ส่องหนังสายประกวดเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ 2017

ส่องหนังสายประกวดเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ 2017

ยังคงเกาะติดเวทีประกวดภาพยนตร์เมืองคานส์ 2017 กับหนังน่าลุ้น โดยเฉพาะผลงานของผู้กำกับหญิง และเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตผู้หญิงในหนังสายประกวด ที่ได้รับความสนใจมากเป็นพิเศษ

สิ่งที่น่าสนใจประการหนึ่งในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ปีนี้คือมีผลงานของผู้กำกับหญิงและเรื่องราวเกี่ยวกับชีวิตผู้หญิงในหนังสายประกวดมากเป็นพิเศษ ซึ่งหนังประกวดเรื่องเด่นอีกเรื่องที่กำกับโดยผู้กำกับหญิงและเล่าเรื่องราวของตัวละครหญิงเป็นหลักก็คือ The Beguiled ของ Sofia Coppola ซึ่งรีเมคจากหนังชื่อเดียวกันซึ่งกำกับโดย Don Siegel เมื่อปี ค.ศ. 1971

The Beguiled เล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นในโรงเรียนประจำสตรีเล็ก ๆ ในชนบทในช่วงยุคสงครามกลางเมืองในอเมริกา ซึ่งบรรดาสมาชิกต่างวัยในโรงเรียนแห่งนี้ก็มีอันต้องหวั่นไหวและเปลี่ยนพฤติกรรมประจำวันไปเมื่อมีนายทหารหนุ่มหล่อผู้ได้รับบาดเจ็บมาอาศัยเพื่อรับการรักษาบาดแผลที่ขา ซึ่งผู้กำกับ Sofia Coppola ก็ถ่ายทอดออกมาได้อย่างชัดเจนดีว่าสภาวะที่สตรีทั้งหลายถูกดึงดูดด้วยเสน่ห์แห่งความเป็นชายชาติทหารนั้นมันน่ารักน่าเอ็นดูถึงขั้นชวนขบขันได้อย่างไร ซึ่งหนังก็นำเสนอได้ละเมียดอ่อนโยนกว่าฉบับที่ Don Siegel เคยเล่าไว้อย่างไม่ผิดคาด

ส่องหนังสายประกวดเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ 2017

หนังเรื่องนี้ได้ดาราดังอย่าง Nicole Kidman, Kirsten Dunst, Elle Fanning และ Colin Farrell มาร่วมอวดความสวยความหล่อกันบนพรมแดงได้อย่างคับคั่งทีเดียว

แต่หนังเกี่ยวกับผู้หญิงอีกสองเรื่องที่เล่าได้หนักกว่าก็เห็นจะเป็น A Gentle Creature ของผู้กำกับยูเครน Sergei Loznitsa ที่เล่าเรื่องราวการเดินทางไปเยี่ยมสามีที่กำลังถูกจองจำในทัณฑสถานโดยไม่มีความผิด หลังจากที่พัสดุไปรษณีย์ที่เธอส่งไปถูกตีกลับ แต่เมื่อไปถึงเธอกลับถูกกลับปฏิเสธจากเจ้าหน้าที่ไม่ให้เยี่ยมสามีตัวเองโดยไร้สาเหตุ สะท้อนความลึกลับดำมืดของรัฐบาลที่หลายครั้งก็ออกกฎระเบียบปฏิบัติตามอำเภอใจจนกลายเป็นฝันร้ายของผู้หญิงตัวเล็ก ๆ ที่ต้องเดินทางไกลไปยังเมืองที่เธอไม่รู้จักโดยลำพัง

กับอีกเรื่องคือ In the Fade ของผู้กำกับ Fatih Akin จากเยอรมนี ซึ่งก็เล่าถึงการต่อสู้เพื่อความยุติธรรมของตัวละครหญิงติดยาที่ถูกมือระเบิดคร่าชีวิตสามีและลูกน้อยไปภายใต้อุดมการณ์ของกลุ่ม Neo-Nazi ซึ่งก็มาพร้อมฉากการประกอบระเบิดตะปูซึ่งทำได้ง่ายแสนง่าย เพียงแค่ใช้ปุ๋ย สารเคมี ตะปู และ battery switch จากรถเด็กเล่นก็สามารถทำเป็นอาวุธร้ายในการคร่าชีวิตคนได้อย่างไม่น่าเชื่อ

หนังถ่ายทอดเรื่องราวออกมาได้อย่างหนักแน่นและสมจริงจนคนดูที่คานส์เริ่มจะรู้สึกหนาว ๆ ว่าเราสามารถวางระเบิดในที่สาธารณะกันได้ง่าย ๆ ขนาดนี้เลยหรือ?

In the Fade

แต่หนังประกวดอีกเรื่องที่กำกับโดยผู้กำกับหญิงกลับมาในลีลาที่แปลกกว่าเรื่องอื่น ๆ นั่นก็คือ You Were Never Really Here ของผู้กำกับ Lynne Ramsay จากอังกฤษซึ่งดัดแปลงมาจากนิยายชื่อเดียวกันของ Jonathan Ames หนังเล่าชีวิตมือสังหารโหดที่นิยมใช้ค้อนในการปลิดชีพเหยื่ออย่างโหดร้ายทารุณแต่ยังอาศัยอยู่ในบ้านอันแสนอบอุ่นกับคุณแม่วัยชรา โดยเขาเพิ่งจะได้รับใบสั่งให้ตามล่าหาตัวบุตรสาวนักการเมืองดังที่หนีไปค้าประเวณี ณ ซ่องโสเภณีไฮโซในเมืองใหญ่ ซึ่งหนังก็มาในลีลาดิบโหดผิดวิสัยผลงานของผู้กำกับหญิงโดยทั่วไป แม้ว่ามันจะยังแฝงแง่มุมอ่อนโยนระหว่างตัวละครไว้บ้างก็ตาม

ส่วนหนังประกวดที่เป็นตัวแทนจากฝรั่งเศสเองในปีนี้ ก็มีงานที่เล่าถึงประวัติชีวิตของศิลปินดังถึงสองเรื่อง นั่นก็คือ Rodin ที่เล่าเบื้องหลังความคิดและการทำงานของประติมากร Auguste Rodin ของผู้กำกับ Jacques Doillon ซึ่งตัวหนังเองก็อาจจะเชื่องช้าและอาร์ตจ๋าเสียจนเข้าใจยากกว่าทรรศนะทางศิลปะของ Rodin เองเสียด้วยซ้ำ ทำให้มันกลายเป็นหนังประกวดที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์มากที่สุดถึงวิธีการเล่าอันแหวกขนบไม่แคร์ใครของมัน

ส่วนอีกเรื่องคือ Redoutable ผลงานการกำกับของผู้กำกับ Michel Hazanavicius ซึ่งเล่าถึงเรื่องราวเบื้องหลังการทำงานของผู้กำกับ New Wave รุ่นเดอะอย่าง Jean-Luc Godard ขณะกำลังถ่ายทำหนังเรื่อง La chinoise (1967) และได้ Louis Garrel กับ Stacy Martin มารับบทเป็น Jean-Luc Godard และ Anne Wiazemsky ตามลำดับ

เมื่อมองจากงานเสื้อผ้าหน้าผมแล้วต้องขอชมเลยว่า สามารถรังสรรค์ตัวละครออกมาได้คล้ายมากจริง ๆ โดยเฉพาะ Louis Garrel ที่ยอมลงทุนกลายเป็นพ่อหนุ่มเถิกเสน่ห์ไม่ผิดกับ Godard ตัวจริงในยุคนั้นเลย แต่ในส่วนของเนื้อหาก็เห็นได้ว่าตัวบทมุ่งเน้นไปที่ความสัมพันธ์ฉันคนรักระหว่าง Godard กับ Wiazemsky มากกว่าจะตีแผ่เบื้องหลังความคิดการทำงานของพวกเขาอย่างจริงจัง หนังเลยอ่อนจะหวานและแหววจนยากจะเชื่อได้ว่าทั้งคู่จะเคยมี moment ที่หยาดเยิ้มขนาดนั้นกันจริง ๆ

และตัวแทนจากฝรั่งเศสในสายประกวดเรื่องสุดท้ายก็คือ L’amant double ของผู้กำกับ Francois Ozon ซึ่งก็เป็นงานเขย่าขวัญอีโรติกสุดเฟี้ยวซ่า ที่มาในลีลาของ Alfred Hitchcock ผสมกับ David Cronenberg เล่าเรื่องราวของนางแบบสาวสวยที่เบื่องานจนหันมาเป็นคนเฝ้าพิพิธภัณฑ์ศิลปะ เธอใช้ชีวิตอยู่กับสามีซึ่งเป็นจิตแพทย์โดยไม่รู้เลยว่า เขามีน้องชายฝาแฝดที่เป็นจิตแพทย์เหมือนกัน

เมื่อเธอสืบทราบที่อยู่คลินิกของน้องชายสามีได้ เธอจึงแอบเนียนเป็นคนไข้ไปขอรักษา ซึ่งก็นำมาสู่สถานการณ์อันแสนซับซ้อนพิสดาร เนื่องจากพี่น้องฝาแฝดคู่นี้มีความหลังอันน่าสะพรึงคอยหลอกหลอนอยู่

ผู้กำกับ Francois Ozon นำเสนอหนังออกมาได้อย่างโฉบเฉี่ยวสุดเปรี้ยว มีฉากหลอน ๆ จนนึกไม่ถึงให้ดูหลายช่วงตอนกับการผูกเรื่องที่ทั้งประหลาดและซับซ้อนจนกลายเป็นหนังประกวดที่อาจจะดูสนุกและมันที่สุดของเทศกาลในปีนี้เลยทีเดียว

 L’amant double

สำหรับหนังจากค่าย Netflix นอกจาก Okja ของ Bong Joon-ho แล้วก็ยังมี The Meyerowitz Stories (New and Selected) ของผู้กำกับ Noah Baumbach เข้าร่วมประกวดในเทศกาลปีนี้ด้วย หนังเล่าเรื่องราววุ่น ๆ ซึ่งเกิดขึ้นกับครอบครัวของศิลปินประติมากรวัยเกษียณซึ่งรับบทโดย Dustin Hoffman กับบรรดาลูก ๆ หลาน ๆ ซึ่งก็เป็นงานตลกชวนหัวที่ขนดาราดัง ๆ มาร่วมเดินบนพรมแดงได้คับคั่งไม่ว่าจะเป็น Adam Sandler, Ben Stiller, Elizabeth Marvel และ Emma Thompson แต่หนังเล่าเรื่องราวขื่นปนฮาของสมาชิกในครอบครัวศิลปินนี้ก็อาจจะยังมีจริตของหนังฉายทางทีวีอยู่พอสมควร ทำให้การพาดพิงถึงประเด็นต่าง ๆ ยังไม่หนักแน่นและจริงจังอย่างที่ควรเป็น

แต่หนังประกวดอีกเรื่องที่จิกกัดมายาของโลกศิลปะได้เฉียบคมมากกว่าก็คือเรื่อง The Square ของ Ruben Ostlund จากสวีเดน ที่เล่าเรื่องราวยุ่งเหยิงทั้งในเรื่องงาน และเรื่องส่วนตัวของผู้จัดการ gallery ศิลปะหนุ่มใหญ่ ซึ่งเนื้อหาของมันก็แดกดันความหน้าไหว้หลังหลอกของวงการศิลปะร่วมสมัยได้สุดแสบชวนสะใจ ลามไปถึงคำถามสำคัญว่าไม่ว่าอะไรก็อาจกลายเป็นงานศิลปะได้ เพียงแต่เราจะนำมันมาวางไว้ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะ! ซึ่งก็เป็นมุกตลกที่เรียกทั้งเสียงหัวเราะและเสียงชื่นชมจากนักวิจารณ์ทั้งหลายที่คานส์ได้อย่างดีเลยทีเดียว

สำหรับคอหนังสายโหดสายประกวดคานส์ปีนี้ก็ยังมี Happy End กับ The Killing of a Sacred Deer ให้ได้ชมกัน สำหรับเรื่องแรก Happy End ผลงานของ Michael Hanake ก็เป็นการเล่นกับเทคโนโลยีร่วมสมัย อาทิ การใช้กล้องจากโทรศัพท์ smartphone และการใช้โปรแกรมแชทต่าง ๆ มาตีแผ่ภาวะทางจิตวิทยาของตัวละครร่วมสมัย อันนำไปสู่ความคิดที่จะฆ่าตัวตาย แต่แฟน ๆ ของผู้กำกับ Michael Haneke หลาย ๆ รายก็โอดครวญว่าหนังเรื่องนี้แทบไม่มีอะไรใหม่ ๆ เพราะเขาก็เคยถกประเด็นเอาไว้ในผลงานเก่า ๆ อย่าง The Seventh Continent (1989) Benny’s Video (1992) Funny Games (1997) และ Hidden (2005) ไว้หมดแล้ว

เรื่องที่หนักและหม่นมืดมากกว่าจึงกลายเป็น The Killing of a Sacred Deer ของผู้กำกับกรีก Yorgos Lanthimos ซึ่งหลาย ๆ คนคงเคยหลอนกันมาแล้วกับเรื่อง Dogtooth (2009) มาคราวนี้เขาเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับครอบครัวของศัลยแพทย์หนุ่มใหญ่ ซึ่งรับบทโดย Colin Farrell ที่กำลังถูกเด็กหนุ่มสุดเนิร์ดที่อยากจะเรียนหมอมาคุกคามชีวิตด้วยการใช้สูตรยาพิษมหัศจรรย์ซึ่งไม่รู้ว่ามันเป็นกลเม็ดทางการแพทย์หรือเป็นการเล่นคุณไสย์กันแน่มาทำให้ลูกชายและลูกสาวของเขาไม่สามารถขยับขาเดินไปไหนมาไหนได้ ก่อนจะค่อย ๆ ทำลายอวัยวะภายในอย่างช้า ๆ หนังเดินหน้าเล่าเรื่องได้อยากสนุกเข้มข้นชวนติดตาม ค่อย ๆ เผยปูมหลังของตัวละครที่นำมาสู่สถานการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างชาญฉลาด นับเป็นหนังเขย่าขวัญที่เข้มข้นและครบรสมากอีกเรื่องหนึ่ง

ปิดท้ายกันด้วยหนังประกวดที่น่าจะสร้าง surprise ได้มากที่สุดในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ประจำปีนี้ นั่นก็คือเรื่อง Good Time ของผู้กำกับสองพี่น้อง Ben กับ Joshua Safdie ที่ได้ Robert Pattinson มารับบทนำเป็นนักปล้นธนาคารที่ต้องทำหน้าที่ทั้งการเป็นจอมโจรและพี่ชายที่ดูแลน้องชายผู้มีปัญหาทางสมองไปในเวลาเดียวกัน ซึ่งหนังก็เล่าถึงปฏิบัติการปล้นแบงค์แบบบ้าน ๆ การหลบหนีอย่างหัวซุกหัวซุน ความชุลมุนแบบผิดฝาผิดตัวจนกลายเป็นความโกลาหลจนไม่อาจคุมอะไรได้เลยทีเดียว

จริง ๆ ตัวหนังเองก็เล่าเรื่องราวง่าย ๆ ไม่ได้มีอะไรพิสดารไปจากหนังมือปล้นโดยทั่วไป แต่สิ่งที่โดดเด่นคือการสร้างบรรยากาศด้วยแสงสีนีออนและความโฉบเฉี่ยวด้านงานภาพที่ทำออกมามีสไตล์ได้แตกต่างดี ทั้งยังได้การแสดงที่น่าประทับใจของทั้ง Robert Pattinson และ Ben Safdie เองมาคอยหนุนให้เรื่องราวมีชีวิตชีวามากยิ่งขึ้น จนได้รับเสียงชื่นชมจากนักวิจารณ์ที่คานส์กันไปพอสมควร

Good Time

โดยภาพรวมแล้วถึงแม้ว่าหนังประกวดในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ในปีนี้จะยังไม่ถึงกับมีงาน masterpiece ชั้นเยี่ยมระดับครูให้ได้ดูมากเท่าปีก่อน ๆ แต่แนวทางหนังแต่ละเรื่องก็แตกต่างหลากหลายไม่ค่อยจะซ้ำทางกันดี แถมยังมีสีสันจากประเด็นดราม่าเรื่อง Netflix ที่ทำให้วงการภาพยนตร์โลกในปัจจุบันต้องทบทวนบทบาทของตัวเองกันใหม่เลยทีเดียว

เชื่อว่าหนังประกวดที่คลาคล่ำไปด้วยดาราดัง ๆ หลาย ๆ เรื่อง คงจะมีโอกาสได้ทยอยลงโรงฉายในบ้านเรากันต่อไป เพราะสุดท้ายแล้วคณะกรรมการตัดสินรางวัลชุดไหนก็คงจะไม่สามารถตอบอะไรแทนคนดูได้ นอกจากจะพิสูจน์กันด้วยตาตนเอง