อนุมัติครูร่วมแก้หนี้วิกฤตแล้ว 3 ราย

อนุมัติครูร่วมแก้หนี้วิกฤตแล้ว 3 ราย

“พิษณุ” เผยอนุมัติครูร่วมแก้หนี้วิกฤตแล้ว 3 รายจากเชียงราย-เพชรบูรณ์-อุตรดิตถ์ พร้อมเอ็มโอยูเพิ่มกับอีก 8 สหกรณ์

ภายหลังที่สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูและบุคลากรทางการศึกษาซึ่งเป็นสมาชิกโครงการสวัสดิการเงินกู้การฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษา (ช.พ.ค.)และ การฌาปนกิจสงเคราะห์ช่วยเพื่อนครูและบุคลากรทางการศึกษากรณีคู่สมรสถึงแก่กรรม (ช.พ.ส.)กับสหกรณออมทรัพย์ครู 16 แห่งใน 15 จังหวัดไปก่อนหน้านี้ เป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาให้แก่กลุ่มที่มีหนี้วิกฤต

เมื่อวันที่ 29 มิ.ย.60 ดร.พิษณุ ตุลสุข รองปลัดกระทรวงศึกษาธิการ(ศธ.) ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการคณะกรรมการสวัสดิการและสวัสดิภาพครูและบุคลากรทางการศึกษา (สกสค.) เปิดเผยว่า ขณะนี้มีผู้ได้รับการอนุมัติให้เข้าร่วมโครงการแล้ว 3 ราย จากจังหวัดเชียงราย จ.เพชรบูรณ์ และจ.อุตรดิตถ์ โดยพิจารณาจากผู้ที่มีหนี้เข้าขั้นสภาวะคับขัน  เช่น บ้านจะถูกยึด คนในครอบครัวมีอาการเจ็บป่วยจนต้องออกจากงาน ที่ดินติดจำนอง เป็นต้น รวมถึงเมื่อคำนวณทรัพย์สินทั้งหมดแล้ว จะต้องเห็นอนาคตว่า สามารถชำระหนี้คืนได้แน่นอน ซึ่งจากนี้ยังมีกระบวนการอื่นๆที่ต้องตรวจสอบ เจรจาก่อนที่ทั้ง 3 รายจะเซ็นสัญญาร่วมกับ สกสค.อย่างเป็นทางการ

อย่างไรก็ตาม ในวันนี้ สกสค. ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการแก้ไขปัญหาหนี้สินครูฯ กับประธานสหกรณ์ออมทรัพย์ 8 แห่ง ดังนี้ สหกรณ์ออมทรัพย์ครูกำแพงเพชร, สหกรณ์ออมทรัพย์ครูชลบุรี ,สหกรณ์ออมทรัพย์ครูชัยนาท, สหกรณ์ออมทรัพย์ครูชัยภูมิ, สหกรณ์ออมทรัพย์ครูพะเยา, สหกรณ์ออมทรัพย์ครูอุทัยธานี,สหกรณ์ออมทรัพย์ครูลพบุรี และสหกรณ์ออมทรัพย์ครูพิจิตร

ปฏิบัติหน้าที่เลขาธิการ สกสค. กล่าวต่อไปว่า ถือเป็นครั้งที่ 2 ซึ่งรวมแล้วมีสหกรณ์ออมทรัพย์ครูเข้าร่วมโครงการกว่า 20แห่งใน 19 จังหวัด ส่วนสหกรณ์ออมทรัพย์ครูที่ได้ลงนามความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาหนี้สินฯ ไปแล้วก่อนหน้านี้ได้มีการตั้งคณะกรรมการระดับจังหวัด จังหวัดละ 7 คนขึ้นแล้ว โดยประกอบด้วย  คณะกรรมาธิการศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายกฎหมาย  ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายการเงิน เป็นต้น  เพื่อคัดกรองผู้เข้าร่วมโครงการฯ ทำหน้าที่เหมือนกับฝ่ายสินเชื่อของธนาคาร รวมถึงทำหน้าที่ดูแลคุณภาพชีวิตครู

“กระบวนการแก้ปัญหาหนี้สินครูครั้งนี้จะต้องไม่ล้มเหลว และสามารถช่วยเหลือครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ตกทุกข์ได้ยากให้ได้รับการฟื้นฟูคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งในช่วงเริ่มต้น จะไม่เน้นปริมาณ แต่จะเน้นอนุมัติเงินกู้ให้ผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนจริงๆ ขณะเดียวกัน จะรอผลการดำเนินงานแก้ไขหนี้สินครูจากโครงการนี้ หากได้รับการตอบรับที่ดีจากเพื่อนครูจะเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการกองทุนเงินสนับสนุนพิเศษตามโครงการสวัสดิการเงินกู้ช.พ.ค.-ช.พ.ส. พิจารณาเพิ่มวงเงินเพื่อใช้แก้ปัญหาหนี้สินครู จากเดิมที่ได้รับอนุมัติให้มาเริ่มดำเนินการในช่วงแรก 1,000 ล้านบาท”ดร.พิษณุ กล่าว