กินกับพีท พีรพัฒน์ ตุลยาเดชานนธ์

กินกับพีท พีรพัฒน์ ตุลยาเดชานนธ์

พีรพัฒน์ ตุลยาเดชานนธ์ ติดโผรายชื่อฟู้ดบล็อกเกอร์คิวทองแห่งยุค นำเสนอคอนเทนท์ที่ชวนให้หิวได้ตลอดเวลาผ่านเพจ 'กินกับพีท เที่ยวกับผม' เป็นชายหนุ่มที่มีความสุขแบบดั๊บเบิ้ลเมื่อกิจกรรมที่รักและทำเป็นงานอดิเรกในวันนั้นกลับกลายมาเป็นอาชีพในวันนี้

พีท-พีรพัฒน์ ตุลยาเดชานนธ์ ฟู้ดบล็อกเกอร์คิวทอง สร้างพื้นที่แชร์รสชาติและประสบการณ์ให้กับคนคอเดียวกันผ่านแฟนเพจในชื่อ “กินกับพีท เที่ยวกับผม” พื้นที่สำหรับคนชอบกิน โดยเน้นร้านอร่อยและราคาเหมาะสมจากการกินเองกับปากและรีวิวเองกับมือทุกร้าน ซึ่งเพจจะมีอายุครบ 6 ปีเต็มในเดือนกรกฎาคมนี้ พร้อมด้วยยอดแฟนเพจเฉียดๆ สองแสน

“โดยเฉลี่ยแล้วได้รับเชิญให้ไปร่วมชิมอาหารหรือร่วมอีเว้นต์ในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องทุกวัน หรือ 7 วันต่อสัปดาห์ บางวันก็ 2-3 งาน ไม่ใช่เพิ่งเป็นมานะครับแต่เป็นแบบนี้มาได้ประมาณ 2 ปีแล้วครับ” บ่งบอกความเป็นบล็อกเกอร์คิวทองได้ชัดเจน

Bloggers มาแรง

จุดเริ่มต้นในความเป็นบล็อกเกอร์ด้านอาหารคือ ชอบกินและโพสต์ ซึ่งทำเป็นกิจวัตรประจำวันจนเป็นเรื่องปกติที่คนรอบข้างคุ้นเคยอย่างดี กระทั่งบ่อยครั้งที่มีคอมเมนต์บอกถึงความรำคาญจากเพื่อน ประกอบกับมีคนที่ไม่รู้จักตามมาแอดเฟรนด์และอินบ๊อกซ์สอบถามถึงรูปอาหารที่โพสต์ จึงตัดสินใจเปิดแฟนเพจ “กินกับพีท” พื้นที่สำหรับพูดคุยเรื่องอาหารการกินล้วนๆ หลังจากนั้นประมาณ 6 เดือน เริ่มได้รับเชิญให้ไปร่วมชิมและกินในอีเวนต์ต่างๆ

“เหตุที่ใช้ชื่อนี้เพราะว่า อากงอาม่าชอบกินสุกี้และจะไปกินเกือบจะทุกอาทิตย์ หรือคิดอะไรไม่ออกว่าจะกินอะไรก็มาลงท้ายที่สุกี้ ผมเบื่อมาก ก็เลยบอกว่า ต่อไปนี้จะเป็นคนเลือกร้านอาหารแล้วพาไปกินเอง ก็เลยเป็นที่มาของชื่อ กินกับพีท ตอนนั้นก็กินเอง จ่ายเองแล้วก็ถ่ายรูปโพสต์เองเสมือนเป็นบันทึกช่วยจำ รอบหน้าถ้าอยากกลับไปกินอีก ก็จะได้เปิดดูข้อมูลที่โพสต์ไว้ว่า ร้านนี้เมนูอะไรอร่อย ราคาเป็นอย่างไร”

พีทใช้เวลาประมาณ 2 ปีนับจากมีแฟนเพจจึงมีรายได้เข้ามาชัดเจน หลังจากฝึกปรือทักษะการเป็นบล็อกเกอร์ทั้งการถ่ายรูป การเขียนเล่าเรื่องอาหาร รวมทั้งสร้างความน่าเชื่อถือให้รับรู้ว่า นี่คือของจริง กินจริง เขียนจริง ไม่ใช่พวกของปลอมที่หวังกินฟรีอย่างเดียว กระทั่งทุกวันนี้ถือว่ามีรายได้เพียงพอสำหรับการเลี้ยงดูครอบครัวให้สุขสบายตามสมควร

เอกลักษณ์ของ @eatwithpete อยู่ที่รูปอาหารต้องสวยชัดเป๊ะ ใช้รูปเป็นสื่อที่เห็นแล้วอยากตามไปกินทันที ส่วนการรีวิวไม่เน้นบรรยายมาก ไม่ตัดสินแบบฟันธงหรือติดดาวว่ารสชาติเป็นอย่างไร ส่วนร้านหรือเมนูใดไม่อร่อยจะไม่ลงเด็ดขาด

“ข้อความที่โพสต์ใช้คำง่ายๆ กันเองๆ เหมือนบอกกับเพื่อน รุ่นพี่รุ่นน้อง แล้วก็จะไม่ติดดาวหรือจัดอันดับความอร่อย รวมทั้งไม่ระบุราคาอย่างเด็ดขาด เพราะรสชาติเป็นเรื่องรสนิยมส่วนบุคคล บางคนติดหวานแต่บางคนติดเค็ม และด้วยความที่เคยทำร้านอาหารญี่ปุ่น บางวันมือเราไม่นิ่ง รสชาติก็เปลี่ยนไปได้”

“เพจของผมก็จะมุ่งเฉพาะเรื่องอาหาร จะไม่บอกว่า พนักงานดีหรือไม่ดี สภาพแวดล้อมเป็นอย่างไร เพราะไม่รู้ว่าก่อนเข้างาน เขาได้เจออะไรมาบ้าง เช่นเดียวกับเรื่องราคา ถือว่าเป็นปัจจัยควบคุมไม่ได้ ถ้าจะให้บอกครบทั้งราคา รสชาติและงานบริการ ผมต้องไปกินอย่างน้อย 5 ครั้ง บางร้านผ่านไป 4 เดือนก็ขยับปรับราคาตามต้นทุนวัตถุดิบ แต่ตัวเลขราคาเดิมที่ระบุไว้ในเพจก็จะยังคงอยู่ ก็จะทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ แต่ผมก็บอกราคาไว้แบบกว้างๆนะ เช่นว่า เฉลี่ยต่อหัว 250-400 บาท”

เปลี่ยนโหมดเด็กอ้วน

ทำความรู้จักพีทสักเล็กน้อย วัยเรียนของเขาจากมัธยม ปริญญาตรีจนถึงปริญญาโทล้วนอยู่ในรั้วจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จากโรงเรียนสาธิตแห่งจุฬาฯ มาอยู่คณะนิเทศศาสตร์เอกพีอาร์แอนด์สปีช แล้วต่อด้วยพีอาร์แอนด์มาร์เก็ตติ้ง

“ตอนจะเข้าปริญญาตรีก็มองระหว่างนิเทศกับอักษรศาสตร์ แต่ด้วยความชอบการ์ตูนญี่ปุ่น จึงคิดว่านิเทศซึ่งมีหลายสาขาน่าจะตอบความชอบของเราได้ เมื่อได้เรียนพื้นฐานแล้วก็รู้สึกอินกับแนวคิดการส่งสารให้ผู้อื่นรับรู้ซึ่งก็คือด้านพีอาร์มากกว่าเมื่อเทียบกับด้านวิทยุหรือโทรทัศน์”

ถือว่าตัดสินใจไม่พลาดกับการเลือกเรียนด้านพีอาร์ เพราะปัจจุบันนำหลักวิชามาใช้ในการเขียนบล็อก ซึ่งเป็นการโปรโมทด้านกินเที่ยวให้มัดใจคนอ่านได้

ชีวิตในของพีทมี 2 สิ่งที่รักมาตั้งแต่เด็ก คือ กินกับการ์ตูนญี่ปุ่นซึ่งรวมถึงเล่นเกม สะสมโมเดลหุ่นยนต์ พอทำงานมีรายได้ก็เก็บเงินซื้อเป็นของสะสม สะสมไปมาก็เปิดพรีออเดอร์เพราะต้องสั่งซื้ออยู่แล้วก็เลยสั่งเพิ่มมาเผื่อขายด้วย บางตัวที่เก็บสะสมไว้เมื่อถึงจังหวะหนึ่ง ราคาขยับขึ้นก็สามารถขายทำกำไร

“นอกจากเป็นบล็อกเกอร์แล้ว ผมยังเปิดร้านออนไลน์ขายของเล่นอย่าง เลโก้ โมเดลตัวการ์ตูน ส่วนใหญ่ก็เป็นซูเปอร์ฮีโรของมาร์เวล เช่น เอ็กซ์เมน สไปเดอร์แมน ฮัลก์ กัปตันอเมริกา ไอรอนแมนและธอร์ แล้วก็ยังมีคอลเลคชันชุดอุลตราแมนและทรานส์ฟอร์มเมอร์ส ซึ่งทางโรงภาพยนต์ก็เช่าไปจัดแสดงต้อนรับทรานส์ฟอร์มเมอร์ส 5 ที่กำลังเข้าฉาย”

พีทเป็นเด็กที่มีความสุขกับการกินและเล่มเกมอยู่หน้าจอ เมื่อร่างกายขยับน้อย น้ำหนักก็เลยพุ่งพรวด 70 กิโลกรัมในวัย 12 ปี แล้วเพิ่มเป็น 108 กิโลกรัมในอีก 2 ปีถัดมาที่กำลังเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ถือว่าเป็นจุดพีคที่สุดแล้วของน้ำหนักตัว

จุดหักเหที่ทำให้ต้องลดน้ำหนักเพราะอยากเรียน รด. แต่คุณสมบัติไม่ผ่านเพราะน้ำหนักเกิน เกรงว่าจะเป็นอันตราย จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ลดน้ำหนัก 30 กิโลกรัม ได้รับการสนับสนุนจากครอบครัวในการสรรหาเมนูและจัดเตรียมอาหารที่เน้น สลัด ปลา อกไก่ เกาเหลา ตามด้วยการปั่นจักรยานวันละ 30 นาที ด้วยความที่อ้วนมากน้ำหนักจึงลงมากและลงเร็ว หลังจากน้ำหนักลดแล้วเพื่อนก็ชวนเล่นกีฬา ฟุตบอล บาสเกตบอล จากเด็กประถมที่กินกับอ่านการ์ตูน พออยู่มัธยมปลายก็เปลี่ยนโหมดพฤติกรรมไปเลย

“ตอนนี้น้ำหนักเริ่มเพิ่มอีกแล้ว ผลพวงจากการกินแล้วไม่ได้ออกกำลังเลย เพราะว่าเพิ่งผ่าตัดหัวเข่า 2 ครั้งในรอบปีด้วยอุบัติเหตุจากการเล่นกีฬาทั้งสองครั้ง เสริมด้วยงานด้านอาหารที่มีมาเรื่อยๆ ก็เลยน้ำหนักเพิ่ม แต่ตอนนี้หัวเข่าที่ผ่าตัดก็หายแล้ว ก็เลยจะให้ความสำคัญกับการออกกำลังกายมากขึ้น อย่างน้อยก็ควบคุมตัวเลขน้ำหนักไม่ให้เพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน”

ความท้าทายของมืออาชีพ

ฟู้ดบล็อกเกอร์มีเพิ่มขึ้นชัดเจน ส่วนมากเป็นมือใหม่ที่มองเพียงว่าได้กินฟรีเที่ยวฟรี บางคนทำเป็นถือกล้องไปขอร้านถ่ายบ้างชิมบ้าง พีทแนะนำร้านค้าว่า หากได้รับการติดต่อจากบล็อกเกอร์ก็ควรจะตรวจสอบบล็อกหรือเพจนั้นว่า ผลงานที่ผ่านมามีหรือไม่ เป็นอย่างไร สไตล์การเขียนเหมาะกับสไตล์ของร้านหรือไม่ เพราะฟู้ดบล็อกเกอร์ก็มีหลากหลาย

เพจกินกับพีทที่จะอายุครบ 6 ปีไม่เคยสร้างปัญหาให้กับเขา ไม่เคยมีเคสที่เป็นดราม่า หลายคนอาจอิจฉาว่าได้กินเที่ยวทุกๆ วัน แต่สุดท้ายที่เขามองไม่เห็นคือ กลับมาบ้านแล้วก็ต้องทำการบ้านซึ่งก็คือ การเขียน ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ยากมากเพราะต้องกลั่นกรองความคิดออกมาเป็นตัวหนังสือ ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ เห็นว่าเขียนสั้นๆ แต่ก็ใช้เวลา 2-3 ชั่วโมงต่อชิ้นงาน

ความท้าทายอีกส่วนคือ ทำอย่างให้มีผู้ติดตามเราเพิ่มขึ้น พีท บอกว่า จะต้องขยันโพสต์คอนเทนท์ด้วยความระมัดระวัง การที่โพสต์อะไรไปบน โลกออนไลน์นั้นแชร์ไปเร็วมาก ควบคุมลำบาก จึงต้องระวังเรื่องที่จะเขียนแล้วสร้างความเสียหายตามมาหรือเรื่องที่จะทำให้เป็นดราม่าได้

“ผมไม่ค่อยเจอเรื่องดราม่า เพราะจะตอบคอนเมนท์กลางๆ ไม่ระเบิดใส่กลับ หรือถ้าเจอคำแรงๆ ก็ส่งสติกเกอร์แบ๊วๆ ตอบไปให้ดูขำๆ ผมเรียนรู้ว่า ทุกข้อความที่โพสต์ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ ถือเป็นความท้าทายอาชีพของคนอาชีพนี้ ความเสี่ยงเกิดได้ตลอด เราต้องมองว่าเป็นแค่ความคิดของคนๆ หนึ่งเท่านั้น ไม่ควรเก็บมาคิดต่อเนื่อง ไม่เครียดกับดราม่านั้น”

มุมคิดเล็กๆ แต่ล้ำลึก เป็นสิ่งที่ซึมซับจากการอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็ก แม้จะเป็นหนังสือการ์ตูนแต่ก็มีสาระแฝงไว้มากมาก 

พีทยังมีหลักคิดที่เอื้อการทำงานและใช้ชีวิตอย่างเป็นสุขคือ “การเปิดรับสิ่งใหม่เรื่อยๆ” เสมือนเป็นดีเอ็นเอพื้นฐานที่ขาดไม่ได้สำหรับอาชีพพิเศษ...บล็อกเกอร์มืออาชีพ