WTTC ชี้ท่องเที่ยวไทยแกร่งสุดใน9อุตฯ

WTTC ชี้ท่องเที่ยวไทยแกร่งสุดใน9อุตฯ

ขณะที่รัฐบาลวางยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้วยวิสัยทัศน์ “ประเทศที่มีความมั่นคงมั่งคั่งยั่งยืน เป็นประเทศพัฒนาแล้วด้วยการพัฒนาตามปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง”

โดยมีการท่องเที่ยวเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมหลักที่จะนำไทยออกจากกับดักรายได้ปานกลางก้าวไปสู่ “ประเทศรายได้สูงขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม”

 ขณะที่ สภาการเดินทางและการท่องเที่ยวโลก (ดับเบิลยูทีทีซี) เปิดเผยผลการศึกษาในเดือน มิ.ย.หัวข้อ “WTTC Benchmarking Report 2017” เปรียบเทียบอุตสาหกรรมการเดินทางและการท่องเที่ยวของไทยรวมอยู่ใน 9 เซกเตอร์หลัก พบว่า สร้างรายได้ต่อจีดีพีกว่า 8.3 หมื่นล้านดอลลาร์ (2.9 ล้านล้านบาท) มากกว่าอุตสาหกรรมที่เป็นเสาหลักมายาวนาน อาทิ การทำเหมือง,ก่อสร้าง,การผลิตเคมีภัณฑ์,การเงิน,การเกษตรและการธนาคาร

หากคิดเฉพาะผลกระทบทางตรงอยู่ที่ 3.7 หมื่นล้านดอลลาร์ (ราว 1.3 ล้านล้านบาท) “สูงที่สุด” เมื่อเทียบกับอีก 8 อุตสาหกรรม และหากเทียบส่วนแบ่งต่อจีดีพีแล้วยังมีขนาดใหญ่กว่าภาคการธนาคารด้วยสัดส่วน 20.6% ต่อ 18.6% เป็นรองเพียงอุตสาหกรรมยานยนต์และค้าปลีก้น แต่มิติในด้าน “การสร้างงาน” การท่องเที่ยวเข้ามาเสริมในตลาดแรงงานได้ดีกว่ายานยนต์แต่น้อยกว่าภาคการก่อสร้าง,เกษตรและค้าปลีก

นอกจากนั้นยังคาดว่าจีดีพีด้านการท่องเที่ยวจะเติบโตต่อปีเฉลี่ย 6.7% ในอีก 1 ทศวรรษ ซึ่งขยายตัวเร็วกว่าเศรษฐกิจของประเทศ ที่คาดการณ์การเติบโต 2.7% และยังสูงกว่าอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับฐานด้านการเกษตรที่คาดเติบโต 1.1% การทำเหมืองที่โต 2% หรือยานยนต์และก่อสร้างที่ประเมินการเติบโตไว้สูงที่ 4.6% และ 4.8% ตามลำดับแต่ก็ยังขยายตัวต่ำกว่าศักยภาพด้านการท่องเที่ยว

เดวิด สโควซิลล์ ประธานดับเบิลยูทีทีซี กล่าวว่าดับเบิลยูทีทีซีเคยจัดทำผลวิจัยพบว่าการท่องเที่ยวไทยสร้างรายได้ต่อจีดีพีไว้ถึง 21% และจากการรับฟังแนวคิดเรื่องการเตรียมลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจากรัฐบาลซึ่งเตรียมไว้เพื่อรองรับการเติบโตด้านท่องเที่ยวในอนาคต ซึ่งได้รับฟังโดยตรงระหว่างที่เข้าร่วมประชุม“ดับเบิลยูทีทีซี โกลบอล ซัมมิท” ที่ไทยเป็นเจ้าภาพครั้งที่ผ่านมา จึงเชื่อว่าไทยมีความเข้าใจประโยชน์ที่จะได้รับจากอุตสาหกรรมนี้เป็นอย่างดี โดยเฉพาะแผนพัฒนาการท่องเที่ยวระดับชาติที่เน้นความยั่งยืนและความมั่นคงน่าจะเป็นกุญแจสำคัญที่ทำให้ไทยเป็นประตูทางเข้าหลักของกลุ่มประเทศอาเซียนได้

ด้าน ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า แม้การท่องเที่ยวจะสร้างรายได้ สร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่อีกด้านหนึ่งก็ก่อผลกระทบต่อความยั่งยืนของระบบนิเวศสังคมและวิถีชีวิติของคนในชุมชน โดยเฉพาะเมื่อสัดส่วนรายได้ต่อจีดีพีเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 8-9% ต่อปี ก็จะยิ่งพลิกผันกับทรัพยากรและการกระจายรายได้ที่ลดลง โดยไทยมีป่าไม้ที่หายไปปีละ 1 ล้านไร่ มากเป็นอันดับ 7 ของเอเชีย และมีปริมาณขยะสะสม 20 ล้านตัน ในปี 2558

นอกจากนั้นยังมีปัญหา ที่สะท้อนผ่านขีดความสามารถในการแข่งขันด้านท่องเที่ยว (จัดอันดับโดย เวิลด์อีโคโนมิคฟอรั่ม) รั้งอันดับ 34 จาก 136 ประเทศ ซึ่งหมวดหมู่ที่คะแนนต่ำได้แก่ความมั่นคงปลอดภัยอยู่ที่ 118 ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม 122 สะท้อนถึง “ศักยภาพการรองรับนักท่องเที่ยวไม่ทันการเติบโตของตลาด

ในแง่การทำตลาดยังมีความท้าทายที่ต้องจัดการอีก 4 ประการ ได้แก่ ค่าใช้จ่ายต่อทริปที่ยังต่ำจากกลุ่มแมส, การท่องเที่ยวกระจุกตัวเชิงพื้นที่และเวลา,  การพึ่งพิงตลาดหลักบางตลาดและภาพลักษณ์ด้านความปลอดภัย

ดังนั้นในโอกาสที่ไทยกำลังขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ชาติการจัดทำยุทธศาสตร์ด้านท่องเที่ยวจึงต้องสามารถเข้ามา “ปิดจุดอ่อน” ทั้งหมด โดยมีเป้าหมายขยับขีดความสามารถในการแข่งขันมาอยู่ในอันดับ 25 ของโลก สร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 4 ล้านล้านบาท หรือติดกลุ่มทำรายได้สูง 1 ใน 7 ของโลกภายในปี 2564 โดยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 40 ล้านคนและคนไทยเดินทางในประเทศ 200 ล้านคนครั้ง

“ปัญหาที่ผ่านมาคือขาดแผนการบริหารจัดการในฟากของสังคมและชุมชนมีธุรกิจเข้ามารองรับในลักษณะตักตวงผลประโยชน์ ใช้ทรัพยากรฟุ่มเฟือย ในฟากทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนักท่องเที่ยวเน้นร่วมกิจกรรมแบบง่ายๆ ถ่ายภาพ,ล่องเรือ,เดินป่า แต่เมื่อมีจำนวนมากแบบไม่มีแผนรองรับเชิงปริมาณไว้จึงเกิดความเสื่อมโทรม”

ภายใต้แผนในเชิงปฏิบัติต่อไปจึงต้องเน้นการพัฒนาเพื่อให้เกิดการกระจายผลประโยชน์ยังคนในท้องถิ่นอย่างเท่าเทียมให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวที่มีส่วนช่วยอนุรักษ์วิถีชีวิตและทรัพยากรชุมชนสร้างความภูมิใจให้กับคนท้องถิ่นดึงให้เข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการทรัพยากรของตัวเองต่อไป