“กอบกาญจน์”ชงครม.เว้นวีซ่าฟิลิปปินส์กลุ่มเมดิคัลทัวร์

“กอบกาญจน์”ชงครม.เว้นวีซ่าฟิลิปปินส์กลุ่มเมดิคัลทัวร์

“กอบกาญจน์” เล็งเสนอครม. เพิ่มฟิลิปปินส์ให้วีซ่าระยะยาวกลุ่มเมดิคัลทัวร์ หนุนตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพิ่มเติมจากซีแอลเอ็มวีและจีน ด้าน ม.หอการค้า ชี้แรงงานท่องเที่ยวไทยจุดอ่อนด้านภาษา เปิด“คณะท่องเที่ยว” หวังผลิตบุคลากรหนุนตลาดโต  

นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวในงานเปิดตัวคณะการท่องเที่ยวและอุตสาหกรรมบริการ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ว่า นอกจากการพัฒนาบุคลากรด้านการท่องเที่ยวแล้ว กระทรวงท่องเที่ยวฯเตรียมวางแผนส่งเสริมความต้องการนักท่องเที่ยว เจาะกลุ่มตลาดคุณภาพ ด้วยการนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณายกเว้นวีซ่านักท่องเที่ยวจากประเทศฟิลิปปินส์ ที่มีวัตถุประสงค์เข้ามารักษาพยาบาลในไทย ให้พำนักระยะยาว 90 วัน และผู้ติดตามอีก 3 คนใช้สิทธิเดียวกัน

ทั้งนี้ การเพิ่มให้ฟิลิปปินส์ ถือเป็นการขยายตลาดจากเดิมที่ ครม.อนุมัติให้กลุ่มประเทศซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา, ลาว, เมียนมา และเวียดนาม) และประเทศจีน ไปแล้ว เนื่องจากเห็นศักยภาพในการเติบโตสูง และเห็นโอกาสการผลักดันตลาดหลังจากที่ได้ร่วมประชุมองค์กรการท่องเที่ยวโลก (ยูเอ็นดับเบิลยูทีโอ) ที่กรุงมะนิลา, ฟิลิปปินส์ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา เพื่อสร้างความเข้าใจและความร่วมมือระหว่างสมาชิกทั่วโลกกว่า 193 ประเทศ ในการสร้างความยั่งยืนด้านการท่องเที่ยว และแลกเปลี่ยนข้อมูลวิธีการรวบรวมสถิติและการนำไปใช้ประโยชน์ด้านท่องเที่ยว

“ฟิลิปปินส์เป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจเติบโตสูง และมีเศรษฐกิจขยายตัวมากที่สุดแห่งหนึ่งในอาเซียน ใช้จ่ายในไทยค่อนข้างมากในแต่ละครั้ง” นางกอบกาญจน์ กล่าว และว่า กระทรวงการท่องเที่ยวยังพร้อมให้การสนับสนุนมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในการช่วยประสานให้บุคลากรมีโอกาสฝึกงานกับภาคธุรกิจจริง เพื่อช่วยตอบรับปัญหาขาดแคลนบุคลากร

นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ได้วางเป้าหมายการจัดตั้งคณะนี้ขึ้นมา เพื่อผลิตบุคลากรที่มีคุณภาพป้อนสู่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว ที่ยังอยู่ในแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง และมีความต้องการแรงงานสูง แต่ปัจจุบันยังสำรวจพบสภาพปัญหาที่เกิดขึ้น คือ การขาดแคลนบุคลากรอีกมาก ที่สำคัญคือ แรงงานไทยที่มีอยู่ยังขาดทักษะที่จำเป็นกับการทำงาน โดยเฉพาะด้านภาษา ทำให้ผู้ประกอบการหันไปจ้างแรงงานต่างชาติเป็นตัวเลือกหลัก เช่น ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ที่สื่อสารภาษาอังกฤษได้ดีกว่า

นอกจากนั้น ความจำเป็นในการใช้ภาษาที่ 3 ต่อจากไทยและอังกฤษ ยังมีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง อาทิ จีน, ญี่ปุ่น, เกาหลี และภาษาในอาเซียน แต่แรงงานไทยยังใช้เวลาปรับตัว ดังนั้น จึงควรมีการฝึกอบรมอย่างเป็นระบบและมีมาตรฐาน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหานี้ต่อเนื่องในอนาคต โดยเฉพาะเมื่อภาคบริการสร้างรายได้ราว 52%ของการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) และมีโอกาสจะเพิ่มเป็น 80%เมื่ออุตสาหกรรมภาคบริการเติบโตขึ้นมาทดแทนอุตสาหกรรมอื่นๆ

กลุ่มคนรุ่นใหม่ ที่นิยมหันมาเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีมากขึ้น จึงหันมาเรียนหลักสูตรท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น เนื่องจากมองว่าจะนำมาใช้ประโยชน์ในการสร้างธุรกิจของตัวเอง เกาะกระแสการเติบโตของการท่องเที่ยว ขณะที่ผู้ปกครองสนใจส่งบุตรหลานมาเรียนเช่นกัน เพื่อนำความรู้กลับไปปรับใช้กับธุรกิจส่วนตัวของครอบครัว