เส้นทางสายเทพเจ้า

เส้นทางสายเทพเจ้า

ไม่ว่าฝนจะตกหนักแค่ไหน แสงแดดจะแผดเผาเพียงใด เราสามารถเดินทางไปสักการะองค์มหาเทพทั้ง 8 แห่งย่านราชประสงค์ได้อย่างปราศจากอุปสรรค ด้วยเส้นทางราชประสงค์วอล์ก ทางเดินลอยฟ้าจากสถานีรถไฟฟ้าชิดลมไปจนถึงห้างแพลตทินั่ม ประตูน้ำ

เส้นทางสายศรัทธา

สืบเนื่องมาจากการเปิดราชประสงค์วอล์ก โครงข่ายเส้นทางเดินเชื่อม 18 สถานที่ประกอบการอย่างไร้รอยต่อ 4 ทิศทาง เริ่มต้นตั้งแต่ปี 2542 ก่อสร้างทางเดินลอยฟ้าจากสถานี้รถไฟฟ้าชิดลม ศูนย์การค้าเกษร ศูนย์การค้าเอราวัณ แบงค็อก และศูนย์การค้าอัมรินทร์ พลาซ่า โดยเชื่อมต่อไปถึงศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์ในปี 2546 ล่าสุดได้ขยายเส้นทางไปถึงแพลตทินั่ม แฟชั่นมอลล์ ประตูน้ำ พร้อมทั้งเชื่อมเข้าสู่เกษรวิลเลจ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ด้วยเหตุนี้ทางสมาคมผู้ประกอบการรัฐวิสาหกิจในย่านราชประสงค์ จึงร่วมมือกับ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย เปิดเส้นทางเดินเที่ยวกรุงเทพฯในกิจกรรม RATCHAPRASONG SHRINE & CULTURE WALK 2017ทางเดินสายศรัทธาที่สามารถสักการะมหาเทพทั้ง 8 พระองค์ในย่านราชประสงค์ได้ภายในเวลา 30 นาที

โดยเริ่มต้นที่ พระพิฆเนศ พระตรีมูรติ ที่ห้างสรรพสินค้าอิเซตัน พระแม่อุมาเทวีแห่งบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ สาขาราชดำริ พระแม่ลักษมี ท้าวจตุโลกบาล แห่งเกษรวิลเลจ พระนารายณ์หรือพระวิษณุ ที่โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล ท้าวอัมรินทราธิราชแห่งศูนย์การค้าอัมรินทร์ พลาซ่า และท้าวมหาพรหมแห่งโรงแรมแกรนด์ ไฮแอท เอราวัณ กรุงเทพฯ

เปิดตำนานเทพเจ้ากับเผ่าทอง

เทพเจ้าองค์แรกที่ประดิษฐานอยู่ที่แยกราชประสงค์ คือ ท้าวมหาพรหม หนึ่งในสามเทพสูงสุดของฮินดู

เทพเจ้า 3 องค์ในศาสนาฮินดู ทำงานสอดคล้องกัน พระอิศวร เป็นเทพเจ้าแห่งการทำลายล้าง ทำให้โลกหมุนได้ พระนารายณ์ เป็นเทพเจ้าแห่งการปกปักษ์รักษา ดูแลโลกหรือปราบยุคเข็ญ และพระพรหม เป็นผู้สร้างโลก”

เผ่าทอง ทองเจือ กล่าวถึงหน้าที่ของเทพทั้ง 3 ที่ได้ชื่อว่าเป็น ผู้ทำลาย ผู้รักษา และผู้สร้าง

พระอัมรินทร์ หรือ พระอินทร์ เป็นเทพที่ได้รับความเคารพทั้งในศาสนาฮินดูและพุทธ ทางฮินดูยกให้พระอินทร์เป็นเทพประจำทิศตะวันออก ในขณะที่คติทางพุทธศาสนานับถือพระอินทร์เป็นเทพสูงสุดรองจากพระพุทธเจ้า”

พระอินทร์เป็นผู้สร้างสรรพสิ่ง ทรงดูแลความทุกข์สุขของมนุษย์โลก เป็นเจ้าแห่งพายุ ฝน และสายฟ้า มีอานุภาพบันดาลใจเกิดเหตุการณ์ต่างๆได้โดยเฉพาะเหตุการณ์ทางธรรมชาติ

ส่วนท้าวจตุโลกบาล ที่ตั้งอยู่บนชั้น 4 ศูนย์การค้าเกษร อาจารย์เผ่าทอง กล่าวว่ามีชื่อปรากฎครั้งแรกในพุทธประวัติตอนมหาภิเนษกรมณ์ (พระพุทธเจ้าออกบวช)

“ขณะที่พระพุทธเจ้าทรงม้ากัณฐกะ เสด็จออกจากเมืองตอนกลางคืน ท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ก็ลอยมารับกีบม้าไว้เพื่อไม่ให้เสียงเกือกม้าดังจนมีคนได้ยิน กับตอนที่ตรัสรู้ ท้าวจตุโลกบาลนำบาตรมาถวายบาตรพระพุทธเจ้า”

สำหรับเทวรูปท้าวจตุโลกบาล ที่ศูนย์การค้าเกษร กล่าวได้ว่าเป็นการสร้างเทพเจ้าประจำทิศทั้งสี่เอาไว้ในองค์เดียว ประกอบด้วย ท้าวเวสสุวัณ (ท้าวกุเวร) เทพประจำทิศเหนือ ท้าววิรุฬหก ดูแลทางทิศใต้ ท้าวธตรฐ ดูแลทิศตะวันออก ส่วนท้าววิรูปักข์ คุ้มครองด้านทิศตะวันออก นอกจากเป็นเทพเจ้าที่คุ้มครองมนุษย์โลกทั้ง 4 ทิศแล้ว ยังเป็นเทพเจ้าแห่งความร่ำรวยอีกด้วย

สักการะท้าวจตุโลกบาลแล้วมากราบขอพร พระลักษมี ที่อยู่ใกล้กัน

พระลักษมี เป็นชายาของพระนารายณ์ แปลว่าผู้กระดิกได้ในน้ำ เนื่องจากมีกำเนิดจากฟองน้ำในการกวนเกษียรสมุทร ฟองน้ำเหล่่านี้ล้วนเป็นนางอัปสร แต่พระลักษมีเป็นนางอัปสรที่มีความงดงามมากที่สุด พระนารายณ์จึงมารับไปเป็นชายา เป็นเทวีแห่งความมั่งคั่ง ร่ำรวยและความอุดมสมบูรณ์

พระอุมา เป็นชายาของพระอิศวร เป็นวีรสตรี ปางหวานช่างปรนนิบัติ แต่ถ้าปางดุร้าย (เจ้าแม่กาลี) ถึงขนาดเหยียบอกพระอิศวรได้เลย” อาจารย์เผ่าทองเล่า

พระแม่อุมา ถือเป็นเทวีแห่งอำนาจวาสนาและบารมี ผู้มีจิตศรัทธามักจะมาของพรในเรื่องความสุขในชีวิตครอบครัว รวมไปถึงการขอให้มีบุตร

พระตรีมูรติ เป็นการรวมของเทพ 3 องค์ ได้แก่ พระอิศวร พระนารายณ์ และพระพรหม คนไทยเราเชื่อกันว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นอวตารของพระนารายณ์ ถ้าดูให้ละเอียดจะพบว่าสัญลักษณ์ของราชวงศ์จักรี คือ จักร อาวุธของพระนารายณ์ ตรีศูล อาวุธของพระศิวะ เรือพระราชพาหนะคือ เรือสุพรรณหงส์ ซึ่งหงส์เป็นพาหนะของพระพรหม ดังนั้นในหลวงของเราจึงเปรียบเสมือนพระตรีมูรติ” อาจารย์เผ่าทองกล่าว

เล่ากันสืบมาว่าพระตรีมูรติ เป็นเทพผู้คุ้มครองปกปักษ์รักษาวังเพชรบูรณ์ (ปัจจุบันเป็นที่ตั้งศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์) ในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 วังเพชรบูรณ์เป็นหนึ่งในสถานที่ถูกระเบิดถล่ม แต่ระเบิดไม่ทำงานเชื่อว่าเป็นอานุภาพขององค์พระตรีมูรติ

ปัจจุบันคนไทยนิยมมาขอพรให้สมหวังในเรื่องความรักกันในวันพฤหัสบดร เวลา 9.30 น.และ 21.30 น.

“พระพิฆเนศ เทพเจ้าแห่งความสำเร็จ ในอินเดียบูชาให้เป็นเทพแห่งอุปสรรคขวากน้ำ เพราะว่าถือกำเนิดจากอุปสรรค เพื่อไม่ให้เกิดอุปสรรคในชีวิตคนอินเดียจึงบูชาพระพิฆเนศเวลาเช้าและเย็น

ท่านยังเป็นเทพเจ้าแห่งศิลปะ เพราะเดิมไม่มีโน้ต การรำ การร้องต้องอาศัยการท่องจำ คนทำงานด้านศิลปะจึงมากราบไหว้ เพื่อขอความสำเร็จ”

อาจารย์เผ่าทองกล่าวถึงที่มาของเทพเจ้าทั้ง 8 องค์พอสังเขป โดยทิ้งทายว่า หากเดินทางไปสักการะเทพเจ้าในอินเดีย แต่ละองค์อยู่กันต่างเมือง การเดินทางต้องใช้เวลานาน ในขณะที่มาที่ราชประสงค์ย่านเดียวใช้เวลากราบบูชาขอพรได้ครบทุกองค์ภายในเวลาชั่วโมงเดียว

คู่มือสักการะเทพ

สำหรับผู้ที่ต้องการทราบรายละเอียดของเส้นทาง รวมไปถึงประวัติ เครื่องสักการะ วันเวลาที่เหมาะสมในการขอพร สามารถดาวน์โหลดได้ที่ www.tourismthailand.org/thaifest และ www.bkkdowntown.com หรือ รับหนังสือคู่มือทั้งภาษาไทยและอังกฤษได้ที่ศูนย์ข้อมูลนักท่องเที่ยวใจกลางย่านราชประสงค์ ชั้น 2 ศูนย์การค้าอมรินทร์พลาซ่า และชั้น 1 เกษรวิลเลจ

ท้ายนี้ควรเริ่มต้นบูชาพระพิฆเนศ เป็นลำดับแรก ตามความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ที่สถาปนาให้พระพิฆเนศเป็นเทพองค์แรกที่ต้องบูชาก่อน เพื่อเป็นการบูชาครูผู้ประสาทปัญญาและความสำเร็จ ขจัดอุปสรรคทั้งปวงให้หมดสิ้น แล้วจึงไปสักการะเทพองค์อื่นต่อไป

ส่วนการถวายของให้องค์เทพ เช่น ตุ๊กตา หรือสิ่งของ อาจารย์เผ่าทองแนะว่าที่ถูกต้องควรหันหน้าตุ๊กตา หรือสิ่งของเหล่านั้นไปยังองค์เทพ มิเช่นนั้นจะกลายเป็นว่าหันหลังตุ๊กตาให้เทพ ของบูชาจึงควรหันไปทางองค์เทพ