“VAR” การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของเกมลูกหนัง (มีคลิป)

“VAR” การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของเกมลูกหนัง (มีคลิป)

ฟุตบอล ฟีฟ่า คอนเฟดเดอเรชั่นส์ คัพ 2017 คราวนี้ได้เห็นการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยผู้ตัดสินในสนามกันอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย

นั่นคือ  “VAR”  (Video Assistant Referee) หรือเรียกเป็นชื่อภาษาไทยอย่างตรงตัวหน่อยคือระบบการตัดสินโดยใช้ภาพซ้ำ

สำหรับเทคโนโลยีดังกล่าวทางสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติหรือว่าฟีฟ่า ก็หมายมั่นปั้นมือว่าจะได้รับการตอบรับที่ดีก่อนที่ฟุตบอลโลก 2018 ที่รัสเซียจะเริ่มขึ้น และจากนั้นจะนำมาต่อยอดใช้จริงให้ได้ในการแข่งขันทุกระดับในอนาคต

 

เสียงสนับสนุนและวิจารณ์

ระบบ VAR  ถูกทดลองนำมาใช้อย่างเป็นทางการมาแล้วในเกมฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรโลก ระหว่าง เรอัล มาดริด ชนะ คลับ อเมริกา ในปี 2016 ขณะที่ในการแข่งขันระดับสโมสร ฟุตบอล “ฮุนได เอลีก” ลีกสูงสุดของออสเตรเลีย ก็รับเอาระบบ VAR นี้ไปใช้แล้ว

สำหรับเสียงตอบรับในวงการฟุตบอลนั้น ฝ่ายที่สนับสนุนส่วนใหญ่พอใจที่ทำให้วงการลูกหนังมีความเป็นธรรมมากขึ้น สมารถนำมาแก้ไขจังหวะเกมที่มีปัญหาได้ อีกทั้งยังเป็นวิธีการจัดการต่อบรรดานักเตะที่ชอบเล่นนอกเกม หรือ ตบตาผู้ตัดสินได้เป็นอย่างดี รวมไปถึงลดความกดดันให้กับผู้ตัดสินที่ทำหน้าที่ จากแต่เดิมต้องตัดสินใจจังหวะเพียงเสี้ยวนาทีด้วยตัวคนเดียว ก็สามารถปรึกษากับทีมงานที่คอยใช้เทคโนโลยีช่วยตรวจสอบตลอดเวลา 

ล่าสุดแม้แต่ อาร์แซน เวนเกอร์”  ผู้จัดการทีมอาร์เซนอล ยังออกยังออกมายอมรับประโยชน์ของ VAR โดยระบุว่าหากมีการนำมาใช้เร็วกว่านี้ทีมตนเองน่าจะคว้าแชมป์ยูฟ่า แชมเปี้ยนสลีก ไปได้นานแล้ว เพราะต้องเผชิญกับการตัดสินที่ผิดพลาดทำให้เสียประโยชน์มาตลอด

ด้านฝ่ายที่ออกมาวิจารณ์นั้นนำมาโดย “เฟร์นานโด ซานโตส” เทรนเนอร์ทีมชาติโปรตุเกส ที่ออกมาเปิดเผยระหว่างการแข่งขันฟุตบอลคอนเฟดเดอเรชั่นส์ คัพ 2017 ว่าเทคโนโนโลยี  VAR นั้น ค่อนข้างทำให้การแข่งขันมีความสับสน จากเกมที่ทีมเสมอกับ เม็กซิโก 2-2

ขณะที่  “ซีเนดีน ซีดาน กุนซือเรอัล มาดริด ก็ออกมากล่าวในลักษณะคล้ายกันหลังเกมฟุตบอลชิงแชมป์สโมสรโลกว่า VAR ทำให้เกิดความสับสน และกระทบต่อความลื่นไหลของเกม มันตรงข้ามกับความเป็นฟุตบอล รวมไปถึง ลูกา โมดริซ  ออกตัวชัดเจนว่าไม่ชอบ VAR เพราะทำให้สเน่ห์ของเกมฟุตบอลหายไป

 

เปรียบเทียบกับกีฬาประเภทอื่น

การใช้ภาพซ้ำมาช่วยในการตัดสินทางฟีฟ่ายอมรับว่าได้ไอเดียนี้มาจากกีฬาชนิดอื่น  ซึ่งทาง “ESPN” สื่อกีฬาได้วิเคราะห์เทคโนโลยี รีเพลย์ภาพมาเปรียบเทียบกับ VAR เริ่มตั้งแต่ “TMO” (Television Match Official)  ในกีฬา “รักบี้” ซึ่งในการแข่งขันรักบี้ชิงแชมป์โลกปี 2015 ทุกทีมที่แข่งขันเรียกใช้ TMO รวม  132 ครั้ง ซึ่งก็ถูกแฟนรักบี้วิจารณ์อย่างหนัก เพราะทำให้การแข่งขันนานขึ้น รวมไปขัดจังหวะเกมทำให้เสียอรรถรสในการชม แม้ว่าจะมีข้อวิจารณ์มากแต่ก็ไม่ได้ถึงขนาดให้ยกเลิก แต่เรียกร้องให้มีการปรับปรุงแก้ไขให้เหมาะสมขึ้น

ส่วน “เทนนิส” กลับกลายเป็นกีฬาที่เหมาะสมและได้ประโยชน์จากการใช้วิดีโอรีเพลย์อย่างมาก เพราะการแข่งขันเทนนิสมีจังหวะของลูกที่ลงบนเส้นหรือออกไปแล้วที่รวดเร็วยากที่จะมองด้วยสายตาของมนุษย์ในการตัดสิน รวมไปถึงมีการใช้เทคโนโลยี Hawk-eye” ที่ใช้กล้องจากหลายมุมเพื่อสร้างภาพรีเพลย์สามมิติยังสามารถตรวจจับความเร็วของลูกเพื่อช่วยให้นักกีฬาได้บันทึกศักยภาพของตัวเองระหว่างแข่งขันได้อีกด้วย

ขณะที่ “อเมริกันฟุตบอล” ใช้ระบบที่เรียกว่า  Instant Replay  โดยข้อมูลในปี 2016 ที่ผ่านมาผู้ตัดสินมีการเรียกใช้ Instant Replay รวม 345 ครั้ง โดย 143 ครั้ง หรือคิดเป็น 43% จากจำนวนดังกล่าวเป็นการเปลี่ยนการตัดสิน

 

การตอบรับจากทั่วโลก

มีการยืนยันออกมาจาก “กัลโช ซีเรียอา” อิตาลี แล้วว่าในฤดูกาล 2017-2018 จะนำเอา VAR มาช่วยในการตัดสิน ขณะที่ “บุนเดสลีกา” ของเยอรมนี และ “เมเจอร์ ลีก” ซอคเกอร์ ของสหรัฐอเมริกา อยู่ในขั้นตอนการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนซึ่งก็มีท่าทีว่าจะตอบรับนำเอาไปใช้สูง

สำหรับฟีฟ่าประกาศชัดเจนมานานแล้วที่จะใช้ VAR ฟุตบอลโลก 2018 ที่รัสเซีย จากนั้นจะนำมาประเมินเสียงตอบรับและข้อดีข้อเสีย ก่อนที่จะนำไปสู่ที่ประชุมฟีฟ่าคองเกรส เดือนมีนาคม 2019 ซึ่งน่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนมากขึ้นว่าควรจะปรับปรุงอะไร

กระนั้นแม้ว่า VAR จะถูกพัฒนาจนสมบูรณ์แบบทั้งเรื่องการขจัดข้อผิดพลาดรวมถึงไม่ทำให้เกมฟุตบอลเสียอรรถรสและมนเสน่ห์ที่เคยมี ได้ แต่การบังคับใช้ในวงกว้างนั้นจะทำได้มากน้อยแค่ไหนก็ยังเป็นเรื่องน่าสนใจ เพราะความพร้อมของระบบถ่ายทอดสดแต่ละประเทศก็แตกต่างกันโดยเฉพาะด้านกำลังทรัพย์

 

เทคโนโลยี VAR กำลังเป็นประเด็นที่วงการลูกหนังโลกให้ความสนใจมากที่สุดเรื่องหนึ่งในเวลานี้ ซึ่งหากนำเอาแนวคิดด้าน “เทคโนโลยีนิยม” (Technological Determinism) ที่ตั้งคำถามว่า “เทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นทำให้สังคมเกิดความเปลี่ยนแปลง” หรือ “สังคมที่เป็นพลวัตรต่างหากที่มีส่วนทำให้เทคโนโลยีพัฒนาขึ้น? มาเปรียบเทียบเรื่อง VAR กับวงการฟุตบอล

คำถามก็คงคล้ายคลึงกันคือVAR ทำให้วงการฟุตบอลเปลี่ยนแปลงไป” หรือ “วงการฟุตบอลที่เต็มไปปัจจัยที่มากขึ้นต่างหากที่ทำให้เกิดเทคโนโลยี VAR ขึ้นมา”?