สั่งปิดบ่อบำบัดโรงงานซีพีเอฟ30วัน

สั่งปิดบ่อบำบัดโรงงานซีพีเอฟ30วัน

อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม สั่งปิดบ่อบำบัดโรงงานซีพีเอฟ 30 วัน เพื่อตรวจสอบให้มีมาตรฐานความปลอดภัย

เมื่อเวลา 09.30 น. วันที่ 26 มิ.ย. ที่ห้องประชุม 509 อาคารกรมโรงงานอุตสาหกรรม นายมงคล พฤกษ์วัฒนา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม หรือ กรอ. แถลงข่าวชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีมีผู้ตกบ่อบำบัดน้ำเสียภายในโรงงาน บริษัทซีพีเอฟ(ประเทศไทย) จำกัด(มหาชน) จนทำให้มีผู้เสียชีวิต จำนวน 5 ราย เหตุเมื่อวันที่ 23 มิถุนายน 2560 ที่ผ่านมา ตามที่ได้เสนอข่าวไปแล้วนั้น   

เกี่ยวกับเรื่องนี้ นายมงคล กล่าวว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว พบว่านักศึกษาทั้ง 2 คนไปดูงานเป็นวันที่ 3 ซึ่งเป็นบ่อบำบัดน้ำเสียที่แยกไขมันออกแล้ว ก่อนเข้าสู่ระบบบำบัดแบบตะกอนเร่งด่วน มีขนาด 3คูณ4 เมตร ลึก 2.5 เมตร เป็นบ่ออับอากาศ โดยจากการตรวจสอบที่เกิดเหตุพบว่า มีป้ายไม่อนุญาตให้คนที่ไม่เกี่ยวข้องเข้า ซึ่งในวันเกิดเหตุนั้นมีเจ้าหน้าที่สิ่งแวดล้อมของโรงงานที่เพิ่งทำงานเพียง 6 เดือน จึงอาจจะไม่มีความรู้ความชำนาญมากพอ  

ทั้งนี้หลังเกิดเหตุได้เข้าไปตรวจสอบ พบว่า ค่าออกซิเจนมี 21 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่ปลอดภัย แต่ยอมรับว่าการเข้าไปตรวจหลังเกิดเหตุ 5 ชั่วโมงอาจทำให้ค่าก๊าซ และอากาศเปลี่ยนแปลงได้ โดยความเป็นจริงนั้น บ่อบำบัดน้ำเสียต้องปิดฝามิดชิด แต่ต้องตรวจสอบว่าโรงงานมีเหตุผลใดที่เปิดฝาไว้ เนื่องจากการสอบถามเบื้องต้นทราบว่า ในวันเกิดเหตุ เวลา 07.00-08.00 น. ฝาบ่อปิด ซึ่งไม่ทราบว่าหลังจากนั้นมีใครเข้าไปในพื้นที่หรือไม่ ประกอบกับจุดดังกล่าวไม่มีกล้องวงจรปิด ขอให้ทางตำรวจเป็นผู้ดำเนินการ ซึ่งเบื้องต้นมีคำสั่งให้ปิดบ่อบำบัดน้ำเสียของโรงงานดังกล่าวเป็นเวลา30วัน และจะตรวจสอบบุคคลากรที่เกี่ยวข้องว่ามีความผิดหรือไม่ 

ขณะที่นายประเสริฐ ตปนียางกูร นายกสมาคมวิศวกรรทสิ่งแวดล้อมแห่งประเทศไทย  กล่าวว่า ขอชมเชยผู้กล้าและผู้เสียสละ แต่น่าเสียดายที่ต้องเกิดความสูญเสีย เพราะจุดดังกล่าวเป็นที่อับอากาศ มีก๊าซไข่เน่า ถือว่าอันตรายต่อชีวิต การที่จะเข้าไปช่วยเหลือเช่นนั้น จะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ในสถานที่   

ทั้งนี้ทางเจ้าของโรงงาน วิศวกรผู้สร้างต้องเตรียมมาตรการป้องกันการเกิดเหตุตั้งแต่วางแผนสร้างอาคารและบ่อบำบัดน้ำเสีย โดยต้องเปิดช่องเข้า-ออก กว้างใหญ่เพียงพอ ให้สามารถช่วยชีวิตผู้ประสบเหตุได้ ขณะที่ ฝาบ่อควรมีกุญแจล็อคให้มิดชิด ขณะที่ผู้ที่จะเข้าช่วยเหลือต้องมีความรู้และความพร้อม รวมทั้งมีอุปกรณ์สื่อสารและป้องกันให้ครบถ้วน และเข้าช่วยเหลือทันท่วงที  

สำหรับปริมาณก๊าซไข่เน่านั้นถูกแบ่งดังนี้ หากมีปริมาณ 10ส่วนใน1ล้านส่วน ถือว่าปลอดภัย หากมีปริมาณ50 ส่วน นั้น คนจะทนได้ไม่เกิน10นาที แต่หากมี100ส่วน จะเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตทันที  

ทั้งนี้ ทางสมาคมฯมีความยินดีที่จะให้ความรู้กับเจ้าหน้าที่ที่ทำงานในโรงงาน เพื่อป้องกันเหตุไม่ให้เกิดซ้ำอีก