น้ำผึ้งเอาแต่ใจ‘หินลาดใน’

น้ำผึ้งเอาแต่ใจ‘หินลาดใน’

 น้ำผึ้งดีที่สุด อยุ่ในป่า และมีอยู่จำกัด ธรรมชาติให้แค่ไหน ก็ใช้ได้แค่นั้น  

....................

“น้ำผึ้ง ไม่ใช่แค่น้ำผึ้ง แต่เป็นการฟื้นฟูป่า”

ทศ-ชัยธวัช จอมติ นักต่อสู้เพื่อชุมชน ปราชญ์ และผู้นำชุมชนหินลาดใน จ.เชียงราย เล่าในเวิร์คชอป Sensory of Rice and Wild Honey ที่พวกเขาช่วยกันคิด ในงานประชุมวิชาการทางมนุษยวิทยา ครั้งที่ 12 อยู่ดี กินดี มีสุข ที่ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร

แม้วิถีคนอยู่กับป่าจะเป็นเรื่องเดิมๆ ที่หลายคนได้ยิน แต่วิธีการสื่อสารของ ปกาเกอะญอ รุ่นใหม่ได้เปลี่ยนไปแล้ว พวกเขาใช้ผลิตภัณฑ์ เล่าเรื่องที่มาที่ไปของอาหารและชุมชน

นี่คือสิ่งที่ชุมชนหินลาดใน และหลายชุมชนบนดอย สร้างโอกาสและทางเลือกให้ตัวเอง เพื่อให้คนเมืองรู้จักชุมชนพวกเขามากขึ้น

“เราบอกตลอดเวลาว่า เราคือ น้ำผึ้งเอาแต่ใจ เป็นน้ำผึ้งป่าที่มีจำนวนจำกัด แม้ผึ้งจะขยายพันธุ์ได้ แต่น้ำผึ้งก็มีจำกัด” จั๊ม-ณัฐดนัย ตระการศุภกร ปกาเกอะญอรุ่นใหม่ชุมชนหินลาดใน กล่าวถึงน้ำผึ้งแบรนด์ HOSTBEEHIVE 

 

ธรรมชาติให้แค่นี้

น้ำผึ้งป่าของพวกเขา จึงมีจำนวนจำกัด ไม่ว่าใครจะสั่งเยอะแค่ไหน พวกเขาก็ไม่สามารถทำให้ผึ้งผลิตน้ำผึ้งได้มากกว่านั้น

“เคยมีบางคนกินแล้วชอบ อยากสั่งเพิ่ม เพื่อส่งไปอเมริกาประมาณ 5,000-10,000 ขวด เรามีไม่พอ ผมก็ไปถามพ่อหลวง แล้วพ่อหลวงบอกว่า “ธรรมชาติให้แค่นี้ เราก็ใช้ได้เท่านี้” เมื่อไม่มีน้ำผึ้ง เราก็ทำชา สบู่น้ำผึ้ง แปรรูปอาหาร และสมุนไพรต่างๆ "

สาเหตุที่น้ำผึ้งหลวง รสชาตินุ่มกว่าน้ำผึ้งชนิดอื่น ณัฐดนัย บอกว่า เพราะผึ้งชนิดนี้ ทำรังอยู่บนที่สูง ดูดเกษรดอกไม้ที่อยู่ด้านบนสุดของต้นไม้

“ตอนที่คนปีนขึ้นไปเก็บรังผึ้งยากมาก แต่สุดท้ายราคาแค่ 80-200 บาท ถ้าปีไหนสภาพอากาศเปลี่ยนเร็ว ปีนั้นผึ้งตายทั้งรัง ปีไหนแล้งมาก ผึ้งไม่ได้กินน้ำ และมีไฟป่า น้ำผึ้งก็มีกลิ่นควันไฟ ” 

ชัยธวัช เสริมว่า โซนเอเชียไม่สามารถเลี้ยงผึ้งป่าได้เหมือนผึ้งทางยุโรป ที่พวกเขาให้อาหารและน้ำตาล เพราะผึ้งเอเชียรักสงบ 

แบรนด์ชนเผ่าสร้างได้

เห็นได้ว่า การสร้างแบรนด์ชุมชนในลักษณะนี้ เน้นไม่เอารัดเอาเปรียบธรรมชาติ และคืนกำไรให้ชุมชน โดยนำเข้ากองทุนเพื่อพัฒนาหมู่บ้าน ซึ่งต่างจากระบบการค้าทั่วไป

“สิ่งสำคัญไม่ใช่การค้าเพื่อได้เงินอย่างเดียว โมเดลชนเผ่ารายได้กลับไปสู่ชุมชน เรามีกองทุนละลาย เพื่อดูแลชุมชนและไร่หมุนเวียน ป่าวนเกษตร เรามีน้ำผึ้งที่จะบอกเรื่องราวของชุมชน เราพูดเรื่องการจัดการป่าผ่านผลิตภัณฑ์” ณัฐดนัย เล่า แล้วเสริมว่า

“คนยังไม่เข้าใจเรื่องไร่หมุนเวียนในประเทศไทย อย่างชุมชนบ้านหินลาดในใช้เวลา 7 ปีในการเวียนพื้นที่ทำไร่ เพื่อให้ธรรมชาติฟื้นตัว เราจะดูธรรมชาติก่อน เพื่อไม่ให้ต้นไม้ตาย และการเผา ก็เป็นการสร้างปุ๋ยที่ดี คือ ถ่าน แต่สิ่งที่สังคมบอกตลอดคือ ชาวเขาทำลายป่า ทั้งๆ ที่เราทำไร่หมุนเวียนมาสี่ชั่วอายุคน คนร้อยกว่าคนดูแลป่ากว่าสองหมื่นสองพันกว่าไร่”

ด้วยเหตุผลนี้เอง น้ำผึ้งชุมชนหินลาดใน จึงเป็นมากกว่าสินค้า ด้วยวิธีคิดที่อยากให้คนทั้งโลก รู้จักที่มาที่ไปและรสชาติอาหารจากธรรมชาติและชุมชน ทุกครั้งที่มีโอกาสนำผลิตภัณฑ์ออกสู่สาธารณชน พวกเขาจึงพ่วงท้ายด้วยการจัดเวิร์คชอป เล่าเรื่องอาหารจากชุมชน ชิมกันให้รู้ว่า น้ำผึ้ง กาแฟจากธรรมชาติ รสชาติเป็นเช่นไร

“น้ำผึ้งที่มีความยากในเก็บคือผึ้งหลวง หรือน้ำผึ้งเดือน 5 เป็นผึ้งที่ใหญ่ที่สุด เป็นชนิดเดียวที่มีฤทธิ์ยาเยอะ  ผู้หญิงตั้งครรภ์และเด็กทารกไม่ควรกิน อาจแพ้ได้และแท้งลูก ผึ้งชนิดนี้ใช้เวลาละลายเกษรดอกไม้แค่เดือนสองเดือน ก่อนจะเก็บน้ำหวานในรังผึ้งได้ " ชัยธวัช เล่าถึงสรรพคุณน้ำผึ้ง

“ผมทำทุกอย่าง เพื่อให้สินค้าชุมชนออกสู่ตลาด ตอนนี้เรื่องน้ำผึ้ง ผมให้คนรุ่นใหม่เข้ามาดูแล กระทั่งชุมชนที่ปลูกกาแฟดั้งเดิม ถูกคุกคามด้วยการปลูกข้าวโพด ผมก็มาริเริ่มเรื่องกาแฟ โดยเรียนรู้กระบวนการทั้งหมดจากอายุ จือปา (ผู้ริเริ่มแบรนด์อาข่า อ่ามา) "

ในอดีตพวกเขาเคยขายเมล็ดกาแฟได้กิโลกรัมละไม่กี่บาท ปัจจุบันปกาเกอะญอรุ่นใหม่ สร้างเครือข่ายขายผ่านออนไลน์ และเรียนรู้กระบวนการธุรกิจ ทำให้กาแฟอินทรีย์บนดอยหลายแบรนด์เป็นที่รู้จัก และเป็นที่ยอมรับในคุณภาพ 

“ที่บ้านหินลาดในปลูกกาแฟมานาน เราก็ต้องสร้างระบบ กระบวนการ สร้างรายได้ให้ชาวบ้าน เรามีกาแฟสายพันธุ์ดั้งเดิม และผมขายผ่านออนไลน์ได้ สามารถทำให้สมาชิก30-40ครอบครัวที่ปลูกและคั่วกาแฟมีรายได้ และเราเป็นที่รู้จักในแบรนด์ Hinlad Organic Coffee  นอกจากนี้นักศึกษาญี่ปุ่นยังนำไปขายที่มหาวิทยาลัยในญี่ปุ่น เรามีความมั่นคงทางอาหารอยู่แล้ว เรามีพื้นที่ป่า พื้นที่ปลูกพืชผักตามฤดูกาล

เราแค่ปรับยุทธศาสตร์ นำสินค้าเล่าเรื่องชุมชนเปิดตลาดใหม่ ซึ่งตอนนี้เชฟร้านดังๆ มารู้จักพวกเรา มาสัมผัสทรัพยากรในชุมชนเรา พัฒนาเป็นอาหารในร้านของเขามากขึ้น และช่วยเราพัฒนาด้วย”

ความเชื่อที่เปลี่ยนไป

เมื่อพูดถึงรายได้ของครอบครัวปกาเกอะญอ ชัยธวัช บอกว่า ไม่น้อยไปกว่าคนเมืองที่ทำงานรับเงินเดือน แต่ละครอบครัวมีรายได้ปีหนึ่งมากกว่าสามแสนบาท และบางครอบครัวมีรายได้ที่มั่นคงมากกว่าคนในกรุงเทพฯ

     “สิ่งที่พวกเราทำเรื่องอาหาร สามารถตอบโจทย์เรื่องรายได้ ไร่หมุนเวียนตอบโจทย์เรื่องอาหารการกินในชุมชนทั้งปีได้อยู่แล้ว ส่วนป่าวนเกษตร เราสร้างสองอย่างคือ ฐานอาหาร ฐานรายได้ แม้น้ำผึ้งอาจเป็นตัวชูโรง แต่เรายังมีหน่อไม้ หวาย พืชผักตามฤดูกาล ซึ่งมีคนเข้ามารับ”

      “สิ่งที่ผมคิดคือ เราต้องมีอาชีพที่มั่นคง เมื่อพวกผมมีทรัพยากรเยอะ ก็มีการแปรรูป ระยะหลังเราทำตลาดเอง เรามีน้ำผึ้งที่เก็บได้บางฤดูกาล การขายน้ำผึ้ง เราหักเข้ากองทุนหมู่บ้าน20เปอร์เซ็นต์ เพราะสิ่งที่เราได้มาจากธรรมชาติ เราต้องดูแลทรัพยากรธรรมชาติด้วย “ ชัยธวัช กล่าว และยกตัวอย่าง 

      ยอดใบสน ทรัพยากรที่ก่อนหน้านี้ปกาเกอะญอไม่เคยรู้คุณค่าเลย กลุ่มเชฟที่เข้ามาในชุมชนพวกเขา แนะนำว่า สามารถนำไปสกัดเป็นน้ำมันทำอาหารได้ หรือพืชผักบางอย่างในไร่หมุนเวียน พัฒนาเป็นอาหารและสมุนไพรได้ด้วย 

       "ก่อนหน้านี้ ผมเป็นนักต่อสู้เพื่อชุมชน เรียนจบแค่ประถม 6 เวลาออกไปเรียกร้องหรือบอกเล่าปัญหาในชุมชนที่เราไม่ได้รับความเป็นธรรม คนในชุมชนต้องช่วยกันสนับสนุนค่าเดินทางให้ผม พวกเราถูกยัดเยียดว่าทำลายป่า ปัจจุบันปัญหาเหล่านี้ก็ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม แต่เรามีรายได้จากการผลิตและแปรรูปอาหาร มีความมั่นคงมากขึ้น เราต้องปกป้องฐานทรัพยากรของเรา วิถีชีวิตของเรา เราอยู่กับป่า ก็ต้องรักษาป่า”

 .......................

ผลิตภัณฑ์ชุมชนหินลาดใน ดูได้ที่เฟสบุ๊ค 

  -Hinlad Organic Coffee

 -HOSTBEEHIVE