ไก่สายพันธุ์ดี เมืองโคราช

ไก่สายพันธุ์ดี เมืองโคราช

การพัฒนาสายพันธุ์ไก่พันธุ์พื้นเมืองโคราชให้สามารถแข่งขันกับตลาด

ไก่ กับ ไข่ อะไรเกิด ก่อนกัน ?

ประเด็นคำถามนี้ รศ.ดร.อมรรัตน์ โมฬี อาจารย์ประจำสำนักวิชาเทคโนโลยีการเกษตร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี (มทส.) บอกว่า “ไก่เกิดก่อนไข่”

ที่กล่าวเช่นนั้น เนื่องจากงานวิจัยการพัฒนาสายพันธุ์ไก่เนื้อโคราช ที่อาจารย์เป็นหัวหน้าโครงการวิจัยนั้น จะต้องได้ “ไก่สายพันธุ์ดี” มาผสมพันธุ์ และเลี้ยงให้ออกไข่ ก่อนที่จะเป็นไก่ในเวลาต่อมา

ส่วนการพัฒนาสายพันธุ์ไก่เนื้อโคราช เป็นการผสมระหว่างพ่อไก่พันธุ์พื้นเมืองเหลืองหางขาว และแม่พันธุ์ไก่สายพันธุ์ มทส.

“ก่อนที่จะได้ไข่ และ ลูกไก่ จะต้องได้พ่อแม่พันธุ์ก่อน ซึ่งไม่ต่างกับกรณีที่กรมปศุสัตว์ ส่งเสริมเกษตรกรขยายพันธุ์สัตว์เลี้ยงในภูมิภาคต่างๆ โดยนำพ่อและแม่พันธุ์สัตว์เลี้ยงมาให้เกษตรกรเพาะเลี้ยง” อาจารย์อมรรัตน์ ย้ำ

พัฒนาไก่พื้นเมือง

อาจารย์อมรรัตน์ บอกว่า หัวใจสำคัญของการพัฒนาไก่เนื้อโคราช คือ การพัฒนาสายพันธุ์ไก่พันธุ์พื้นเมืองให้สามารถแข่งขันกับตลาด

“เราต้องการมีเครื่องมือให้เกษตรกรได้ประกอบอาชีพที่เป็นอิสระ เกษตรกรจะต้องสามารถแข่งขันกับตลาดได้ ทั้งในแง่ผู้ผลิต และผู้ค้าที่สามารถกำหนดราคาอย่างเป็นธรรม”

เรื่องที่อาจารย์อมรรัตน์ กล่าวสอดคล้องกระแสพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ตอนหนึ่งว่า

“เราไม่ควรให้ปลาแก่เขา แต่ควรจะให้เบ็ดตกปลาและสอนให้รู้จักวิธีตกปลาจะดีกว่า”

ความคาดหวังที่สำคัญอีกเรื่อง ก็คือ ใช้ไก่เป็นเครื่องมือในการยกระดับให้กับเกษตรกรในประเทศ ทั้งในเรื่องการเลี้ยง และการขาย เพราะเกษตรกรในอดีตจะชำนาญในการเลี้ยงมากกว่าการขาย แต่เกษตรกรยุคใหม่จะต้องมีความชำนาญ ทั้งสองเรื่อง หรือแม้แต่การยกระดับจากพ่อค้าแม่ค้าไปเป็นนักธุรกิจ

“ดังนั้นข้อกังวลเรื่องการสูญพันธุ์ของไก่พื้นเมืองในประเทศไทย ที่ไม่ใช่เฉพาะไก่โคราชนั้นลดลงโดยสิ้นเชิง ขณะเดียวกันงานวิจัย ยังช่วยสร้างความมั่นคง เพราะที่ผ่านมาประเทศไทยไม่สามารถผลิตไก่ที่เป็นต้นพันธุ์ได้เอง หากเรายังเชยกับเรื่องนี้ อีกไม่ช้าคนไทยก็จะต้องพึ่งพิงไก่จากต่างประเทศ ในราคาที่สูงขึ้น” อาจารย์อมรรัตน์ กล่าว

ไก่ไขมันต่ำ

ในโรงเรือน ที่พบเห็น เจ้าไก่แจ้สายพันธุ์ลูกครึ่ง ลำตัวสีขาว มีหงอนสีแดงจัดนั้นตัวโต ประเมินด้วยสายตาแล้ว น่าจะมีน้ำหนักมากกว่ากิโล ทั้งที่อายุเพียง 7-8 สัปดาห์

อาจารย์อมรรัตน์บอกว่า ไก่เนื้อโคราชมีคุณสมบัติทนโรค ทนแล้ง ใช้เวลาเลี้ยงเพียงแค่ 2 เดือนกับไก่น้ำหนัก 1.2 กิโลกรัมก็สามารถจับขายได้ ประกอบกับการเลี้ยงง่ายๆ แบบพื้นบ้าน คือ เลี้ยงตามธรรมชาติ และ ระบบโรงเรือน

นอกจากจะโตไว คุณสมบัติด้านรสสัมผัสของเนื้ออยู่ระหว่างกลางของไก่เนื้อกับไก่พื้นเมือง คือ ไม่นุ่มเละเหมือนไก่เนื้อ และไม่เหนียวแข็งเหมือนไก่พื้นเมือง

ฟังแล้วอาจจะงง อาจารย์คนเดิม ย้ำถึงคุณสมบัติพิเศษของไก่เนื้อโคราชอีกว่า เนื้อไก่จะมีความเหนียวแต่นุ่ม เคี้ยวไปแล้วเหมือนมีสปริง เพราะมีคอลลาเจนสูงกว่าไก่เนื้อ 2 เท่า ที่สำคัญมีปริมาณโปรตีนสูง แต่ไขมันต่ำ และยังมีกรดไขมันโอเมก้า-3 ที่มีประโยชน์ต่อร่างกายอีกด้วย จึงเป็นที่ต้องการของตลาดผู้บริโภครักสุขภาพ

ปรับปรุงพันธุ์เพื่อเกษตรกร

ตั้งแต่ปี 2551 เป็นต้นมา สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์โดยกรมปศุสัตว์ พร้อมด้วยสถาบันวิจัยแสงซินโครตรอน (องค์การมหาชน) และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สนับสนุนการทำวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ไก่เนื้อโคราชอย่างต่อเนื่อง

 สนับสนุนการทำวิจัยและพัฒนาสายพันธุ์ไก่เนื้อโคราชอย่างต่อเนื่อง

โดยทีมวิจัยปรับปรุงพันธุ์ไก่เนื้อโคราช ผลิตลูกไก่สายพันธุ์ผสมระหว่างพ่อไก่พันธุ์พื้นเมืองเหลืองหางขาว และแม่พันธุ์ไก่สายพันธุ์ มทส. ที่มีคุณสมบัติที่ดี แล้วนำมาขยายผลให้เกษตรกร ให้สอดคล้องกับนโยบาย “ไทยแลนด์ 4.0”

ปัจจุบันมหาวิทยาลัยขยายการผลิตลูกไก่ส่งเกษตรกรกว่า 44,000 ตัวต่อเดือน ในราคาตัวละ 20 บาท โดยวิสาหกิจชุมชน อำเภอห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ เป็นกลุ่มแรกที่สามารถผลิตลูกไก่ได้เอง

อาจารย์อมรรัตน์ บอกว่า เกษตรกรต้องมาเรียนรู้การใช้เทคโนโลยี ตั้งแต่เรื่องการใช้ตู้อบไข่ หรือ ตู้ฝัก การสังเกตอุณหภูมิ แม้กระทั่งระดับความดังของเสียงรบกวน ก็มีผลต่อการตกไข่ของไก่ ส่วนเรื่องวิธีการเลี้ยงนั้นไม่มีปัญหา

ปัจจุบันสมาชิกชมรมผู้เลี้ยงไก่ห้วยทับทัน สามารถผลิตลูกไก่ส่งให้เครือข่ายราว 30,000 ตัวต่อเดือน ซึ่งในแต่ละโรงเรือนจะมีพ่อแม่พันธุ์ประมาณ 400 ตัว และยังไม่เพียงพอกับความต้องการของสมาชิก