ศาลสั่ง ‘เดลต้า’ จ่ายภาษี733ล้าน

ศาลสั่ง ‘เดลต้า’ จ่ายภาษี733ล้าน

ศาลสั่ง "เดลต้า" จ่ายภาษี 733 ล้าน เตรียมตั้งสำรองทั้งจำนวนไตรมาส 2 ขณะที่ราคาหุ้นร่วง 3.3%หวั่นกระทบกำไร

เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ เผยศาลฎีกาสั่งให้ชำระเงินภาษี 733.66 ล้าน เล็งเจรจากรมสรรพากรแบ่งชำระเป็นงวด เตรียมตั้งสำรองทั้งจำนวนในงบไตรมาส2 ปีนี้ ยันไม่กระทบผลการดำเนินงาน ขณะที่ราคาหุ้นร่วง 3.30% 

นายอนุสรณ์ มุทราอิศ กรรมการ บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) DELTA  กล่าวว่า ตามที่ ในปี พ.ศ. 2549 บริษัท ได้รับหนังสือประเมินภาษีเงินได้นิติบุคคลจากกรมสรรพากรสำหรับปี 2540 ถึง 2543 เป็นจำนวนเงิน 733.65 ล้านบาท (รวมเบี้ยปรับและเงินเพิ่ม) ซึ่งต่อมาบริษัทได้ดำเนินการยื่นอุทธรณ์ต่อศาลฎีกานั้น บัดนี้ ศาลฎีกาได้อ่านคำพิพากษาหมายเลขที่ 10338/2559 เมื่อวันที่ 26 มิ.ย.แล้ว โดยสรุปได้ว่าบริษัทต้องชำระเงินภาษีตามจำนวนดังกล่าว ให้แก่กรมสรรพากร แต่เนื่องจาก ที่ผ่านมา บริษัทเชื่อว่าจะสามารถชนะคดีได้ จึงมิได้ตั้งสำรองไว้ ทั้งนี้ บริษัทจะพิจารณาตั้งสำรองทั้งจำนวนในงวดไตรมาส 2 ปี 2560 

อย่างไรก็ดี บริษัท เห็นว่าคำพิพากษามิได้ส่งผลกระทบต่อบริษัทมากนัก เนื่องจากบริษัทมีฐานะการเงินและผลการดำเนินงานรวมถึงสภาพคล่องเพียงพอ โดย ณ วันที่ 31 มี.ค.2560 บริษัทมีส่วนของผู้ถือหุ้น 29,247 ล้านบาท มีกำไรสุทธิในไตรมาสแรกปี 2560 จำนวน 1,349 ล้านบาท และเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด 18,979 ล้านบาท (หรือเทียบเท่า 556 ล้านดอลลาร์) ขณะที่ภาษีที่ต้องชำระตามคำพิพากษามีจำนวน 733.65 ล้านบาท (หรือเทียบเท่า 21.5 ล้านเหรียญสหรัฐ) 

นอกจากนั้น เพื่อลดผลกระทบด้านกระแสเงินสดของบริษัทให้น้อยที่สุด บริษัทจะดำเนินการขอเจรจากับกรมสรรพากรเพื่อแบ่งชำระเงินภาษีดังกล่าวต่อไป แต่หากไม่สามารถเจรจาต่อรองได้ก็จะไม่มีผลกระทบต่อการดำเนินงานใดๆ เนื่องจากบริษัทฯมีสภาพคล่องเพียงพอ

ขณะที่ความเคลื่อนไหวราคาหุ้นวานนี้ (28 มิ.ย.) ราคาหุ้นปิดที่ 88 บาท ลดลง 3 บาท หรือ 3.30% ระหว่างวันราคาแตะจุดต่ำสุดที่ 88 บาท มูลค่าการซื้อขาย 165.96 ล้านบาท 

ฝ่ายวิจัย บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส ระบุว่า ได้ปรับยอดขายของเดลต้า ปี 2561 เพิ่มขึ้น จากเดิมให้โต 4.8% เพิ่มเป็น 7.4% เพราะเห็นว่าบริษัทกำลังมุ่งไปที่ตลาด Power Supply ที่กลุ่มอื่นด้วยนอกจากสื่อสาร จะส่งผลดีให้ยอดขายดีขึ้น สุทธิแล้วปีนี้ได้มีการปรับประมาณการลง 5% ส่วนปีหน้าไม่เปลี่ยนแปลง 

แนวโน้มระยะยาวเป็นไปตามแผน ด้วยการเน้นไปที่สินค้าประเภท ชาร์จเจอร์ และพัดลม สำหรับอุตสาหกรรมยานยนต์ Telecom Power รวมทั้ง Power Supply สำหรับ Data Center ในอินเดีย