นักลงทุน2ราย สน 'ไอแบงก์'

นักลงทุน2ราย สน 'ไอแบงก์'

"นักลงทุน" 2ราย สนไอแบงก์ เปิดกว้างเจรจาเงื่อนไขร่วมทุนก่อนส่งคลังเคาะ สคร.ประเมินเอสเอ็มอีแบงก์ออกจากโปรแกรมฟื้นฟูเร็วสุด ตามด้วยการบินไทย

สคร.เผยไอแบงก์ระบุมีนักลงทุน 2 รายสนใจเข้ามาเป็นพันธมิตร ไฟเขียวให้เริ่มเจรจารายละเอียดได้ เปิดกว้างเงื่อนไขสัดส่วนการถือหุ้น แต่ต้องมีความเชี่ยวชาญเรื่องอิสลามิคแบงก์ และมีแผนการทำธุรกิจที่ชัดเจน แจงขั้นตอนส่งคลังเคาะคัดเลือก ก่อนเสนอคนร. คาดได้ข้อสรุปในปีนี้

นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาส ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ(สคร.) กล่าวว่า เมื่อเร็วๆ นี้ทางธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย(ไอแบงก์)ได้เข้ามารายงานว่า มีนักลงทุน 2 รายได้แสดงความสนใจเข้ามาเป็นพันธมิตรซื้อหุ้นไอแบงก์ โดยเป็นนักลงทุนต่างประเทศ 1 ราย ซึ่งก็ได้ให้ทางไอแบงก์ ไปเจรจาในรายละเอียดต่างๆ ทั้งสัดส่วนการถือหุ้น การใส่เงิน รวมถึงแผนธุรกิจ

หากได้ข้อสรุปก็จะต้องส่งให้กระทรวงการคลังพิจารณาคัดเลือก และส่งให้ทางคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.)หรือซูเปอร์บอร์ดที่มีพล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน คาดว่าน่าจะได้ข้อสรุปเรื่องพันธมิตรภายในปีนี้

“คณะกรรมการ หรือบอร์ดไอแบงก์ก็ต้องไปเจรจาเงื่อนไขการเป็นพันธมิตรร่วมทุนกับทั้ง 2 ราย ทั้งเรื่องสัดส่วนการถือหุ้นที่ทางนั้นต้องการ การใส่เงินทุน รวมทั้งแผนธุรกิจ โดยไม่ได้กำหนดสัดส่วนการถือหุ้นของรัฐไว้ว่าจะต้องถือขั้นต่ำเท่าไหร่ เพื่อเปิดกว้างในการเจรจา แต่ในการหาพันธมิตร คุณสมบัติที่สำคัญคือ ต้องมีความเชี่ยวชาญเรื่องอิสลามิคแบงก์ และต้องมีแผนการทำธุรกิจที่ชัดเจน”

ทั้งนี้ปัจจุบันกระทรวงการคลังถือหุ้นไอแบงก์อยู่ 49% ซึ่งในระหว่างการปรับโครงสร้างการถือหุ้นหลังมีพันธมิตรอาจจะทำให้สัดส่วนการถือหุ้นของกระทรวงการคลัง หรือของรัฐเกินกว่านี้ได้ ซึ่งตามกฎหมายไอแบงก์ห้ามรัฐถือหุ้นเกิน จึงต้องมีการแก้ไขกฎหมายให้รัฐถือหุ้นเกิน 50%แต่ไม่ได้หมายความว่ารัฐจะถือหุ้นเกิน 50% เพราะหากพันธมิตรรายใหม่เข้ามา ก็คงต้องการที่จะถือหุ้นเกิน 50%เพื่อให้มีสิทธิในการบริหาร

สำหรับแผนงานด้านอื่นๆนั้น ได้มีการจัดตั้งบรรษัทบริหารสินทรัพย์ หรือเอเอ็มซีของไอแบงก์แล้ว หลังจากนี้ก็จะมีการสรรหาซีอีโอของบรรษัท และดำเนินการโอนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีเอฟ ที่ไม่ใช่หนี้ของอิสลามมาไว้ที่เอเอ็มซีได้ภายในสิ้นเดือนนี้ ส่วนการบริหารหนี้นั้นหากเป็นหนี้ก้อนเล็กก็คงว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญมาบริหาร แต่หากเป็นหนี้ก้อนใหญ่ก็คงจะต้องบริหารเอง

ส่วนการฟื้นฟูรัฐวิสาหกิจแห่งอื่นๆ มีความคืบหน้าไปมาก โดยเฉพาะธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(เอสเอ็มอีแบงก์) ซึ่งมีผลการดำเนินงานดี ปล่อยสินเชื่อได้ตามเป้าหมาย และมีผลกำไร คาดว่าจะเป็นแห่งแรกที่ออกจากแผนฟื้นฟูได้ นอกจากนั้นก็มีบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) ที่มีการดำเนินงานดีขึ้นเป็นอันดับสอง โดยเริ่มกลับมามีกำไรแล้ว