“5จี” จ่อคิวแจ้งเกิดเขย่าโทรคมไทย

“5จี” จ่อคิวแจ้งเกิดเขย่าโทรคมไทย

คาด 2ปี 4จี กินรวบตลาด-แนะไทยเร่งพัฒนารับมือเทคฯใหม่

“อีริคสัน” เปิด “โมบิลิตี้ รีพอร์ท” ฉบับล่าสุด ชี้ใน 2 ปี เทคโนโลยีแอลทีอีกินรวบตลาดไทย โครงข่ายประสิทธิภาพสูง-ไอโอที ตัวจักรขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 แนะไทยเร่งพัฒนาบริการเตรียมพร้อมรับการมา 5 จี คาดปี 2565 ใช้งาน 4จี โตอีก 4 เท่า - 5จี จ่อคิวแจ้งเกิด

นางนาดีน อัลเลน กรรมการผู้จัดการ บริษัท อีริคสัน (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ภายในต้นปี 2562 เทคโนโลยี 4จี จะกลายเป็นเทคโนโลยีหลักสำหรับการเชื่อมต่อบนโทรศัพท์มือถือในประเทศไทย สัดส่วนผู้ใช้งานเกิน 50%

รายงาน “โมบิลิตี้ รีพอร์ท” โดย อีริคสัน ระบุว่า จำนวนผู้ใช้งานแอลทีอีในไทยมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ระหว่างปี 2559 ถึง 2560 จำนวนผู้ใช้จะเติบโต 2 เท่า หรือเกือบ 30 ล้านราย ขณะที่ระหว่างปี 2559-2565 แนวโน้มเติบโตมากถึง 4 เท่า

“ภายในปี 2565 ผู้ใช้แอลทีอีในไทยจะมีสัดส่วนไม่น้อยกว่า 60% ของจำนวนผู้ใช้งานโทรศัพท์เคลื่อนที่ทั้งหมด จากปี 2559 ซึ่งมีผู้สมัครใช้งานประมาณ 20 ล้านราย หรือ20%”

ปัจจัยขับเคลื่อน มาจากอุปกรณ์สื่อสารที่ราคาสมเหตุสมผล แอพพลิเคชั่นที่ถูกพัฒนาโดยคนไทยและต่างชาติ ความต้องการยกระดับประสบการณ์ผู้ใช้ และความเร็วของโครงข่าย

โดยปัจจุบัน ผู้ใช้งานโทรศัพท์มือถือในไทยมีอยู่ราว 90 ล้านราย คิดเป็นสัดส่วนการเข้าถึง 140% ของจำนวนประชากร คาดว่าเมื่อถึงปี 2565 จะเพิ่มไปถึง 100 ล้านราย

ที่ผ่านมา พฤติกรรมการใช้สมาร์ทโฟนของคนไทย ทั้งการใช้งานบริการส่งข้อความ ค้นหาข้อมูลออนไลน์ วีดิโอ และโซเชียลเน็ตเวิร์ค เติบโตอย่างมีนัยสำคัญมาโดยตลอด ที่น่าสนใจวีดิโอยังคงเป็นคอนเทนท์ที่เติบโตแบบก้าวกระโดด ในระดับโลกเมื่อถึงปี 2565 โมบายดาต้าทราฟฟิก จะมาจากวีดิโอสัดส่วนราว 75% เทรนด์ในไทยไม่ต่างกัน

อีริคสันชี้ว่า ยิ่งการใช้งาน 4จี แพร่หลาย ส่งผลให้การใช้ดาต้าโดยเฉพาะวีดิโอเติบโตเพิ่มมากขึ้น ขณะเดียวกันผลักดันภาคธุรกิจนำไปใช้ประโยชน์ โดยเฉพาะอินเทอร์เน็ตออฟธิงส์

บริษัทคาดด้วยว่า 5จี จะแจ้งเกิดในประเทศไทยภายในปี 2563-2565 ดังนั้นขอแนะว่า ต้องเริ่มวางแผนพัฒนาได้แล้ว เนื่องจากไม่ใช่เพียงการยกระดับประสบการณ์ของผู้ใช้งาน แต่ส่งผลต่อการพัฒนาในภาพรวมของทั้งประเทศ

โดยความคืบหน้าขณะนี้ มุมอีริคสันเริ่มแนะนำผลิตภัณฑ์ใหม่ โชว์เคสเทคโนโลยี รวมถึงเข้าไปพูดคุยกับลูกค้าผู้ให้บริการถึงการนำไปใช้ และพร้อมที่จะบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ(เอ็มโอยู)ทำงานร่วมกันในเชิงลึกเพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม

สำหรับ มุมผู้ประกอบการ ทุกวันนี้แต่ละรายต้องเผชิญการแข่งขันที่รุนแรง กดดันด้านเทคนิคที่จะยกระดับการให้บริการ โจทย์สำคัญมีทั้งการยกระดับคุณภาพโครงข่ายพร้อมขยายปริมาณความต้องการการใช้ข้อมูล

นอกจากนี้ บนสมรภูมิไอโอที โอเปอเรเตอร์ต้องสร้างจุดต่าง ภายใต้บทบาทที่เป็นทั้งผู้ให้บริการการเชื่อมต่อ เปิดทางให้เกิดบริการรูปแบบใหม่ๆ ควบคู่ไปกับเป็นผู้สร้างสรรค์การให้บริการ พร้อมแนะว่า การผลักดันนโยบายดิจิทัลไทยแลนด์ต้องประกอบด้วย 3 ปัจจัย คือ 1.พัฒนาโครงข่ายให้มีประสิทธิภาพ เข้าถึงครอบคลุม 2.การสร้างจุดต่างการให้บริการ และ 3.ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะการพัฒนาการใช้อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ รวมไปถึงการพัฒนาโลคอลแอพซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต การเติบโตเศรษฐกิจ รวมถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

ไทยติดอันดับภูมิภาคใช้แอพบนสมาร์ทโฟน
นายโรแบรโต้ บาเล็ตต้า รองประธานและหัวหน้างานฝ่ายขายผลิตภัณฑ์โครงข่าย บริษัท อีริคสัน (ประเทศไทย) จำกัด เสริมว่า ไทยถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 3 ประเทศที่มีการใช้งานแอพพลิเคชั่นบนสมาร์ทโฟนซึ่งพัฒนาโดยท้องถิ่นและที่ให้บริการระดับภูมิภาคของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และโอเชียเนีย โดยแอพที่ได้รับความนิยมส่วนใหญ่เกี่ยวกับการบริการด้านการเงิน การบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ บันเทิง ไลฟ์สไตล์ ดูถ่ายทอดสด โซเชียลเน็ตเวิร์ต การเดินทาง และโปรโมชั่นต่างๆ

“นับเป็นอีกหนึ่งตัวชี้วัดซึ่งบ่งชี้ถึงการพัฒนาในระดับท้องถิ่น แต่ทั้งนี้ยังถือว่าไม่ดีมากพอต่อการผลักดันดิจิทัลไทยแลนด์ และต้องมีการพัฒนาเพื่อใช้งานมากขึ้นโดยเฉพาะในมุมการยกระดับประสิทธิภาพการผลิต เช่น ภาคเกษตรกรรม”

อินเทอร์เน็ตออฟธิงส์ เป็นส่วนประกอบใหญ่ของการขับเคลื่อนนโยบายไทยแลนด์ 4.0 การขยายพื้นที่การให้บริการให้ครอบคลุมอย่างทั่วถึง จะยิ่งช่วยเพิ่มศักยภาพในการทำให้เกิด “ไอโอที ซิตี้” ได้

ข้อมูลระบุว่า เมื่อถึงปี 2565 การเชื่อมต่อของดีไวซ์ที่เกี่ยวเนื่องกับไอโอทีทั่วโลกจะมีไม่น้อยกว่า 1.8 หมื่นล้านเครื่อง และจากไอโอทีดีไวซ์ทั้งหมดสัดส่วน 70% จะเชื่อมต่อโดยเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ