ผู้ลี้ภัย... ‘มนุษย์’ ในดินแดนอื่น

ผู้ลี้ภัย...  ‘มนุษย์’ ในดินแดนอื่น

สถานะทางกฎหมายที่ไม่มีใครอยากได้ แต่เมื่อสถานการณ์บังคับ สถานะผู้ลี้ภัยต้องมาพร้อมกับสิทธิมนุษยชน

 

สำหรับผม คำว่า ผู้ลี้ภัย มันก็เป็นคำๆ หนึ่ง ผมไม่สนใจกับคำนั้น เพราะมันดูเหมือนเมินเฉยเรื่องมนุษยธรรม เราอยู่สถานะไหนเราก็เป็นมนุษย์

คำว่า ผู้ลี้ภัย มันก็เหมือนคำอื่นทั่วไป... เป็นวิศวกร เป็นช่างภาพ อะไรแบบนั้น มันเป็นเพียงแค่คำพูด ผมหวังว่าทุกคนจะเข้าใจสิ่งที่ผมพูดในเรื่องความหมายของคำว่า ผู้ลี้ภัย

ทุกคนในโลกนี้ วันหนึ่งอาจจะกลายเป็นผู้ลี้ภัยในประเทศอื่นๆ เหมือนกันก็ได้ มันไม่ใช่คำในเชิงลบ มันเป็นแค่คำที่ใช้อธิบายสถานการณ์ในประเทศของคุณ

ผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย เอ่ยถึงความรู้สึกในหนังสั้นที่บอกเล่าเรื่องราวการดำเนินชีวิตอย่างเงียบเชียบในมุมมืดของสังคมไทย

.....

เรือชีวิตของชาวโรฮิงญาลอยลำอยู่นอกชายฝั่งประเทศไทย กลุ่มชาติพันธุ์จากเมียนมาเดินทางข้ามพรมแดนเพื่อหาสถานที่พักพิงอย่างปลอดภัย ชาวซีเรียหนีตายจากสงครามกลางเมืองมายังดินแดนอื่น... ไม่ว่าประเทศนี้จะมอบสถานะผู้ลี้ภัยให้พวกเขาหรือไม่ ความจริงก็คือ ณ วันนี้ มีผู้ลี้ภัยและผู้แสวงหาที่ลี้ภัยอาศัยอยู่บนแผ่นดินไทยไม่น้อยกว่า 111,241 คน

ในจำนวนนี้เป็นผู้หนีภัยการสู้รบจากประเทศเมียนมา 103,179 คน อาศัยอยู่ในศุูนย์พักพิงชั่วคราวตามแนวชายแดน และผู้ลี้ภัยจากประเทศปากีสถาน เวียดนาม โซมาเลีย อิรัก ปาเลสไตน์ ซีเรีย และอื่นๆ ที่อาศัยอยู่ภายนอกศูนย์พักพิงชั่วคราว โดยกระจายอยู่ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑล อีกประมาณ 7,400 คน คำถามสำคัญที่ถูกหยิบยกขึ้นมาในโอกาสวันผู้ลี้ภัยโลกปีนี้ก็คือ สังคมไทยจะจัดการกับผู้ลี้ภัยเหล่านี้อย่างไร หรือจะปล่อยให้สถานการณ์ยังดำรงอยู่ไม่ต่างกับปัญหาอื่นๆ ที่ถูกซุกไว้ใต้พรม

ไร้สถานะผู้ลี้ภัย

แม้คำว่า “ผู้ลี้ภัย” จะวนเวียนอยู่ในสังคมไทยมานาน แต่ที่ต้องขีดเส้นใต้ให้ชัดๆ คือ ประเทศไทยยังไม่ได้เป็นภาคีในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิของผู้ลี้ภัย พ.ศ.2494 รวมทั้งประเทศไทยไม่มีกฎหมายและนโยบายในการบริหารจัดการผู้ลี้ภัยอย่างเป็นระบบ คนเหล่านี้จึงถูกยัดเยียดสถานะผู้หลบหนีเข้าเมืองผิดกฎหมายให้โดยตลอด ไร้สิทธิขั้นพื้นฐานตามหลักสิทธิมนุษยชน

ศิววงศ์ สุขทวี ผู้แทนเครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ กล่าวในงานเสวนาหัวข้อ"เปิดสถานการณ์ผู้ลี้ภัยกว่า 40 ชาติในประเทศไทย : สู่ความคุ้มครองและการจัดการที่เหมาะสมของรัฐไทย” ซึ่งจัดโดยเครือข่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและคนไร้รัฐ ร่วมกับองค์กรAsylum Access ThailandและDocumentary Club Thailand ว่า

“ปัญหาหนึ่งของไทยก็คือการที่ไม่มีกฎหมายรับรองให้สถานะผู้ลี้ภัยในประเทศไทย ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะการที่ไม่มีสถานะทางกฎหมาย มันหมายถึงชีวิตทางการเมือง ชีวิตทางสังคมแทบไม่มีสิทธิเลย ถ้าไม่มีสัญชาติก็ไม่สามารถทำงานได้ ไม่สามารถใช้บริการอะไรต่างๆ ได้ ผมว่านี่คือพื้นฐานของไทย

และแม้ว่าเรามีกฎหมายที่สามารถให้การคุ้มครองได้ เรามี พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.2522 แต่ผมคิดว่าไทยใช้กฎหมายนี้ในการปราบปรามมากกว่าการปกป้องคุ้มครอง เราสามารถใช้กฎหมายนี้ในการปกป้องคุ้มครองได้ แต่เราเลือกที่จะไม่ใช้ เราเลือกที่จะใช้กฎหมายฉบับนี้ในการปราบปราม ป้องกันไม่ให้เขาเข้ามา คือกดให้คนกลุ่มนี้อยู่ในภาวะนอกกฎหมายต่อไปเรื่อยๆ”

ทั้งนี้สถิติผู้ลี้ภัย ณ สิ้นเดือนพฤษภาคม พ.ศ.2560มีผู้ที่ได้รับการรับรองสถานะเป็นผู้ลี้ภัยจากUNHCRจำนวนประมาณ 4,100คน และผู้แสวงหาที่ลี้ภัยที่ที่รอผลการพิจารณาจากUNHCRประมาณ 3,300 คน ในจำนวนผู้ลี้ภัยนี้มีผู้ถูกกักอย่างไม่มีกำหนด ณ สำนักงานตรวจคนเมืองอยู่ประมาณ 260 คน

สำหรับปัญหาที่ผู้ลี้ภัยต้องเผชิญจากการไม่มีสถานะทางกฎหมายที่ชัดเจน เรื่องแรกคือการทำงาน พวกเขาไม่สามารถขออนุญาตทำงานตามพ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าวได้ อีกเรื่องที่สำคัญ คือการศึกษา แม้ไทยจะมีนโยบายการศึกษาเพื่อปวงชน(Education For All) แต่เด็กผู้ลี้ภัยยังมีปัญหาในภาคปฏิบัติ และที่น่าเป็นห่วงคือการเข้าถึงบริการด้านสุขภาพ เนื่องจากยังไม่มีระบบประกันสุขภาพพื้นฐานที่ผู้ลี้ภัยสามารถเข้าถึงได้

“ในช่วงแรกเขาอาจยังพอมีความสามารถที่จะจ่ายได้ แต่พอยิ่งมีอาการมากขึ้น ต้นทุนก็จะร่อยหรอลงไป เมื่อมีปัญหาสุขภาพ ความสามารถในการจ่ายของเขาก็แทบจะไม่เหลืออยู่ และเมื่อเดินทางไปเข้าโรงพยาบาล หากไม่มีหนังสือเดินทางที่ถูกต้อง ก็มีโอกาสที่เจ้าหน้าที่ฯจะแจ้งตำรวจ มันก็สร้างความเสี่ยงให้กับเขา บางคนก็เลยเลือกเก็บความเจ็บป่วยเอาไว้ต่อไป” ศิววงศ์ กล่าว พร้อมทั้งแสดงความเห็นถึงความจำเป็นในการกำหนดนโยบาย หรือกฎหมายในการบริหารจัดการผู้อพยพลี้ภัย ที่มากไปกว่าการใช้ พ.ร.บ.คนเข้าเมืองว่า จะทำให้สามารถแยกแยะผู้ที่มีความจำเป็นที่จะต้องได้รับการปกป้องคุ้มครองออกจากกลุ่มผู้ที่แฝงตัวเข้ามา

ขณะเดียวกันนโยบายดังกล่าวจะต้องคลอบคลุมทุกกระบวนการ ตั้งแต่การคัดแยก การให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น การสนับสนุนให้ช่วยเหลือตนเองและการคืนประโยชน์สู่สังคมไทยในระหว่างที่ผู้ลี้ภัยอาศัยอยู่ในประเทศไทยเป็นการชั่วคราว

ไร้สิทธิขั้นพื้นฐาน

ค่ายพักพิงชั่วคราวตามแนวชายแดนไทย-เมียนมาที่ดำรงอยู่มานานนับสิบปี ด้านหนึ่งคือหลักฐานที่ยืนยันว่ารัฐบาลไทยก็ไม่ถึงขั้นไร้มนุษยธรรม แต่อีกหลายๆ ด้านก็ต้องยอมรับว่าบทบาทของรัฐไทยต่อสถานการณ์ผู้ลี้ภัยยังไม่เป็นรูปธรรมเท่าไหร่นัก

ดร.ศรีประภา เพชรมีศรี อาจารย์ประจำศูนย์สิทธิมนุษยชนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล แสดงทัศนะว่า แม้ประเทศไทยจะไม่ได้เป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยสถานะผู้ลี้ภัย ปี ค.ศ.1951 แต่ก็เป็นสมาชิก ExCom (Executive Committee) ของ UNHCR ซึ่งหมายความว่าทุกปีที่มีการประชุม ExCom ผู้แทนจากประเทศไทย ผู้แทนจากภาครัฐจะเดินทางไปร่วมประชุม ซึ่งถือว่าประเทศไทยก็ได้มีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายในระดับโลก เพียงแต่ระยะหลังดูเหมือนว่าบทบาทในระดับภูมิภาคจะลดลง

“ที่ผ่านมาต้องบอกว่ารัฐไทยให้ความช่วยเหลือคนที่หนีภัยความตายเข้ามา ถึงแม้ว่ารัฐไทยจะใช้คำว่า ผู้หนีภัยการสู้รบ เพราะการสู้รบในที่นี้ไม่ได้บอกว่ามันเป็นสงคราม แต่มันเป็นความขัดแย้งที่

เมื่อสิ้นสุดการสู้รบ suppose ว่าคนเหล่านั้นต้องเดินทางกลับไปหรือถูกผลักดันกลับ ซึ่งจะทำอย่างนั้นก็ได้ แต่ว่าทุกวันนี้ก็ไม่ได้ทำ ก็ยังยอมให้อยู่ประมาณแสนคนตามชายแดน ในส่วนนี้ก็ต้องแสดงความ... ไม่อยากใช้คำว่า ‘ชื่นชม’ แต่ก็อย่างน้อยที่สุด รัฐไทยก็มีนโยบายที่อะลุ่มอล่วยบนพื้นฐานของมนุษยธรรม

สำหรับในส่วนของภูมิภาค เราก็จะเห็นว่าตั้งแต่ปี ค.ศ.2012 เป็นต้นมา มีคนที่หนีเข้ามาในประเทศไทยโดยเฉพาะทางเรือ คือกลุ่มพี่น้องชาวโรฮิงญาจำนวนมากขึ้น โดยเฉพาะปี2015 ถือว่าเข้ามาเยอะมาก และลักษณะก็มีการเปลี่ยนไป คือแทนที่ส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชาย ก็มีผู้หญิงกับเด็กเข้ามามากขึ้น และมีคนที่เสียชีวิตระหว่างการเดินทางมากขึ้น เป็นที่รับรู้ของนานาชาติ เพราะฉะนั้นรัฐไทยที่ผ่านมาก็จำเป็นต้องลุกขึ้นมาพูดเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเริ่มมีการชวนให้ประเทศในภูมิภาคนี้ หรือนานาชาติมาร่วมประชุมกันว่าจะจัดการเช่นไร”

อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุที่ว่ากฎหมายไทยยังไม่รับรองสถานะ “ผู้ลี้ภัย” การช่วยเหลือคนเหล่านี้จึงอ้างอิงแค่หลักมนุษยธรรม โดยเน้นไปในส่วนที่เกี่ยวเนื่องกับการค้ามนุษย์ นั่นก็ทำให้ผู้ลี้ภัยอีกไม่น้อยที่ไม่ได้ตกเป็นเหยื่อของการค้ามนุษย์หลุดรอดจากกระบวนการให้ความช่วยเหลือ หรือกลับกลายเป็นผู้กระทำผิดทางกฎหมาย ดังนั้นการกำหนดสถานะบุคคลจึงเป็นประเด็นสำคัญลำดับต้นๆ ที่จะช่วยให้ผู้ลี้ภัยได้รับสิทธิขั้นพื้นฐานตามกฎหมาย

“สำหรับคนที่ทำงานด้านนี้เราก็จะพยายามผลักดันว่า คุณต้องมี status identification อย่างน้อยที่สุดเราควรจะได้รู้ว่าเขามีสถานะอะไร การรู้ว่าเขามีสถานะอะไร มันจะทำให้คุ้มครองได้มากขึ้น ทำให้เขาได้สิทธิตามสถานะที่เขาเป็น เช่น ถ้าเป็นสถานะผู้ลี้ภัย อย่างน้อยที่สุดถึงแม้เราจะไม่ได้เป็นภาคีว่าด้วยอนุสัญญาสถานะผู้ลี้ภัย แต่ต้องไม่ลืมว่ารัฐไทยเป็นภาคีกฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ตั้ง 7 ฉบับ

กฎหมายระหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิมนุษยนชนให้ความคุ้มครองคนทุกคนที่อยู่ในประเทศไทยไม่ว่าคุณจะเป็นใคร ไม่ว่าคุณจะมีสถานะอะไรหรือไม่มีสถานะอะไร หรือแม้แต่กฎหมายไทยก็หลายฉบับที่เป็นกฎหมายที่ดี ไม่ว่าจะเป็น พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ร.บ.การศึกษา ที่เปิดให้เด็กทุกคนในประเทศไทยเข้าถึงการศึกษาได้ หรือ พ.ร.บ.ว่าด้วยทะเบียนราษฎร์ก็บอกว่าเด็กทุกคนที่เกิดในประเทศไทยสามารถแจ้งเกิดได้ เป็นต้น เพราะฉะนั้นถ้าเรามีกฎหมายที่คุ้มครองและให้บริการทางสังคมที่ดีในระดับนึง ถ้ามีการ identify ก็น่าจะเป็นประโยชน์”

ภายใต้เงื่อนไขดังกล่าว ดร.ศรีประภา ตั้งความหวังไว้ว่าถ้ารัฐไทยมีนโยบายที่ชัดเจนและมุ่งแก้ปัญหาระยะยาวมากขึ้นก็จะทำให้เราสามารถจัดการปัญหาตรงนี้ได้ดีขึ้น

(ไม่)ไร้ทางออก

หลายทศวรรษของการแก้ปัญหาผู้ลี้ภัยในไทยที่นับวันจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น แม้แต่ละย่างก้าวจะดูเชื่องช้า แต่ล่าสุดก็มีแสงสว่างเล็กๆ ตรงปลายอุโมงค์ นั่นคือ มติคณะรัฐมนตรีที่เห็นชอบให้จัดตั้งกลไกการคัดกรองผู้ลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมายและผู้ลี้ภัย เมื่อวันที่ 10 มกราคม พ.ศ.2560

“ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่มติครม.ใช้คำว่าผู้ลี้ภัยอย่างเป็นทางการ แล้วพูดถึงการดำเนินการที่ชัดเจนขึ้นมา ตรงนี้ขออนุญาตบอกว่ามันก็เป็นทิศทางที่ดีขึ้นในแง่การจัดการ แต่ว่าประเด็นที่น่าสนใจ คือว่ามันจะทำไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้มั้ย อยู่ที่เป้าหมายของการเมือง เป็นหน้าที่ของรัฐบาลชุดนี้ว่า อยากจะให้ไปในทิศทางอย่างไรบ้าง เพราะถ้าหากว่าตัวกลไกการคัดกรองที่ออกมาแบบนี้ มันขับเคลื่อนด้วยหน่วยงานของรัฐและความมั่นคงที่มีมิติมุมมองอีกแบบนึง การสร้างกลไกการคัดกรองอาจจะไม่ได้นำไปสู่คำตอบที่ชัดเจน” อดิศร เกิดมงคล  ตัวแทนเครือข่ายองค์กรที่ทำงานด้านประชากรข้ามชาติ แสดงความกังวล เนื่องจากที่ผ่านมาไม่มีตัวแทนจากภาคประชาสังคม นักวิชาการ รวมไปถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบ เข้าไปมีส่วนร่วมในกฎหมายนี้เลย

“ฉะนั้นตัวมติครม.ฉบับนี้ที่ประเทศไทยจะไป หนึ่งก็คือ เราจะยังเลี้ยวไปทางที่ท้ายที่สุดประเทศไทยจะจัดการคนตามรูปแบบเดิม คืออ้างหลักมนุษยธรรมเพียงอย่างเดียว หรือเราจะไปอีกทางนึงก็คือ การจัดการคนที่ไม่ใช่คนไทยในอีกรูปแบบนึง คือคำนึงถึงศักยภาพของเขา คำนึงถึงความเป็นมนุษย์ของเขา คำนึงถึงการที่สามารถจะสร้างคุณประโยชน์ให้กับประเทศไทยได้ อันนี้ยังต้องจับตามองกันอยู่”

อย่างไรก็ตามระหว่างที่รอการดำเนินการออกกฎหมายและแนวทางในการคัดกรองผู้ลี้ภัย อดิศร เสนอว่าภาครัฐควรพิจารณาให้มีมาตรการและแนวปฏิบัติระยะสั้นที่จะไม่จับกุมคุมขังกลุ่มผู้ลี้ภัยเปราะบาง ประกอบด้วยเด็กอายุต่ำกว่า18ปี หญิงตั้งครรภ์ ผู้ป่วย และพิจารณาผ่อนผันให้ผู้ลี้ภัยซึ่งถือเอกสารUNHCRพักอาศัยอยู่ในประเทศไทยได้เป็นการชั่วคราว

“กรณีเด็กลี้ภัยอายุต่ำกว่า18ปี นอกจากทางภาครัฐจะไม่จับกุมแล้ว ควรเพิ่มสวัสดิการให้กับเด็กเหล่านี้ ทั้งเรื่องการดูแลผ่านหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รวมถึงการอนุญาตให้ซื้อหลักประกันสุขภาพ และสิทธิการได้เรียนหนังสือ เป็นต้น ทั้งหมดนี้ควรระบุให้ชัดในร่างกฎหมายดังกล่าวด้วย”

ในส่วนของมาตรการระยะยาว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรเร่งรัดปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติคนเข้าเมือง และการจัดทำกลไกการคัดกรองผู้ลี้ภัยตามมติคณะรัฐมนตรี โดยให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารคนเข้าเมืองผิดกฎหมายและผู้ลี้ภัย บนพื้นฐานการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน คำนึงถึงถึงประสิทธิภาพและการปกป้องสิทธิผู้ลี้ภัยเป็นสำคัญ

...ไม่ใช่เพราะเขาเหล่านั้นเป็นผู้ลี้ภัยที่น่าสงสาร แต่เพราะพวกเขาเป็นมนุษย์ที่มีศักดิ์และสิทธิเท่าเทียมกับคนอื่นๆ ไม่ว่าจะบนพื้นที่ใดในโลกใบนี้