“หนังตะลุง” คุณค่าของศิลปะประจำถิ่น

“หนังตะลุง” คุณค่าของศิลปะประจำถิ่น

ถ้าให้นับศิลปะการแสดงพื้นบ้านของไทยโดยใช้นิ้วทั้ง 2 มือก็คงไม่พอ เพราะในแต่ละพื้นที่ก็มีความเป็นอยู่ วิถีชีวิตที่ไม่เหมือนกัน จึงนำมาสู่วัฒนธรรมที่หลากหลายและศิลปพื้นบ้านที่แตกต่างกัน

หนังตะลุง เป็นการแสดงพื้นบ้านที่อยู่คู่กับชาวปักษ์ใต้มาเป็นระยะเวลานาน เป็นการแสดงที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตและความนิยมในแต่ละยุคสมัย แต่เมื่อเวลาผ่านไป ศิลปะการแสดงประจำถิ่นที่เคยเป็นความบันเทิงที่เข้าถึงได้ง่ายอย่าง “หนังตะลุง” กลับกลายเป็นความบันเทิงที่ต้องจัดหามาในราคาที่ “แพงและยุ่งยากกว่า” เมื่อเทียบกับภาพยนตร์ เพราะหนังตะลุงต้องใช้ทั้งแรงงานคนและฝีมือ ยิ่งเมื่อเข้าสู่ยุคที่ทุกบ้านมีอินเตอร์เน็ต มีโทรทัศน์ ละครโทรทัศน์จึงเป็นความบันเทิงที่มาแย่งความสนใจจากศิลปะพื้นบ้านไปเสียเกือบหมด แต่นี่ก็ไม่ได้ทำให้ อาจารย์วาที ทรัพย์สิน ผู้สืบทอดหนังตะลุงสุชาติ ทรัพย์สิน ล้มเลิกความตั้งใจที่จะเป็นสะพานสานต่อถ่ายทอดเรื่องราวหนังตะลุง

“หนังตะลุง” คุณค่าของศิลปะประจำถิ่น “หนังตะลุง” คุณค่าของศิลปะประจำถิ่น

“เดิมทีคุณพ่อมีเงื่อนไขในการรับศิษย์ เช่นคนที่อยากจะแสดงหนังตะลุง คุณพ่อจะให้ขับกลอนให้ฟังก่อนว่าเสียงดีไหม มีแววไหม หรือคนที่อยากแกะรูปหนัง คุณพ่อก็จะให้วาดรูปไอ้เท่งให้ดูก่อน ถ้าวาดได้ก็แสดงว่ามีทักษะ ถึงจะสอน แต่หลังจากพ.ศ.2527 ที่คุณพ่อไปแสดงหนังตะลุงที่ตำหนักทักษิณราชนิเวศน์ จังหวัดนราธิวาส ให้ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทอดพระเนตร ในครั้งนั้นคุณพ่อนำรูปหนังรวมถึงเครื่องดนตรีไปถวายในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งพระองค์รับสั่งกลับมาว่า

ขอบใจนายหนังที่รักษาของเก่าไว้ให้ อย่าหวงวิชา จงช่วยเผยแพร่ ช่วยถ่ายทอด”

นั่นคือแรงบันดาลใจครั้งแรกที่ทำให้คุณพ่อเปลี่ยนความคิดเสียใหม่ ขอเพียงแค่ได้เผยแพร่และถ่ายทอดวิชา โดยไม่เลือกศิษย์เหมือนแต่ก่อน ว่าเขาต้องเป็นเก่งก็ได้ คุณพ่อตั้งใจให้ทุกคนมีความรู้เรื่องหนังตะลุงทั้งในเชิงช่างและการแสดง รวมทั้งยังเป็นแรงผลักดันสำคัญที่ทำให้เกิด พิพิธภัณฑ์สุชาติ ทรัพย์สิน ขึ้นมา ผมจึงยึดคำที่คุณพ่อสั่งสอนเสมอ ถึงแม้ว่าปัจจุบันจะมีคณะหนังตะลุงปรับเปลี่ยนไปตามยุคสมัย แต่ผมเลือกแล้วที่จะยังคงเดิมไม่แปรเปลี่ยนเพื่ออนุรักษ์มากกว่าการอนุโลมให้หนังตะลุงเป็นอย่างอื่น”

แน่นอนว่าในการแสดงหนังตะลุงแต่ละครั้ง จะต้องใช้ความร่วมมือจากคนหลายคน หลายส่วนประกอบไม่ว่าจะเป็น นายหนัง นักดนตรี เครื่องดนตรี ฉากประกอบ กลอน และมุกตลกต่างๆ แต่สิ่งที่จะขาดไม่ได้คือ “รูปหนัง” คือตัวหนังตะลุงที่นายหนังใช้เชิด รูปหนังจะมีหลายประเภท และมีการลำดับความสำคัญของรูปหนังด้วย ซึ่งแต่ละรูป แต่ละตัวมีเอกลักษณ์ และจุดเด่นที่แตกต่างกันออกไป

“ตัวตลกหนังตะลุง” เป็นอีกหนึ่งตัวละครที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง และเป็นตัวละครที่ขาดไม่ได้ สำหรับการแสดงหนังตะลุง บทตลกคือเสน่ห์ และสีสัน ที่นายหนังจะสร้างความประทับใจให้กับคนดู โดยที่ “บท” ของตัวตลกส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นตัวที่หยิบยกเอาเรื่องราวในปัจจุบันมาล้อเลียน ทั้งเรื่องการเมือง ข่าวสาร ความบันเทิง ความเป็นไปของบ้านเมือง ณ ขณะนั้น มาเสียดสีอย่างเจ็บแสบผ่านการแสดงที่ดูไม่หนักหน่วงและสามารถเข้าใจได้ง่าย

   เมื่อการแสดงจบลง สิ่งที่ผู้ชมจำได้และนำไปเล่าต่อก็คือบทตลก นายหนังตะลุงคนใดที่สามารถสร้างตัวตลกให้มีชีวิตชีวาและเป็นที่จดจำ สามารถทำให้ผู้ชมนำบทตลกนั้นไปเล่าขานต่อได้ไม่รู้จบ จะถือว่านายหนังผู้นั้นประสบความสำเร็จในอาชีพโดยแท้จริง หรือนี่อาจจะเป็นจุดที่ทำให้คนยุคใหม่หันมาสนใจความบันเทิงนี้มากขึ้น เพราะความขำขันเป็นสิ่งอยู่คู่กับสังคมไทยมาอย่างยาวนาน และเป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ง่ายเข้าใจได้อย่างรวดเร็ว

     หนังตะลุงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ได้เพราะการบอกต่อ สืบทอด คุณพ่อสอนผมได้ ผมก็ต้องถ่ายทอดให้ลูกศิษย์ได้เช่นกัน สิ่งเหล่านี้จึงนำปสู่การรักษาศิลปะการแสดงประจำถิ่นที่เราเรียกว่าหนังตะลุงได้อย่างยั่งยืน” อาจารย์วาที ทรัพย์สิน กล่าวทิ้งท้ายด้วยความภูมิใจ

  “หนังตะลุง” คุณค่าของศิลปะประจำถิ่น

“หนังตะลุง” คุณค่าของศิลปะประจำถิ่น

“หนังตะลุง” คุณค่าของศิลปะประจำถิ่น

“หนังตะลุง” คุณค่าของศิลปะประจำถิ่น

“หนังตะลุง” คุณค่าของศิลปะประจำถิ่น

“หนังตะลุง” คุณค่าของศิลปะประจำถิ่น