'นักธุรกิจ' ตื่นตัวบริหารทรัพย์สิน

'นักธุรกิจ' ตื่นตัวบริหารทรัพย์สิน

นักธุรกิจตื่นตัว "บริหารทรัพย์สิน" เหตุรัฐออกกฎหมายเก็บภาษีที่ดิน-มรดก กสิกรไทยระบุครึ่งปีมีลูกค้ารวย 1 คน หรือ 40% ของลูกค้าไฮเน็ทเวิร์ธในไทย

กสิกรไทยชี้แนวโน้มนักธุรกิจใช้บริการให้คำปรึกษาบริหารทรัพย์สินมากขึ้น ทั้งทรัพย์สินส่วนตัวและกิจการครอบครัว หลังรัฐออกกฎหมายจัดเก็บภาษีที่ดินและภาษีมรดก เป็นโอกาสทางธุรกิจของธนาคาร เผยครึ่งปีมีลูกค้าไพรเวทแบงก์แล้ว 1 หมื่นคน คิดเป็น 40% ของลูกค้าไฮเน็ทเวิร์ธในเมืองไทย

นายนนท์ บุรณศิริ ผู้บริหารงานที่ปรึกษาด้านการบริการทรัพย์สินครอบครัว สายงานธุรกิจบริการไพรเวทแบงก์ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า ขณะนี้ลูกค้าและนักธุรกิจมีแนวโน้มเข้ามาใช้บริการการให้คำปรึกษาเรื่องบริหารทรัพย์สินมากขึ้น ทั้งการบริหารทรัพย์สินของบุคคล และทรัพย์สินของครอบครัว หลังรัฐบาลมีการออกกฎหมายจัดเก็บภาษีมรดกและภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งถือว่ารัฐบาลมาถูกทางในการกระตุ้นให้เกิดการใช้ประโยชน์จากที่ดินว่างเปล่า ไม่อย่างนั้นก็มีความเสี่ยงที่จะถูกจัดเก็บภาษีเพิ่ม

“ธุรกิจในไทยกว่า 70%เป็นกิจการครอบครัว ซึ่งส่วนใหญ่มีปัญหาในการสืบทอดกิจการจากรุ่นก่อตั้งไปยังรุ่นที่ 2 ทั้งกรณีที่ทายาทไม่ต้องการสืบทอด หรือมีปัญหาในการจัดการมรดก ทางธนาคารก็ให้คำปรึกษา หาเครื่องมือและแนวทางการบริการจัดการมาให้เพื่อให้กิจการเดินต่อไปได้ เช่นการจัดตั้งเป็นบริษัทโฮลดิ้ง เป็นต้น”นายนนท์กล่าว

โดยในการบริการบริหารจัดการทรัพย์สินครอบครัวนั้น ธนาคารจะร่วมมือกับเครือข่ายพันธมิตร ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญในด้านการบริหารจัดการทรัพย์สินครอบครัว เช่น ทั้งในด้านกฎหมาย ทรัพยากรบุคคล และการบริหารจัดการทรัพย์สิน เช่นความร่วมมือกับทางลอมบาร์ด โอเดีย (Lombard Odier) ผู้เชี่ยวชาญด้านไพรเวทแบงกิ้งระดับโลก เป็นต้น

ทั้งนี้การให้บริการของธนาคารกสิกรไทยเรื่องการบริหารทรัพย์สิน มี 4 ส่วนหลักๆคือ 1. การวางแผนการบริหารจัดการครอบครัว ธนาคารก็จะมีส่วนช่วยในการส่งต่อค่านิยม เป็นตัวกลางประสาน ทำข้อตกลงของครอบครัว เป็นต้น 2.การบริหารธุรกิจครอบครัว เช่นการส่งต่อธุรกิจธุรกิจครอบครัว บางครั้งธุรกิจครอบครัวมีคนเกี่ยวข้องเยอะ ทำให้ตัดสินใจยาก ก็วางระบบเป็นโฮลดิ้งคัมพานี มีการโหวตในการตัดสินใจ เป็นต้น

3. การบริหารสินทรัพย์ทางการเงิน ก็ช่วยให้คำปรึกษาเรื่องการลงทุน หาทางเลือกการลงทุนทั้งการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ และการลงทุนนอกตลาดหลักทรัพย์ เป็นต้น และ 4.การบริหารสินทรัพย์อื่นๆ ซึ่งสินทรัพย์อื่นๆนี้พบว่ามีจำนวนมาก เช่นอสังหาริมทรัพย์ และที่ดิน เป็นต้น ซึ่งก็จะให้คำปรึกษาเรื่องการใช้ประโยชน์จากที่ดิน การนำที่ดินเป็นทุนไปร่วมลงทุนในโครงการอื่นๆ หรือการให้เช่า นอกเหนือไปจากการขายที่ดิน

“แม้ว่ารัฐบาลจะมาถูกทางในการกระตุ้นให้เกิดการใช้ประโยชน์จากที่ดินว่างเปล่า เพื่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ แต่การใช้ประโยชน์จากที่ดินไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องใช้เวลา ซึ่งรัฐบาลก็ไม่จัดเก็บภาษีทันทีเต็มอัตรา แต่มีเวลาให้เตรียมตัว การให้เวลาตรงนี้ ก็เป็นโอกาสของธนาคารให้การเข้าไปให้คำปรึกษา”

นายนนท์กล่าวต่อว่า ในช่วงครึ่งปีแรกของปีนี้ ธนาคารกสิกรไทยมีลูกค้าในสายงานธุรกิจไพรเวทแบงก์อยู่ประมาณ 10,300 คน มีสินทรัพย์ภายใต้การบริการจัดการทั้งหมด 760,000 แสนล้านบาท และมีส่วนแบ่งทางการตลาดประมาณ 40% ของกลุ่มลูกค้าไฮเน็ทเวิร์ธ หรือHigh Net Worth Individualsในประเทศไทย

ก่อนหน้านี้กระทรวงคลังระบุว่า ผู้ที่ได้รับมรดกประกอบด้วยอสังหาริมทรัพย์, หลักทรัพย์, เงินฝาก, ยานพาหนะ, ตราสารทางการเงิน รวมกันมีมูลค่าเกิน 100 ล้านบาท กรณีเป็นบุพการี หรือผู้สืบสันดาน เสียภาษีในอัตรา 5% ของมูลค่าทรัพย์สินส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท แต่ถ้าไม่ใช่บุพการี หรือไม่ใช่ผู้สืบสันดาน ให้เสียภาษีอัตรา 10% ของมูลค่าทรัพย์สินส่วนที่เกิน 100 ล้านบาท โดยผู้รับมรดกต้องเสียภาษีนับจากวันที่รับมรดก แต่ไม่เกิน 150 วัน โดยกรมสรรพากรจะเปิดให้ผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีเลือกผ่อนชำระภาษีได้ไม่เกิน 5 ปี กรณีผู้เสียภาษีเลือกผ่อนชำระภายใน 2 ปี ไม่ต้องเสียเงินเพิ่มรายเดือน (ดอกเบี้ย) แต่ถ้าเลือกผ่อนชำระเกิน 2 ปี แต่ไม่เกิน 5 ปี ต้องจ่ายเงินเพิ่มรายเดือนอีก 0.5% ของยอดภาษีที่ค้างชำระ

การเสียภาษีมรดกนั้น จะเสียเพียงครั้งเดียวและในอัตราที่ต่ำ โดยหากผู้รับมรดกเป็นบุตรหรือผู้สืบสันดานจะเสียภาษีในอัตราเพียง 5% สำหรับมรดกไม่เกิน 100 ล้านบาทแต่หากโอนทรัพย์สิน ที่เป็นที่ดินและสิ่งปลูกสร้างไว้กับบริษัทแล้ว  จะต้องมีภาระในการจ่ายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างทุกปี