‘สตาร์ท’จากปัญหา ‘อัพ’ด้วยไอเดีย

‘สตาร์ท’จากปัญหา ‘อัพ’ด้วยไอเดีย

เมื่อชาวต่างชาติอยากเรียนทำอาหาร สตาร์ทอัพไทยมองเห็นโอกาสเปิด Cookly.me โซลูชั่นการจองโรงเรียนสอนทำอาหารสำหรับนักท่องเที่ยว สบช่องขยายตัว 20-30% ต่อเดือน ด้าน“อรรชกา” หนุนเปิด Co-Founder Club ดึงต่างชาติร่วมสร้างสังคมสตาร์ทอัพ ติดปีกนักรบเศรษฐกิจใหม่

สตาร์ทธุรกิจจากปัญหา

Cookly.me เป็นเว็บเบสและแอพพลิเคชั่นสำหรับจองคอร์สเรียนของโรงเรียนทำอาหาร ริเริ่มโดยชาวต่างชาติในไทยที่ประสบความยุ่งยากในการจองคอร์สเรียนทำอาหาร จึงร่วมกับเพื่อนชาวไทยพัฒนาระบบการจองดังกล่าว พร้อมทั้งดึงสถาบันทำอาหารและโรงเรียนสอนทำอาหารมาร่วมเป็นเครือข่ายนำเสนอคอร์สเรียนกว่า 250 คอร์สใน 8 ประเทศ 2 ทวีป และมีลูกค้ามากกว่า 65 ประเทศทั่วโลกที่เข้ามาจากการบอกต่อ

“จุดเด่นของเราคือ การผสมผสานระหว่างผู้ร่วมก่อตั้งที่เป็นนักท่องเที่ยว ซึ่งเข้าใจความต้องการที่แท้จริงของนักท่องเที่ยว ในขณะที่เราพัฒนาระบบหลังบ้านที่มีทั้งเว็บและแอพพลิเคชั่น รวมถึงการคัดเลือกพันธมิตรที่เป็นโรงเรียนหรือสถาบันสอนทำอาหารที่เป็นมืออาชีพ ทำให้เป็นที่ยอมรับและประทับใจกับผู้ที่มาใช้บริการ” โกวิทย์ เจริญรัชตพันธุ์ ผู้สร้าง Cookly.me กล่าว

แม้ในตลาดจะเคยมีบริการลักษณะนี้ แต่สมัยก่อนเป็นบริการเสริมจากบริษัททัวร์ที่ส่งนักท่องเที่ยวไปโรงเรียนสอนทำอาหารไทย แต่ไม่ได้เป็นบริการจริงจัง หรือแม้กระทั่งตอนนี้ที่มีสตาร์ทอัพด้านท่องเที่ยว ก็จะเป็นคู่แข่งอ้อมๆ ขณะที่การทำอาหารไทยเป็นกิจกรรมหนึ่งในโปรแกรมเท่านั้น

ความน่าสนใจของ Cookly ทำให้สตาร์ทอัพรายนี้เดินหน้าไปอย่างรวดเร็ว โดยปี 2559 เติบโตถึง 19 เท่า และเป้าในปี 2560 คือการระดมทุนเพื่อขึ้นสู่ซีรี่ส์ เอ ในปี 2561 และรักษาระดับการเติบโตที่ 20-30% ต่อเดือน

Cookly คว้ารางวัลรองอันดับ 1 จากเวที Startup Thailand Pitching Challenge 2017 จากงานสตาร์ทอัพไทยแลนด์ 2017@เชียงใหม่ ภายใต้แนวคิด “ครีเอทีฟวัลเลย์” เน้นถึงความมุ่งมั่นและตั้งใจของรัฐบาลในการขับเคลื่อนและบ่มเพาะ “นักรบเศรษฐกิจใหม่” เป็นการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ตลอดจนเป็นการสร้างความต่อเนื่องของกิจกรรมดังกล่าว ให้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในทางปฏิบัติอย่างแท้จริง

เกี่ยวก้อยต่างชาติเสริมแกร่ง

“งานสตาร์ทอัพฯ ยังกระจายโอกาสให้คนไทยได้เห็นถึงพลังที่แท้จริงของประชาคมสตาร์ทอัพ” นางอรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีกล่าว

พื้นที่เชียงใหม่และกลุ่มจังหวัดทางภาคเหนือมีกลุ่มธุรกิจที่น่าสนใจหลากหลายด้าน เช่น ความงามและสุขภาพ เกษตรและอาหาร การศึกษา การท่องเที่ยวและโรงแรม รวมถึงไอที ซอฟต์แวร์/ดิจิทัลคอนเทนต์ ขณะเดียวกันยังมีสตาร์ทอัพรุ่นใหม่เพิ่มขึ้นจำนวนมากและอย่างรวดเร็วเห็นได้ชัด ถือเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เจริญเติบโตอย่างก้าวกระโดด มีความเป็นสากล สามารถเติบโตออกไปสู่ตลาดโลกได้

แต่เพื่อพัฒนานักรบเศรษฐกิจใหม่เหล่านี้ รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ต้องการสนับสนุนให้เกิด Co-Founder Club ที่จะดึงชาวต่างชาติเข้ามาร่วมเป็นผู้จุดประกายสตาร์ทอัพใหม่ๆ ผ่านการพูดคุยนำประสบการณ์ที่แตกต่างจากพื้นที่ต่างๆ ทั่วโลก มาพัฒนา แลกเปลี่ยนให้สตาร์ทอัพไทยมองและคิดให้ครบทุกมิติ

งานสตาร์ทอัพไทยแลนด์ปีนี้จัดทั้งสิ้น 5 ครั้งใน 5 ภูมิภาค ที่ผ่านมาได้จัดไปแล้ว 3 ครั้ง เริ่มตั้งแต่ภาคตะวันออก อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ภาคใต้ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.ขอนแก่น และครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 ด้วยแนวคิดครีเอทีฟวัลเลย์ มุ่งเน้นด้านนวัตกรรมสร้างสรรค์ และปิดท้ายก็จะจัดที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพมหานคร ระหว่างวันที่ 6-9 ก.ค.นี้ ภายใต้แนวคิด scale up asia วางเป้าหมายที่จะขยายฐานของสตาร์ทอัพ โดยเริ่มต้นในระดับภูมิภาคอาเซียน จนไปถึงระดับเอเชีย