ประกันรถชู 'อินชัวร์เทค'

ประกันรถชู 'อินชัวร์เทค'

ประกันรถชู "อินชัวร์เทค" ป้องขาดทุน “คาร์พูล” ยอมรับเบี้ยติดลบตั้งแต่ปี 58 จากอัตราความเสียหายสูง

ตลาดประกันภัยรถยนต์ซบเซา “คาร์พูล” เผย เบี้ยติดลบต่อเนื่อง ผลจากอัตราความเสียหายยังสูงเกิน 50% ส่งผลค่ายประกันรถเริ่มปรับตัว ชู 4 โมเดล “อินชัวร์เทค” ป้องขาดทุน

นายเอศ ศิริวัลลภ กรรมการ บริษัท คาร์พูล อินชัวรันส์ โบรกเกอร์ จำกัด กล่าวว่า ตลาดประกันภัยรถยนต์ ยังไม่เติบโตมากนัก เพราะตลาดนี้สุขภาพไม่ค่อยดี พบว่า เริ่มเห็นสัญญาณเบี้ยประกันรถ ที่ติดลบตั้งแต่ปี 2558 ที่ 8.3% เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ (อัตราการสูญเสีย 66% ค่าคอมมิชชั่น 26% และค่าใช้จ่ายอื่นๆ 16%)

ส่วนในปี 2559 และ ปี 2560 คาดว่า ยังติดลบมากขึ้น อาจจะไม่เห็นกลับมาเป็นบวก เนื่องจากอัตราความเสียหายยังอยู่ระดับสูงเกิน 50% อีกทั้งค่าสินไหม ค่าซ่อม ค่าอะไหล่ทยอยเพิ่มขึ้น และต้นทุนทางการตลาดเพื่อระดมลูกค้าก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน ในขณะที่เบี้ยประกันรถปรับลดลงเฉลี่ย 5-10% เช่น หากเป็นรถติดกล้องหรือผู้ขับขี่ปลอดแอลกอฮอล์ เป็นต้น

ภายใต้สถานการณ์ดังกล่าวที่มีแรงกดดันในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ บริษัทประกันภัยรถเริ่มปรับตัวเพื่อหนีตาย โดยหันมาแยกผู้ขับขี่และความเสี่ยงให้ชัดเจน นายเอศ มองว่า เป็นสิ่งที่ยากและท้าทาย เพราะการประกันภัยรถ นับว่าเป็นตลาดใหญ่ของธุรกิจประกันวินาศภัย การแยกผู้ขับขี่ดูเหมือนว่า เป็นการไล่ลูกค้าได้ และหากบริษัทยังมีเป้าหมายเน้นทำยอดเบี้ยประกันและจำนวนฐานลูกค้า ย่อมต้องมีความเสี่ยงขาดทุนจากการรับประกันภัยมากขึ้น

อย่างไรก็ตามอยู่ที่ว่า “ใครจะกล้าก่อนกัน” เริ่มเห็นบริษัทประกันพยายามปรับตัว เริ่มหาเหลี่ยมของตัวเอง แยกกลุ่มลูกค้าและใช้นวัตกรรมมาช่วย ผู้เล่นกลุ่มแรกเริ่ม “Aggregators” เช่น โกแบร์ แรบบิท ถือว่า สำเร็จมาก ไม่ต้องปรับรูปแบบธุรกิจ และเข้าถึงผู้บริโภคง่ายสุด แต่ตอนนี้แข่งราคาสูง ลดแลกแจกแถมหนักหน่วงตลอด 2 ปีมานี้ และปีนี้ยังแข่งราคาลดลงเรื่อยๆ ถือเป็น ต้นทุนธุรกิจ และถึงจุดหนึ่งมองว่า ตลาดน่าจะอิ่มตัว เป็นตลาดที่ไม่ยั่งยืน ยิ่งระดมส่วนแบ่งการตลาด ยิ่งขาดทุน

ต่อมาเริ่มมีอีกกลุ่มเข้ามาเป็นกลุ่มที่ 2 “Single Insurer” เช่น ไดเร็คเอเชียดอทคอม, แฟรงค์ อินชัวรันส์, รู้ใจดอทคอม ในลักษณะธุรกิจโบรกเกอร์ประกันเริ่มจับคู่กับบริษัทประกันพันธมิตรที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิด ช่วยกลั่นกรองการรับประกันในกลุ่มเป้าหมายสามารถบริหารจัดการและเข้าถึงได้ง่าย ทำให้ราคาเบี้ยถูก เช่น เบี้ยถูกที่สุดสำหรับคนขับรถดี นับว่าเป็นโมเดลที่เริ่มเกิดขึ้นในไทย แต่อาจยังแยกความเสี่ยงไม่ได้

จากนั้นบริษัทประกันพยายามเริ่มหาโมเดลใหม่ๆ เพื่อแยกความเสี่ยงมีกลุ่มที่ 3 “Telemetics” เช่น กรุงเทพประกันภัย, ประกันภัยไทยวิวัฒน์, สินมั่นคงประกันภัย นับว่า เป็นโมเดลที่มาแรง ทั้งเทคโนโลยีเทเลเมติกซ์ และประกันรถเปิด-ปิด มองว่า ยังเป็นแนวทางที่ยังต้องรอพิสูจน์ความสำเร็จ แต่สามารถทำให้เบี้ยถูกและค่าสินไหมลดลงได้จริง และยังต้องจับตาพัฒนาการในอนาคตว่าสามารถไปเป็นโมเดลเช่นเดียวกับในต่างประเทศที่นวัตกรรมดังกล่าวสามารถพิสูจน์ความเสี่ยงจากผู้ขับขี่ได้จริง เช่น วัดการขับขี่รถซิ่งหรือไม่ ตีโค้งแรงหรือไม่

และล่าสุดในปีนี้ เกิดกลุ่มใหม่เป็น กลุ่มที่ 4 “Peer-to-Peer” นำร่องโดย คาร์พูล อินชัวรันส์ โบรกเกอร์ พัฒนาระบบดังกล่าวแยกพฤติกรรมผู้ขับ ระดมคนขับรถดีมาร่วมกัน เพื่อทำให้เบี้ยถูกลงเฉพาะคนขับรถดี เท่านั้น แน่นอนว่า น่าจะทำเบี้ยถูกได้มากกว่ากลุ่ม อื่นๆ แต่ยังต้องรอพิสูจน์เช่นกัน

“อินชัวร์เทคมีรูปแบบต่างๆ กันไป Aggregators แข่งราคาสูงเราคงไม่เข้าไปเล่น ส่วน Single Insurer ถือว่าเป็นอินชัวร์เทคที่น่าจะไปได้ไกล และ Telemetics น่าสนใจแต่ยังต้องรอการพิสูจน์เช่นเดียวกับ Peer-to-Peer ที่เข้ามาสร้างมิติใหม่ให้กับตลาดประกันภัยรถในปีนี้”

นายจีรพันธ์ อัศวะธนกุล กรรมการผู้อำนวยการและ ประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. ประกันภัยไทยวิวัฒน์ และในฐานะนายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย มองว่า ประกันภัยยุคดิจิทัล หรืออินชัวร์เทค สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคในยุค 4.0 ต้องการความเป็นอิสระของชีวิตและต้องการควบคุมในรูปแบบของตัวเอง รวมถึงต้องมีความสมาร์ท สลับซับซ้อนทางความคิดและรู้จักใช้เงินให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทำให้คนมีความเสี่ยงต่ำมีทางเลือกมากขึ้น ได้เบี้ยถูกกว่าคนที่มีความเสี่ยงสูง อีกทั้งเทคโนโลยี ยังช่วงบริษัทประกันลดต้นทุน ทั้งค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและการจ่ายสินไหมเมื่อเกิดเหตุ ขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษานำระบบพร้อมเพย์มาใช้ในระบบจ่ายสินไหมด้วย