 5 ล้านกว่าตัว ซึ่งต้องได้รับวัคซีนอย่างน้อยปีละครั้ง เช่น วัคซีนถ่ายพยาธิ ค่าบริการประมาณ 500 บาท โดยรวมแล้วมูลค่าตลาดประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อปี


ลุยแก้กฎหมายดูดนักลงทุน


นายพันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือสนช. กล่าวว่า แนวโน้มสตาร์ทอัพปีหน้าอยู่ในสเตปเติบโตไปอีกระดับหนึ่ง ในฐานะหน่วยงานรัฐต้องแก้ปัญหาว่า จะทำอย่างไรไม่ให้ไหลออกนอกประเทศหรือไปจดทะเบียนที่อื่น ฉะนั้น ภารกิจปีหน้าต้องแก้กฎหมายธุรกิจเกี่ยวข้อง เพื่อดึงดูดนักลงทุนรุ่นใหม่ให้จดทะเบียนธุรกิจในไทยแทนที่จะไปสิงคโปร์


ส่วนสตาร์ทอัพในเซกเตอร์ใหม่ที่น่าจับตา คือ เกษตร อาหาร ท่องเที่ยวและสุขภาพ จากเดิมที่คุ้นเคยแต่ฟินเทคกับอีคอมเมิร์ซ แต่ต่อไปจะหลากหลายขึ้นหรือมากกว่า 9 เซกเตอร์ ประกอบด้วย กลุ่มธุรกิจภาครัฐและการศึกษา (GovTech&EdTech) กลุ่มการเกษตรและอาหาร (AgTech&FoodTech) กลุ่มนวัตกรรมเพื่อสุขภาพ (HealthTech) กลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตแห่งอนาคต (IndustryTech)
กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีบริการ (Servicetech)กลุ่มเทคโนโลยีการเงิน (FinTech) กลุ่มไลฟ์สไตล์ และความบันเทิง (Lifestyle-Entertainment- Gaming) กลุ่มเทคโนโลยีท่องเที่ยว (TravelTech) และกลุ่มเทคโนโลยีอสังหาริมทรัพย์ (Propertytech-UrbanTech)และจะครอบคลุมตั้งแต่ธุรกิจเกษตรไปยังธุรกิจบริการ


“ปี 2561 จะเห็นความหลากหลายของสตาร์ทอัพในเมืองไทยมากขึ้น เช่น เรื่องท่องเที่ยว เกษตรอาหาร สุขภาพ อุตสาหกรรม ที่ตอบโจทย์ไทยแลนด์ 4.0 ธุรกรรมทางการเงินและการทำให้รัฐบาลสมาร์ท” นายพันธุ์อาจ กล่าว