DTAC - ซื้อ

DTAC - ซื้อ

ปรับราคาเป้าหมายขึ้นจากดีลพันธมิตรคลื่นความถี่ 2.3 กิกะเฮิร์ซ

ประเด็นการลงทุน

เราปรับราคาเป้าหมายของ DTAC ณ สิ้นปี 2560 ซึ่งประเมินด้วยวิธี DCF เพิ่มขึ้นอีก 6% จาก 68 บาท (หลังรวมผลกระทบทางบวกจากการปรับลดอัตราค่าธรรมเนียมยูเอสโอของกสทช.ลงอีก 1.25% ไปแล้ว) ไปเป็น 72 บาท เพื่อสะท้อนมูลค่าเพิ่มอีก 4 บาทต่อหุ้นจากดีลพันธมิตรคลื่นความถี่ 2.3 กิกะเฮิร์ซของ DTAC ที่ทำร่วมกับทีโอที ถึงแม้ว่าดีลพันธมิตรดังกล่าว จะส่งผลให้มีผลขาดทุนสุทธิในปี 2561 แต่เราแนะให้นักลงทุนมองข้าม และหันไปให้ความสนใจกับการได้มาซึ่งคลื่นความถี่ใหม่ซึ่งจะช่วยหนุนรายได้ในระยะยาว อัตราส่วน EV/EBITDA ของหุ้น DTAC ถือว่าถูกที่สุดซึ่งอยู่ที่ 6.0 เท่าในปี 2560 และ 6.5 เท่าในปี 2561 ถ้าเทียบกับผู้ประกอบการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายอื่นเช่น ADVANC ซึ่งอยู่ที่ 9.5 เท่าในปี 2560 และ 9.0 เท่าในปี 2561 และ TRUE ซึ่งอยู่ที่ 9.7 เท่าในปี 2560 และ 8.7 เท่าในปี 2561 ถ้าหากอิงกับอัตราส่วน EV/EBITDA ในปี 2560 ซึ่งอยู่ที่ 7 เท่าหรือ 8 เท่า เราจะได้ราคาเป้าหมายที่ 63.25 บาท หรือ 74 บาท ตามลำดับ DTAC ยังคงเป็นหุ้นที่เราชื่นชอบมากที่สุดในกลุ่มไอซีที

มูลค่าเพิ่มอีก 4 บาทต่อหุ้นจากดีลพันธมิตรคลื่นความถี่ 2.3 กิกะเฮิร์ซ

ถ้าหากการเซ็นสัญญาคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิร์ซระหว่างทีโอทีและ ADVANC สามารถเกิดขึ้นได้ภายในไตรมาส 3/60 เราคาดว่ามีโอกาสสูงที่การเซ็นสัญญาดีลพันธมิตรคลื่นความถี่ 2.3 กิกะเฮิร์ซระหว่าง DTAC กับทีโอทีจะเกิดขึ้นภายในไตรมาส 4/60 เราคำนวณรวมดีลพันธมิตรคลื่นความถี่ 2.3 กิกะเฮิร์ตกับทีโอทีเข้าไปในประมาณการของเรา และคาดการณ์อัตราการเติบโตของรายได้บริการรวมหลังรวมคลื่นความถี่ 2.3 กิกะเฮิร์ซ (ที่ไม่รวมไอซี) อยู่ที่ 2.1% ในปี 2561 (พลิกกลับจากติดลบ 0.6% ในปี 2560) และ 4.4% ในปี 2562 และ 4.5% ในปี 2563 ค่าใช้จ่ายค่าคลื่นความถี่ 2.3 กิกะเฮิร์ซรายปี ค่าเสื่อมราคาโครงข่ายอุปกรณ์ ค่าใช้จ่ายและค่าเช่าโครงข่ายได้คำนวณรวมเข้ามาไว้ในประมาณการของเราแล้ว รวมถึงงบลงทุนที่จะเพิ่มขึ้นอีก 2-3 พันล้านบาทต่อปีจากงบลงทุนปกติ อัพไซด์ สำหรับประมาณการในปี 2561 จะมาจากต้นทุนด้านกฎระเบียบที่ลดลง เนื่องจากการย้ายแทรฟฟิกของการโรมมิ่งไปอยู่บนโครงข่ายของคลื่นความถี่ 2.3 กิกะเฮิร์ซแทน เราประเมินมูลค่าเพิ่มจากดีลพันธมิตรคลื่นความถี่ 2.3 กิกะเฮิร์ซระหว่าง DTAC กับทีโอทีได้เท่ากับ 4 บาทต่อหุ้น

ลบในระยะสั้น แต่บวกมีนัยสำคัญในระยะยาว

เราเชื่อว่าการที่ DTAC ได้คลื่นความถี่ 2.3 กิกะเฮิร์ซมาจะช่วยหนุนรายได้บริการให้เพิ่มขึ้นในระยะยาว รวมถึงความสามารถในการแข่งขันด้านคุณภาพบริการดาต้า และถือว่าเป็นการเข้าถึงหรือครอบครองแบนด์วิธที่เพิ่มขึ้นสำหรับการทำธุรกิจในระยะยาว ซึ่ง DTAC จะอยู่ในสถานภาพที่มีแรงกดดันน้อยลงถึงแม้ว่าอาจจะมีการไล่ราคาประมูลคลื่นความถี่ขึ้นไปจนสูงมากอย่างไม่มีเหตุผลสำหรับการประมูลคลื่นความถี่ในครั้งถัดไปของกสทช. (ดังเช่นในการประมูลของกสทช.ในครั้งก่อนหน้า) หรือถ้าในกรณีที่หากการประมูลคลื่นความถี่ 1.8 กิกะเฮิร์ซและ 850 เมกะเฮิร์ซล่าช้าออกไปจากครึ่งแรกของปี 2561 ก็ตาม ถึงแม้ว่าดีลนี้อาจจะส่งผลให้ EBITDA ลดลงและค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับคลื่นความถี่ 2.3 กิกะเฮิร์ซอาจจะนำไปสู่ผลขาดทุนสุทธิในปี 2561 ก็ตาม แต่เราแนะนำให้นักลงทุนมองข้ามปัจจัยลบดังกล่าวในช่วงเริ่มต้น และหันไปมองรายได้จากคลื่นความถี่ 2.3 กิกะเฮิร์ซที่ DTAC จะรับรู้อย่างมีนัยสำคัญหลังจาก 2-3 ปี ข้างหน้าเป็นต้นไป


คาดการแข่งขันด้านราคามีแนวโน้มลดลงในการประมูลคลื่นความถี่ถัดไปของกสทช.

เราประเมินว่าน่าจะมีใบอนุญาตโทรศัพท์เคลื่อนที่อีกประมาณ 10 ใบอนุญาตที่กสทช.จะทำการจัดประมูลในช่วงปี 2561-66 ซึ่งได้แก่ คลื่นความถี่ 1.8 กิกะเฮิร์ซ (3 ใบอนุญาต) คลื่นความถี่ 850 เมกะเฮิร์ซ (1 ใบอนุญาต) คลื่นความถี่ 2.6 กิกะเฮิร์ซ (3 ใบอนุญาต) และคลื่นความถี่ 700 เมกะเฮิร์ซ (3 ใบอนุญาต) และเนื่องจากจำนวนใบอนุญาตใหม่ที่จะเปิดให้ประมูลในแต่ละรอบของการประมูลส่วนใหญ่จะใกล้เคียงกับจำนวนผู้ที่เข้าประมูลซึ่งเป็นผู้ประกอบการรายปัจจุบัน เราจึงเชื่อการแข่งขันด้านราคาสำหรับการประมูลในครั้งถัดไปจึงไม่น่าที่จะรุนแรงมากเท่ากับการประมูลคลื่นความถี่ในรอบที่แล้ว ราคาประมูลคลื่นความถี่ในครั้งถัดไปที่ถูกลงจะช่วยลดภาระทางการเงินและส่งผลให้ DTAC มีความยืดหยุ่นทางการเงินมากขึ้นสำหรับการประมูลใบอนุญาตรอบถัดไปในอนาคต