สมาคมบล.ไร้บทลงโทษ 'หยวนต้า' ทำผิดกติกา

สมาคมบล.ไร้บทลงโทษ 'หยวนต้า' ทำผิดกติกา

สมาคมบล.ไร้บทลงโทษ “หยวนต้า” ทำผิดกติกา

สมาคมบล.หวังเป็นคนกลางเจรจาสงบศึกแย่งชิงพนักงานระหว่างบล.หยวนต้า - เมย์แบงก์ ชี้หยวนต้าผิดกฎเกณฑ์แต่ไม่มีบทลงโทษ  ก.ล.ต.ชี้ไม่กระทบอุตสาหกรรม ด้านโกลเบล็กหันรุกปรึกษาไอพีโอลดเสี่ยง

จากกรณีที่ บริษัทเมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย)ฟ้องร้องบริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) จำกัด กรณีการแย่งชิงเจ้าหน้าที่แนะนำการลงทุน 200 ราย นั้น 

นางภัทธีรา ดิลกรุ่งธีระภพ นายกสมาคมบริษัทหลักทรัพย์ เปิดเผยว่า สมาคมมองว่าบล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ทำผิดกฎเกณฑ์ของสมาคมหลังจากบริษัทรับเจ้าหน้าที่แนะนำการลงทุน จากบล.เมย์แบงก์ กิงเอ็งไป แต่ยอมรับว่าปัจจุบันกติกาของสมาคมไม่มีบทลงโทษกับผู้ที่กระทำผิด

“การแย่งเจ้าหน้าที่แนะนำการลงทุนนั้นที่เกิดขึ้นผิดเกณฑ์ของสมาคม ทั้งเรื่องจำนวนเจ้าหน้าที่แนะนำการลงทุนที่มากเกินกำหนด รวมถึงการเสนอผลตอบแทนเพื่อให้มีการย้ายบริษัท ส่วนบทลงโทษนั้น คงไม่สามารถลงโทษได้ เพราะสมาคมไม่มีอำนาจที่จะลงโทษสมาชิกหรือการให้ออกจากสมาคม”

การแก้ปัญหานี้ สมาคมเรียกผู้บริหารทั้ง 2 บริษัท เพื่อหาทางออกร่วมกัน และเบื้องต้นได้เคยหารือไปแล้ว แต่ยังไม่มีความคืบหน้า มองว่าปัญหาการแย่งชิงเจ้าหน้าที่แนะนำการลงทุนจะไม่กระทบกับทั้งอุตสาหกรรม ขณะนี้มีเจ้าหน้าที่แนะนำการลงทุนทั้งระบบอยู่ที่ 8 พันคน แต่มีผู้ที่ทำงานจริง 6-7 พันคน

 ปัจจุบันการแข่งขันคงไม่รุนแรง เพราะบริษัทได้ปรับตัวแล้ว ทั้งการเป็นบล.ออนไลน์ หรือหาบริการใหม่ๆให้กับนักลงทุนเพิ่มขึ้น ขณะที่ค่าธรรมเนียมเพื่อซื้อขายหลักทรัพย์(คอมมิชชั่น)ปัจจุบันยังอยู่ที่ 0.13 - 0.14 %

นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ เปิดเผยว่าก.ล.ต. มองเป็นเรื่องการแข่งขัน ซึ่งอยากเห็นการแข่งขันในการพัฒนาคุณภาพการให้บริการ เพื่อทำให้ตลาดทุนเป็นทางเลือกในการออมและการลงทุนในระยะยาวของประชาชน ทั้งนี้ การแข่งขันดังกล่าวจะต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้อง

 บล. เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) ระบุว่า บริษัทได้ดำเนินการฟ้องร้องทางกฎหมายกับอดีตพนักงาน และอดีตผู้บริหารระดับสูงของบริษัท โดยบริษัทเชื่อว่ามีการกระทำผิดกฎหมาย และผิดจรรยาบรรณต่อบริษัท และได้ยื่นฟ้องรายบุคคลและศาลแรงงาน

นายธนพิศาล คูหาเปรมกิจ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.โกลเบล็ก เปิดเผยว่า จากการแข่งขันของธุรกิจหลักทรัพย์ที่เพิ่มขึ้นทำให้บริษัทเริ่มกระจายความเสี่ยงไปยังธุรกิจอื่นทั้งด้านวาณิชธนกิจ โดยจะนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อย่างต่อเนื่อง โดยจะเน้นในตลาดเอ็มเอไอโดยมีเป้าหมายจะนำเข้าจดทะเบียนปีละ2 บริษัท อย่างไรก็ตามในแผน 4-5 ปีข้างหน้า จะลดสัดส่วนรายได้ธุรกิจนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ลงให้เหลือ50 %นอกจากรายได้ด้านวาณิชธนกิจแล้ว ยังมีรายได้ในส่วนของการจำหน่ายหุ้นกู้เพิ่มเติมด้วย