เสียง...จากผู้ใกล้ชิดความตาย

เสียง...จากผู้ใกล้ชิดความตาย

อยากรู้ไหม น้องเรไร,เมย์-ภัณฑิรา เทนสิทธิ์ และอุ๋ย บุดดาเบลส.... คิดยังไงกับความตาย

.......................

คนที่เจอเหตุการณ์เฉียดตาย หรืออยู่ในวาระสุดท้ายของชีวิต ส่วนใหญ่มักเจอสัจธรรมบางอย่าง หันมาใช้ชีวิตที่เหลืออย่างมีคุณค่า ซึ่งในงาน Happy death Day งานที่เปลี่ยนวันตายให้กลายเป็นวันสุข ของเครือข่ายพุทธิกา และหลายหน่วยงาน พวกเขามาคุยกันเรื่อง ความตาย

หนึ่งในกิจกรรมที่ถือว่าเป็นไฮไลท์ของงาน คือ The Last Talk : เสียงสุดท้ายจากผู้ใกล้ชิดความตาย

หลากวัย หลายอาชีพ มาคุยกันเรื่องที่คนส่วนใหญ่ไม่กล้าคุย เพื่อให้คนในสังคมเข้าใจว่า ความตายเป็นเรื่องที่คุยกันได้ และตระหนักรู้จะได้ใช้ชีวิตโดยไม่ประมาท

 

บันทึกหน้าสุดท้าย

เพื่อให้เห็นว่า ความตายเป็นเรื่องธรรมดา ทุกคนสามารถพูดได้ ไม่เว้นแม้กระทั่งเด็กวัย 8 ขวบ

ด.ญ.เรไร สุวีรานนท์ เจ้าของผลงานบันทึก เรไรรายวัน ลูกสาว ประชา สุวีรานนท์ กราฟฟิค ดีไซเนอร์ 

เธอเป็น 1 ใน 9 Last Talkers ได้มาร่วมตอบคำถามเรื่องความตายตามประสาเด็ก

พิธีกร : คิดว่าสวรรค์เป็นยังไง

      เรไร :น่าจะเหมือนโลกเราทุกอย่าง แค่มีแต่คนใจดี

พิธีกร : ถ้าวันหนึ่งต้องตาย ?

เรไร : หนูไม่รู้สึกเป็นอะไร เพราะคนเราก็ต้องตาย

พิธีกร:คิดไงกับงานศพของหนู

เรไร: ถ้ามีงานศพ อยากให้ทุกคนได้กินของอร่อยๆ

พิธีกร: ถ้าถึงตอนนั้น หนูจะบันทึกหน้าสุดท้ายว่ายังไง

เรไร : หนูอยากเขียนว่า จบแล้วค่ะ

.....................

อยากตาย แต่ไม่ตาย

ในกลุ่มวัยรุ่น หลายคนคงเคยได้ยินเรื่องราวของ จอมเทียน จันสมรัก 

เธอโตมากับแม่ที่ป่วยเป็นโรคซึมเศร้า ปัจจุบันเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง เธอออกมาเปิดเผยเรื่องราวของตัวเองผ่านเฟซบุ๊ก Jomtian Jansomrag เล่าเรื่องการคิดฆ่าตัวตายและเป็นโรคซึมเศร้า และเวทีแห่งนี้ เธอมีเรื่องเล่า

“สองปีที่ผ่านมา มีคนถามเรื่องนี้เยอะมาก ถามว่าตายดีไหม จะอยู่ไปทำไม”

แล้วเหตุใดเธอถึงอยากฆ่าตัวตาย

ย้อนไปถึงวัยเด็ก เธออยู่กับแม่ที่เป็นโรคประสาท ทำให้ไม่ได้เรียนหนังสือ และแม่ของเธอก้าวร้าวมาก ตำรวจเคยมาจับแม่เธอไปโรงพยาบาลจิตเวช

เธอไม่คิดว่า แม่จะหายป่วย แต่แม่ของเธอก็หายจากอาการซึมเศร้า ทำให้เธอไม่รู้จะมีชีวิตอยู่เพื่ออะไร เพราะแม่อยู่ด้วยตัวเองได้แล้ว

จากวันนั้น เธอจึงเริ่มทำร้ายตัวเอง ตั้งแต่กินยาเกินขนาด และเคยเป็นคนไข้จิตเวชเกือบ 3 ปี แต่ก็ยังทำร้ายตัวเอง

“เคยกินยาสระผม น้ำยาล้างจาน ก็ไม่ตาย จนถึงขีดสุด กรีดข้อมือ ก็เสิร์ชวิธีการในยูทูบ กรีดแล้วก็ขุยเส้นเลือด มันไม่เจ็บ ไม่กลัว แล้วเดินไปโรงพยาบาลบอกหมอว่า “หมอคะหนูกรีดข้อมือมา ช่วยเย็บแผลให้ด้วย” ไม่ตายอีก ก็ไปซื้อยาตัวหนึ่งมา 7 แผง มั่นใจว่ากินแล้วตายแน่ๆ ตอนนั้นกินวันละแผง แล้วไปนั่งในห้องสมุดพื้นไม้เย็นๆ ที่จอมชอบ”

เธอเล่าต่ออีกว่า เมื่อกินยานั้น ตั้งใจว่าจะไปตายที่โรงพยาบาล ตอนนั้นไปเจอหมอฝึกหัดคนหนึ่ง เขาถามด้วยคำถามง่ายๆ ว่า เป็นไงบ้าง อารมณ์ความรู้สึกตอนนั้นรู้สึกว่า เขาห่วงเรา ไม่ได้รักษาตามหน้าที่อย่างเดียว

     “ก็เลยบอกว่า กินยาตัวนี้มา หมอก็บอกว่าไม่ต้องกลัวนะ หมอก็ป่วยเยอะแยะ จากวันนั้นก็ยังอยากตาย แต่ไม่ฆ่าตัวตายแล้ว เพราะตายแล้ว เราไม่รู้ว่าจะเป็นยังไง แต่การอยู่ต่อยังมีเรื่องที่ต้องทำ... อีกอย่างความรัก ทำให้เราไม่หมดหวัง เราก็ได้อยู่กับคนที่เรารักและรักเรา ถ้ามีสองสิ่งนี้เราไม่ตายหรอก”

.......................

วินาทีแห่งความตาย

เมย์-ภัณฑิรา เทนสิทธิ์ นักร้องร็อคเสียงแหบ ที่คว้าแชมป์“ร้องสู้ไฟ”คนเแรก เล่าเรื่องของตัวเอง และตบท้ายด้วยการร้องเพลง

27 ปีกับเหตุการณ์เฉียดตาย 3 ครั้ง ครั้งแรกช่วงวัยรุ่นเดินสายร้องเพลงกลางคืน เจออุบัติเหตุทางรถยนต์ ตอนนั้นกระดูกสันหลังแตก ข้อเท้าแตก

“ตอนนั้นคิดว่า ถ้ารอดมาได้ จะไม่ทำเรื่องร้ายๆ อีก ไม่ทะเลาะกับพ่อแม่ จากเหตุการณ์ครั้งนั้น ทำให้เราไม่ประมาทในการขับรถ”

ส่วนเหตุการณ์ครั้งที่ 2 เธอต้องมารู้จักคำว่า มะเร็ง ตั้งแต่อายุ 19-20 กว่าจะตรวจเจอ ก็เปลี่ยนหมอเปลี่ยนโรงพยาบาลหลายแห่ง

“ตอนแรกหมอบอกว่าเป็นกล้ามเนื้อล้มเหลวแบบเฉียบพลัน จนหมอมาเจอว่าเป็นมะเร็ง 7 วันแรกหดหู่มาก เข้าหาธรรมะ ตอนนั้นหลวงพ่อบอกว่า คนเราเลือกได้ ยอมรับมัน แต่ห้ามยอมแพ้ การเข้าวัดทำให้เราได้อยู่กับตัวเอง จนกระทั่งแฟนมาบอกอีกว่า ไม่มีใครอยากอยู่กับคนใกล้ตายหรอก ถ้าอย่างนั้นฉันต้องใช้ชีวิตแบบไม่ตาย”

ส่วนเหตุการณ์ครั้งที่ 3 เมย์ บอกว่า ผ่านคีโมมาแล้ว จนได้รู้ว่า เป็นมะเร็งต่อมน้ำเหลืองแบบซ้ำซ้อน

“มีแรงผลักดันให้เราอยากอยู่ต่อ อยากบอกว่า กำลังใจสำคัญ การเป็นคนป่วย บางครั้งคนมาเยี่ยมมาร้องไห้ เราต้องมาปลอบคนมาเยี่ยมอีก ต้องเข้าใจใหม่ว่า บางทีคนป่วยต้องการแค่รอยยิ้ม กอด จับมือ ลูบหัว ไม่ต้องมาบอกเขาหรอกว่า “สู้นะ ไหวนะ ผ่านมันไปให้ได้นะ” เป็นสิ่งที่คนป่วยต้องทำอยู่แล้ว สิ่งที่ต้องการคือกำลังใจ ทำอะไรที่มีความสุขร่วมกัน”

ส่วนงานศพของเธอ เธอบอกว่า ชอบสีฟ้า ขอให้มีวงดนตรีด้วย

“มีความสุขคะที่ได้แชร์ความรู้สึก บางทีเราก็ไม่ต้องการคนปลอบใจ แต่เราให้กำลังใจกันได้ วันหนึ่งคุณอาจได้ยินข่าว เมย์ไปอยู่ในที่ที่สบายแล้ว”

..................

ชีวิตนับถอยหลังแล้ว

ผู้หญิงตัวเล็กๆ คนนี้นอนอยู่ในห้องไอซียูมา 4 ปีแล้ว เธอป่วยด้วยโรค SLE แพ้ภูมิตัวเอง และโรคไต ทั้งๆ ที่ชีวิตตอนนี้นับถอยหลัง แต่เธอยังมีรอยยิ้ม

จันทริกา วิมุตตานนท์ ไม่มีโอกาสขึ้นเวทีครั้งนี้ ทั้งๆ ที่ตั้งใจจะมาบอกเล่าเรื่องราวของตัวเองให้หลายคนฟัง หมอไม่อนุญาติให้ออกจากห้องไอซียู และไม่อนุญาติให้ทีมงานเข้าไปถ่ายทำสัมภาษณ์ เธอจึงใช้สมาร์ทโฟน เล่าเรื่องตัวเ่องมาให้ดู

“โรคเอสแอลอี ทำให้จอยผมร่วง หน้าบวม มีข้อจำกัดเยอะ จนทำให้จอยไปโรงเรียนไม่ได้ ตอนนั้นจอยกลัวคนรังเกียจ ไม่อยากเจอใคร เพื่อนๆ มาหาก็ไม่ลงไป จนจอยมาพบว่า จอยยังต้องการเพื่อน

ตอนจอยอยู่ในไอซียู เห็นคนนั้นคนนี้ตาย ก่อนตายก็อยากให้เขาฟังธรรมะ อยากช่วยเขา ก็ทำ จนมาคิดได้ว่า เราไม่อยากให้คนเป็นเอสแอลอีหนีตัวเอง จากที่เราคิดว่า เราไม่มีประโยชน์เลย หมอทำให้จอยรู้สึกมีค่า จนมาทำโครงการคุณช้างจับมือ ทำตุ๊กตาคุณช้างไปให้ผู้ป่วยที่เป็นอัมพาต”

.................................

งานศพออกแบบได้

หลายคนรู้ดีว่า นักร้องหนุ่มคนนี้ใฝ่ธรรมะ ล่าสุด อุ๋ย บุดด้าเบลส หรือ นที เอกวิจิตร บอกสาธารณชนว่า ออกแบบงานศพเอาไว้แล้ว      

“ตอนที่บ้านผมไฟไหม้ เรารู้เลยว่า ชีวิตไม่แน่นอน ตอนนั้นต้องไปนอนกองรวมกันทั้งครอบครัวที่บ้านคนอื่น จนแม่หันไปปฎิบัติธรรม และผมก็ทำตาม เพื่อให้แม่สบายใจ ผมหันมานั่งสมาธิ ยิ่งนั่งทน ก็ยิ่งเจ็บ เพราะผมอยากให้หายปวด กลายเป็นทรมานทั้งกายและใจ จนได้มาเรียนรู้กับพระอาจารย์ครรชิต ท่านบอกว่า อย่าไปหนีความเจ็บป่วย อย่าไปสู้ไปท้าทายมัน ให้ทำใจอุเบกขา จนวันหนึ่งเห็นความเจ็บปวด ก็อยู่กับมันได้ “

     ในเรื่องความตาย เขา บอกว่า ครอบครัวของเขาจะคุยกันว่า ถ้าใกล้ตายจะให้ทำยังไง

     “ผมบริจาคอวัยวะ ร่างกายที่เหลือ ให้เป็นอาจารย์ใหญ่ เพื่อให้คนเรียนรู้ทางโลก อีกอย่างผมอยากให้เอาศพผมนอนในโลงแก้ว เพื่อรีไซเคิ้ลศพให้เกิดประโยชน์สูงสุด ให้คนได้เรียนรู้ทางธรรม ถ้าทำไม่ได้ ก็เผาเป็นตะกอน นิมนต์พระมาสวดแค่วันเดียว ผมไม่เชื่อว่า สวด 7 วันแล้วจะได้บุญ พระมาสวดให้คนมีชีวิตฟัง”