ไปรษณีย์ไทยรับ “โลจิสติกส์ ฮับ” ไม่ง่าย

ไปรษณีย์ไทยรับ “โลจิสติกส์ ฮับ” ไม่ง่าย

ปณท ยังไม่ตกผลึก การเป็น “โลจิสติกส์ ฮับ” เหตุงานบิ๊กเกินความสามารถ เร่งตั้งคณะทำงานศึกษา และวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ชี้ หากทำไม่ไหว ต้องยอมรับความจริง

ปณท ยังไม่ตกผลึก การเป็น “โลจิสติกส์ ฮับ” เหตุงานบิ๊กเกินความสามารถ เร่งตั้งคณะทำงานศึกษา และวิเคราะห์ข้อมูลร่วมกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ชี้ หากทำไม่ไหว ต้องยอมรับความจริง ด้านงบประมาณกลางปีที่ขอมาแล้วจะเร่งจัดซื้อจัดจ้างและติดตั้งให้ครบภายในสิ้นปีนี้

นางสมร เทิดธรรมพิบูล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด กล่าวว่า มติการประชุมแผนยุทธศาสตร์ ไปรษณีย์ 4.0 ปี เร่งด่วน 3 ปี (2560-2562) เมื่อวันที่ 23 มิ.ย. ที่ผ่านมา ในส่วนของการเป็นลอจิส ติกส์ ฮับ โดยใช้พื้นที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ซึ่งเป็นพื้นที่ใกล้กับโครงการดิจิทัลพาร์ค ไทยแลนด์ ตามนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษของภาคตะวันออก (อีอีซี) นั้นยังไม่มีการตั้งงบประมาณ หรือ แผนงาน แต่อย่างใด เนื่องจากการจะเป็น โลจิสติกส์ ฮับ ได้นั้น จำเป็นต้องศึกษาข้อมูลให้รอบด้าน และประสานการทำงานร่วมกับหลายฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นคณะกรรมการ อีอีซี , กรมศุลกากร การท่าเรือ แหลมฉบัง ตลอดจนสนามบินอู่ตะเภา ว่าขอบเขตการทำงานจะต้องไปถึงระดับใหญ่แค่ไหน เพื่อให้เป็นฮับในภูมิภาคนี้อย่างแท้จริง

ทั้งนี้ คณะกรรมการจึงตั้งคณะทำงานเพื่อสำรวจ และศึกษาข้อมูล เพื่อวิเคราะห์ให้รอบด้านก่อน จากนั้นค่อยกำหนดแผนงาน ไปจนถึงการตั้งงบประมาณต่อไป ซึ่งหากเมื่อศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลแล้วพบว่า ปณท ไม่สามารถทำได้ โครงการนี้ก็อาจจะไม่เกิดก็ได้ ปณท ต้องประเมินศักยภาพของ ปณท เป็นหลัก ที่ผ่านมาไปรษณีย์ ไม่เคยส่งของขนาดใหญ่ จึงต้องศึกษาให้ดี รวมถึงแนวทางการทำงานร่วมกับหน่วยงานอื่นด้วย

แต่อย่างไรก็ตาม ปณท ก็มีแผนรองรับการขยายตัวของพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษทั้ง 4 พื้นที่อยู่แล้ว ได้แก่ 1.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันตก จ.ตาก และ กาญจนบุรี , 2.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จ.มุกดาหาร และ หนองคาย, 3.เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก จ.สระแก้ว และ ตราด รวมถึง 4. เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคเหนือ จ.เชียงราย ซึ่งจากการศึกษาพบว่า มีโอกาสขยายตัวในพื้นที่ดังกล่าว ทั้งด้านเครือข่ายที่ทำการ ศูนย์ไปรษณีย์และบริการด้านโลจิสติกส์แบบครบวงจร ตลอดจนการให้บริการด้านการขนส่ง และขยายการลงทุนไปยังประเทศเพื่อนบ้าน อาทิ เวียดนาม จีน และ อินเดีย

นางสมร ระบุว่า สำหรับภายในปีนี้ ปณท จะจัดซื้ออุปกรณ์เพื่อช่วยให้การรับฝาก คัดแยก และนำจ่าย มีประสิทธิภาพมากขึ้น ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ ลดการทำงานของพนักงาน ขณะที่พนักงานที่เหลือจะได้กระจายไปช่วยทำงานในส่วนอื่นที่คนยังขาด โดย ปณท ได้ของบประมาณกลางปีมาแล้ว คาดว่าจะจัดซื้อจัดจ้างและนำมาใช้ในปีนี้ ตั้งแต่ระบบการรับฝากหน้าเคาท์เตอร์ให้บริการ ด้วยระบบให้บริการอัตโนมัติใน ซึ่งติดตั้งแล้ว 250 แห่งในไปรษณีย์ขนาดใหญ่ และจะขยายให้ครบ 1,000 กว่าแห่งทั่วประเทศภายในสิ้นปีนี้

รวมถึงเครื่องคัดแยกซองตั้งแต่งานรับฝากเพื่อลดภาระการทำงานคัดแยกของคนโดยซื้อ 1 เครื่อง ราคา 150 ล้านบาท และเช่าใช้ที่ อ.ศรีราชาจ.ชลบุรี 51 ล้านบาทต่อปี รวมถึงเครื่องคัดแยกด้านจ่ายสำหรับชิ้นงานประเภทซอง 5 เครื่อง วงเงิน 275 ล้านบาท , ตู้รับฝากไปรษณีย์อัตโนมัติ 40 ล้านบาท , ตู้ไปรษณีย์อัจฉริยะ 30 ล้านบาท และ อุปกรณ์นำจ่ายแบบพกพา จำนวน 16,926 เครื่อง วงเงิน 531 ล้านบาท เพื่อให้บุรุษไปรษณีย์ทั่วประเทศรายงานสถานะการสั่งจ่ายในแต่ละบ้านแบบเรียลไทม์ นอกจากนี้ยังมีแผนในการปรับภาพลักษณ์ศูนย์ให้บริการที่มีกว่า 1,000 แห่ง ให้มีความทันสมัย ด้วย

“ตรงนี้เราได้งบประมาณกลางปีที่ขอจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มาแล้ว ก็จะเร่งดำเนินการต่อไป เพื่อให้ลดการทำงานของคน และเกิดประสิทธิภาพรองรับการเติบโตของจำนวนของที่ส่ง ซึ่งงานคัดแยกซองก็จำเป็นต้องใช้เครื่องมือมาช่วย เพราะธนาคาร ก็ยังต้องส่งเอกสารลักษณะซองให้ลูกค้าอยู่ ซึ่งหากตรงนี้ไม่ต้องใช้คนคัดแยกมาก เราก็สามารถย้ายคนส่วนนี้ไปช่วยทำงานในส่วนอื่นที่ต้องการคนเพิ่มได้” นางสมร กล่าว

นางสมร ย้ำว่า ยุทธศาสตร์ของ ปณท ในการเป็น ปณท 4.0 นั้น มาจากการใช้ผลการศึกษาและการคิดยุทธศาตร์ที่ ปณท จ้าง บริษัท ไพร้ซวอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ส จำกัด , นโยบายของประธานกรรมการบริษัท พล.อ.สาธิต พิธรัตน์ นโยบายของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือ ดีอี ตลอดจนการสำรวจและทำเวิร์คช้อปในแต่ละพื้นที่ด้วย โดยแนวทางใหม่ ระบบของปณท จะถูกแบ่งออกมาเป็น 4 ส่วน คือ 1.รับฝาก ที่จะรับผ่านที่ทำการไปรษณีย์ หรือช่องทางใดก็ตามเข้ามารวมกัน โดยยึดลูกค้าเป็นศูนย์กลาง 2.คัดแยก ที่จะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาการทำระบบคัดแยกแบบอัตโนมัติ ช่วยเพื่อประสิทธิภาพในการทำงานให้รวดเร็วขึ้น 3.ส่งต่อ จะให้ทาง บริษัทลูก บริษัท ไปรษณีย์ไทย ดิสทริบิวชั่น จำกัด (ปณท.ดบ.) รับผิดชอบในการนำส่งตามที่ทำการไปรษณีย์ กระจายไปสู่ระดับจังหวัด และเขตต่อไป และ 4.นำจ่าย ที่ยังจำเป็นต้องใช้พนักงานระดับปฏิบัติการ แต่ก็จะเพิ่มประสิทธิภาพด้วยการนำอุปกรณ์ และระบบที่ทันสมัยเข้าไปช่วย