กสทช.ชี้แจงเอเยนซี“ระงับ”โฆษณาแฟลตฟอร์มไม่ขึ้นทะเบียนโอทีที

กสทช.ชี้แจงเอเยนซี“ระงับ”โฆษณาแฟลตฟอร์มไม่ขึ้นทะเบียนโอทีที

กสทช. ชี้แจงกลุ่มเอเยนซี กำกับดูแล “โอทีที” ยึดหลักธรรมาภิบาลดำเนินธุรกิจ ย้ำ “ระงับ”โฆษณา แพลตฟอร์มโอทีที ไม่ลงทะเบียนหลังวันที่ 22 ก.ค.นี้

พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ Over The Top กล่าวว่า วันนี้คณะอนุกรรมการโอทีที ได้เชิญ สมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย สมาคมโฆษณาดิจิทัล (ประเทศไทย) และสมาคมโฆษณาแห่งประเทศไทย รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้องกับการโฆษณาบนบริการโอทีที เข้าร่วมประชุมชี้แจงแนวทางการกำกับดูแลการให้บริการกระจายเสียงหรือโทรทัศน์ หรือให้บริการโครงข่ายในรูปแบบโอทีที

การประชุมของคณะอนุกรรมการโอทีทีในครั้งนี้ ผู้แทนจากสมาคมโฆษณา และผู้ที่เกี่ยวข้องกับการโฆษณาบนบริการโอทีที มีความเข้าใจขั้นตอนและการดำเนินงานของสำนักงาน กสทช. ในการกำหนดให้ผู้ให้บริการโครงข่ายและผู้ให้บริการโอทีทีมาลงทะเบียน เพื่อให้สามารถให้บริการในประเทศไทยต่อไปได้ ซึ่งมีทั้งผู้ประกอบการไทยและต่างประเทศ

โดยผู้เข้าร่วมประชุมเห็นว่า การประกอบกิจการโอทีที ต้องคำนึงถึงเรื่องบรรษัทภิบาลและธรรมาภิบาลในการดำเนินธุรกิจ พร้อมทั้งยินดีสนับสนุนบริการโอทีที ที่ดำเนินการสอดคล้องภายใต้กฎหมายไทยและมีการประกอบกิจการภายใต้บรรษัทภิบาลและธรรมาภิบาลที่ดี

“การประกอบกิจการโอทีทีในประเทศไทย ผู้ประกอบการทุกรายจำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎหมายไทย หากผู้ประกอบการรายใดไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ย่อมถือว่าเป็นการประกอบกิจการที่ไม่สอดคล้องกับกฎหมายไทย ดังนั้น การสนับสนุนการประกอบกิจการที่ไม่ได้อยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย จะส่งผลกระทบต่อบรรษัทภิบาลและธรรมาภิบาลของผู้ที่สนับสนุนด้วย” พ.อ.นที กล่าว

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.ที่ผ่านมา สำนักงาน กสทช. ได้กำหนดให้แพลตฟอร์มอินเทอร์เน็ต 14 ราย ทั้งผู้ประกอบการไทยและต่างประเทศมาลงทะเบียน หรือ แจ้งเป็นผู้ประกอบการโอทีที ซึ่งมีกำหนดให้แจ้งภายใน 30 วัน ในจำนวนนี้มี 11 ราย ยืนยันขึ้นทะเบียน โดยมี 3 แพลตฟอร์มหลักยังไม่ประสานงานมายัง สำนักงาน กสทช. คือ เน็ตฟลิกซ์ เฟซบุ๊ค และยูทูบ โดยเน็ตฟลิกซ์ ได้ติดต่อขอหารือในเดือน ก.ค. ขณะที่เฟซบุ๊ค และยูทูบ ยังไม่ติดต่อเข้ามา

อย่างไรก็ตามหลังวันที่ 22 ก.ค. ที่ครบกำหนด 30 วัน หาก เฟซบุ๊คและยูทูบ ไม่มาลงทะเบียนเป็นผู้ประกอบการโอทีที จะเข้าข่ายเป็นผู้ประกอบการที่ไม่สอดคล้องกับกฎหมายไทย ดังนั้นเพื่อให้เป็นไปตามหลักธรรมาภิบาลการประกอบธุรกิจที่ดี สำนักงาน กสทช. แจ้งให้ผู้ที่ดำเนินธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการซื้อโฆษณาในแพลตฟอร์มดังกล่าวให้ “ระงับ” การซื้อโฆษณา

“กสทช.เชื่อว่า ทั้งเฟซบุ๊คและยูทูบ เป็นผู้ประกอบการที่ปฏิบัติตามกฎหมายของทุกประเทศ และจะเข้ามาลงทะเบียนเป็นผู้ประกอบการโอทีที ในท้ายที่สุด”