'รมว.กลาโหม' เร่งกองทัพส่งบัญชีอาวุธ

'รมว.กลาโหม' เร่งกองทัพส่งบัญชีอาวุธ

"รมว.กลาโหม" เร่งกองทัพส่งบัญชีอาวุธเตรียมข้อมูลส่งให้ "นายกรัฐมนตรี" ก่อนบินสหรัฐตามคำเชิญ "ทรัมป์"

พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม แถลงผลการประชุมสภากลาโหม โดยมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พร้อมด้วยผบ.เหล่าทัพ เข้าร่วมการประชุมอย่างพร้อมเพียงว่า ในที่ประชุมได้มีการกล่าวถึงการปฏิรูปกองทัพให้มีความทันสมัยโดยพล.อ.ประวิตรได้ขอให้หน่วยขึ้นตรงกระทรวงกลาโหมและเหล่าทัพ เร่งดำเนินการสรุปจำนวนชนิด ยุทโธปกรณ์ ของกองทัพที่มีอยู่ รวมทั้งความต้องการตามที่จำเป็นในการเสริมสร้างขีดความสามารถของกองทัพ โดยพิจารณาถึงขีดความสามารถของกองทัพประเทศเพื่อนบ้าน และภัยคุกคามในห้วงระยะเวลาต่างๆในการประกอบการพิจารณา และให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จในเดือนมิถุนายนนี้ โดยให้สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมและกองบัญชาการกองทัพไทย ประสานการปฏิบัติร่วมกัน ในการจัดทำข้อมูล เพื่อเตรียมข้อมูลส่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่จะเดินทางไปเยือนสหรัฐฯ ตามคำเชิญของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ กระทรวงกลาโหม

ทั้งนี้ เหล่าทัพจะสำรวจข้อมูลยุทโธปกรณ์ว่าทางสหรัฐฯ สนับสนุนช่วยเหลืออะไรเรามาในอดีต และเราต้องการอะไรที่สนับสนุนช่วยเหลือเพิ่มเติมเข้าไป ซึ่งจะดำเนินการไปในคราวเดียวกัน ทั้งยุทโธปกรณ์ที่เป็นฮาร์ดแวร์ ซอฟแวร์ ความจริงประสิทธิภาพของอาวุธสหรัฐฯ ดีมาก แต่บางอย่างก็ไม่ขาย บางอย่างให้เปล่า เช่น หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ก็จะให้มาในโครงการความร่วมมือ ความช่วยเหลือทางทหาร ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ก็อยู่ในแผนพัฒนาขีดความสามารถกองทัพอยู่แล้ว แต่ที่ นายกฯ จะไปสหรัฐฯ เราก็จะแยกว่าส่วนที่มีอยู่คืออะไร และ ส่วนที่จะได้คืออะไร อย่างกองทัพบก มีทั้ง เฮลิคอปเตอร์ ชีนุก ฮ.โจมตีคอบร้า และ ฮ.แบล็คฮอล์ค ก็ต้องคุยทั้งในเรื่องส่งกำลังบำรุงและอะไหล่ เพราะยุทโธปกรณ์บางประเภทไม่มีอะไหล่ ก็ไม่สามารถใช้ได้ ทั้งที่ราคาแพง ทำให้ความมั่นคงไม่ค่อยมี เพราะสหรัฐฯ ก็มีเงื่อนไขค่อนข้างมาก

"ตอนนี้เราเลยต้องถ่วงดุล และไปซื้ออาวุธจากจีน เราก็นำปัญหาที่คุยกับสหรัฐฯ มาคุยกับจีน ว่าต่อไปการซ่อมบำรุงจะมี อะไหล่ให้เรามากน้อยแค่ไหน จะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เราหรือไม่ เราคุยผ่านทูตสหรัฐฯไปแล้วว่าเราอยากได้อาวุธของเขา เราก็จะดูความร่วมมือในการจัดหาร่วมกัน เพราะสหรัฐฯ กับไทย เป็นพันธมิตรร่วมกันมาช้านาน โครงสร้างการจัดหน่วยของไทย หลักนิยม ก็เป็นของสหรัฐฯ" พล.ต.คงชีพ กล่าว.

พล.ต.คงชีพ กล่าวว่า พล.ต.ประวิตร ได้ระบุว่า การปรับโครงสร้างของกองทัพกำหนดให้เป็นนโยบายของกระทรวงกลาโหม ให้กองทัพปฏิรูปทั้งโครงสร้าง รวมถึงการจัดหน่วยการบริหารจัดการและพัฒนากำลังพลยุทโธปกรณ์ให้มีความคล่องตัวเหมาะสมกับการปฏิบัติภารกิจที่หลากหลายโดยมีความคืบหน้า คือได้มีการทบทวน สภาพแวดล้อมของความมั่นคงและจัดทำยุทธศาสตร์ป้องกันประเทศของกระทรวงกลาโหมเสร็จสิ้นแล้วและมีการกำหนดวิสัยทัศน์ การเป็นกองทัพชั้นนำ มีบทบาทด้านความมั่นคงของรัฐ รวมทั้งส่งเสริมความมั่นคงของภูมิภาค พร้อมทั้งกำหนดการเตรียมกำลังและใช้กำลัง