ผู้ผลิตคอนเทนท์รุกขายลิขสิทธิ์ตปท.-ลุยโปรเจคร่วมทุน

ผู้ผลิตคอนเทนท์รุกขายลิขสิทธิ์ตปท.-ลุยโปรเจคร่วมทุน

ผู้ผลิตคอนเทนท์ไทย เดินหน้าขายลิขสิทธิ์“ซีรีส์-ฟอร์แมท-สารคดี”ต่างประเทศ “ทรูวิชั่นส์”ส่งซีรีส์เจาะตลาดจีน-เอเชีย “เวิร์คพอยท์” ปั้นแบรนด์ลุยตลาดโลก ด้าน “ทีวีบูรพา”ลุ้นโปรเจคร่วมทุน

อุตสาหกรรมผลิตคอนเทนท์ไทย ถือเป็นงานสร้างสรรค์ ที่สามารถแข่งขันและเป็นผู้นำได้ในภูมิภาคนี้ ทั้งด้านไอเดีย รวมทั้งศักยภาพดารานักแสดงไทยและผู้กำกับการแสดง ที่ผ่านมาทั้งอุตสาหกรรมภาพยนตร์และโฆษณาของไทยมีความโดดเด่นสามารถแข่งขันและได้รับรางวัลในเวทีระดับโลก

นายอรรถพล ณ บางช้าง กรรมการผู้จัดการสายรายการ บริษัท ทรูวิชั่นส์ กรุ๊ป จำกัด เปิดเผยว่า นโยบายของทรูวิชั่นส์ ที่ดำเนินธุรกิจเพย์ทีวี ได้ให้ความสำคัญกับการผลิต “ออริจินัล คอนเทนท์” มากขึ้น เพื่อเผยแพร่ผ่านธุรกิจสื่อทุกแพลตฟอร์มทั้งฟรีทีวี เพย์ทีวี โอทีทีและโมบาย พร้อมทั้งการขายลิขสิทธิ์คอนเทนท์ในต่างประเทศ 

ที่ผ่านมาได้เริ่มผลิต “ซีรีส์เกาหลี รีเมค” จากบทประพันธ์ที่ได้รับความนิยม ร่วมกับคอนเทนท์ โปรวายเดอร์หลายราย ตั้งแต่ Autumn in my Heart, Coffee Prince, Full House ล่าสุด Princess Hours ที่กำลังอยู่ระหว่างออกอากาศ และ My Girl ซึ่งอยู่ในช่วงการผลิต

ทั้งนี้ ซีรีส์เกาหลี รีเมค ทุกเรื่องสามารถขายลิขสิทธิ์ได้ในหลายประเทศ โดยเฉพาะเอเชีย ที่นิยมดารา นักแสดงจากประเทศไทย ตัวอย่าง ฟูลเฮ้าส์ หลังออกอากาศจบในไทย ได้ขายลิขสิทธิ์ให้ผู้ประกอบการในประเทศจีน นำไปเผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งมียอดรับชมกว่า 200 ล้านวิว

จากกระแสความนิยมออริจินัล คอนเทนท์ ที่ทรูวิชั่นส์ผลิต ปีนี้จึงปรับรูปแบบการขายลิขสิทธิ์คอนเทนท์ใหม่ โดยเรื่อง Princess Hours ที่กำลังออกอากาศทางฟรีทีวีทรูโฟร์ยูขณะนี้ได้ขายลิขสิทธิ์เพื่อแพร่ภาพพร้อมกันในประเทศจีนผ่านเว็บไซต์ v.qq.com ในเครือเทนเซนต์ ทุกวันจันทร์-อังคาร เวลา 21.00 น. ตรงกับเวลาไทย 20.00 น. เพื่อป้องกันการละเมิดลิขสิทธิ์ ถือเป็นครั้งแรกของผู้ผลิตคอนเทนท์ไทยที่เผยแพร่คอนเทนท์พร้อมกันในตลาดต่างประเทศที่ซื้อลิขสิทธิ์  ด้วยรูปแบบดังกล่าวคาดว่าเมื่อจบซีรีส์ 20 ตอน จะมียอดผู้ชมในจีนกว่า 500 ล้านวิว

ปรับกลยุทธ์เจาะตลาดตปท.

ปัจจุบันซีรีส์ดังกล่าวได้รับความสนใจจากผู้ประกอบการหลายประเทศ เจรจาขายลิขสิทธิ์บรอดแคสต์ไปเผยแพร่หลังจบซีรีส์ในไทย เช่น ฮ่องกง มาเก๊า มาเลเซีย เวียดนาม เมียนมา บูรไน กัมพูชา

 "ชื่อของทรูวิชั่นส์ ด้านการผลิตออริจินัล คอนเทนท์ เริ่มติดตลาดซื้อขายคอนเทนท์ในภูมิภาคนี้ เมื่อมีแผนผลิตเรื่องต่อๆ ไป จึงได้รับความสนใจจากตลาด จองซื้อก่อนผลิตแล้วเสร็จ”

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่เรื่อง My Girl  เป็นต้นไป ทรูวิชั่นส์ได้วางกลยุทธ์จำหน่ายลิขสิทธิ์อย่างจริงจัง โดยวางแผนออกบูธจำหน่ายในเทศกาลขายลิขสิทธิ์คอนเทนท์สำคัญในต่างประเทศ เพื่อโอกาสพบปะกับผู้ซื้อจากทวีปต่างๆ มากขึ้น ปัจจุบันประเทศในฝั่งอเมริกาใต้ เช่น บราซิล เริ่มสนใจคอนเทนท์จากเอเชีย มองว่าคอนเทนท์ประเภทละครในฝั่งเอเชีย สามารถทำตลาดได้ในระดับโลก

“ตลาดคอนเทนท์จากเอเชีย เริ่มก้าวสู่ระดับโลก โดยมีญี่ปุ่นและเกาหลี เป็นผู้นำในการทำตลาดมาก่อน ทำให้คอนเทนท์จากอาเซียนได้รับความสนใจด้วยเช่นกัน”

เวิร์คพอยท์เดินหน้าขายฟอร์แมท

นายธนศักดิ์ หุ่นอารักษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายงานพัฒนาธุรกิจ บริษัท เวิร์คพอยท์ เอ็นเทอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า เวิร์คพอยท์ผลิตคอนเทนท์มากว่า 28 ปี ได้พัฒนารูปแบบรายการทุกประเภทกว่า 100 รายการ ช่วง 3 ปีที่ผ่านมาได้มุ่งขยาย “นิว บิซิเนส” เพื่อสร้างโอกาสหารายได้และเติบโต  โดยกลุ่มธุรกิจ “ขายลิขสิทธิ์รายการ” เป็นหนึ่งในธุรกิจใหม่ที่ขยายตัวต่อเนื่อง

ปัจจุบันขายลิขสิทธิ์ไปแล้วรวม 23 รายการ ทั้งรูปแบบรายการ (format) และรายการสำเร็จรูป (finished program) กว่า 10 ประเทศทั่วโลก ในทวีปเอเชีย ยุโรป อเมริกา เช่น เวียดนาม พม่า กัมพูชา อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น อังกฤษ สวีเดน เปรู ฝรั่งเศส อิตาลี และสหรัฐ

กลุ่มฟอร์แมทที่ขายลิขสิทธิ์ในปี 2559-2560 เช่น ปริศนาฟ้าแลบ, ราชรถมาเกย จำหน่ายได้ในตลาดสหรัฐ, สายลับจับแกะ ในตลาดอิตาลี  

ในอาเซียนตลาดเวียดนาม ได้ซื้อลิขสิทธิ์ฟอร์แมท ชิงร้อยชิงล้าน ว้าว ว้าว ว้าว ซึ่งผลิตเป็นซีซัน 2 ต่อเนื่อง, รายการแก๊งนมกล่อง, หลานปูกู้อีจู้, ตลกหกฉาก  ส่วนอินโดนีเซีย ซื้อลิขสิทธิ์ “ไมค์หมดหนี้” เพื่อผลิตเพิ่มจาก 30 ตอน เป็น 60 ตอน  ล่าสุดซื้อฟอร์แมท “ชิงร้อยชิงล้าน” จำนวน 30 ตอน 

ช่วงครึ่งปีหลัง อยู่ระหว่างเจรจาขายฟอร์แมทในตลาดใหม่ ทั้ง มาเลเซีย ฮ่องกง จีน พร้อมทั้งออกบูธขายคอนเทนท์ในงานเทศกาลสำคัญ อีก 3 งานคือ  MIPCOM คานส์ ฝรั่งเศส เดือนต.ค.  เม็กซิโก เดือน พ.ย.  และเดือน ธ.ค. งานเอเชี่ยน เทเลวิชั่น ฟอรั่ม สิงคโปร์  

ภายในสิ้นปีนี้สามารถขายลิขสิทธ์ได้กว่า 25 รายการจากตลาดทั่วโลก วางเป้าหมายรายได้ 20 ล้านบาท เติบโต 20% และมีแนวโน้มขยายตัวในอัตราดังกล่าวในช่วง 3 ปีจากนี้ พร้อมทั้งมองการลงทุนรูปแบบ “โค โปรดักชั่น” กับต่างประเทศเป็นลำดับต่อไป

ปั้นแบรนด์ลุยตลาดโลก

นายธนศักดิ์ กล่าวว่า ปัจจัยที่ทำให้เวิร์คพอยท์ขยายตลาดส่งออกคอนเทนท์ได้ทั่วโลก มาจากไอเดียสร้างสรรค์รายการหลากหลายรูปแบบทั้งเกมตอบคำถาม, ประกวดความสามารถด้านร้องเพลงและโชว์ รวมทั้งรายการวาไรตี้ ซึ่งเป็นฟอร์แมทที่มีไอเดียสากล เหมาะกับผู้ชมทุกประเทศ  

เวิร์คพอยท์ เป็นเจ้าของสถานีฟรีทีวี  และผู้ผลิตรายการมืออาชีพ ที่มีผลงานการันตีมากว่า 28 ปี  มีความพร้อมด้านงานโปรดักชั่น ปัจจุบันมี 19 สตูดิโอรองรับการผลิตรายการทุกรูปแบบ ทำให้ผู้ซื้อลิขสิทธิ์มั่นใจงานด้านโปรดักชั่น 

ปัจจุบัน แบรนด์ "เวิร์คพอยท์"  เป็นที่รู้จักในตลาดโลก ทั้งจากการพัฒนาฟอร์แมทและรายการสำเร็จรูป  คอนเทนท์ที่ผลิตมีช่องทางนำเสนอทั้งฟรีทีวีและแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ปัจจุบันได้รับความนิยมสูงทั้งยูทูบและเฟซบุ๊ค ที่ติดอันดับผู้ชมสูงระดับโลก ซึ่งช่วยสร้างแบรนด์เวิร์คพอยท์ให้เป็นที่รู้จักในตลาดต่างประเทศ และส่งผลดีต่อการขายลิขสิทธิ์รายการปัจจุบัน

“เวิร์คพอยท์ ไม่ได้เป็นเพียงผู้ซื้อฟอร์แมทเท่านั้น แต่เราขายฟอร์แมทได้อย่างต่อเนื่องเช่นกัน และสร้างชื่อเสียงผู้ผลิตคอนเทนท์ไทยในเวทีระดับโลก”

ทีวีบูรพาลุ้นโปรเจคร่วมทุน

นายชนวัฒน์ วาจานนท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีวีบูรพา จำกัด กล่าวว่าปัจจุบันการผลิตคอนเทนท์“สารคดี”ของผู้ประกอบการไทย ได้รับความสนใจในตลาดต่างประเทศเข้ามาซื้อลิขสิทธิ์รายการเพิ่มขึ้น รูปแบบสารคดีมีเนื้อหาที่เป็นสากล สามารถรับชมได้ทุกชาติ ขณะที่สารคดีของไทยมีไอเดียสร้างสรรค์ที่โดดเด่นจึงได้มีโอกาสส่งออกได้ในตลาดโลก ปีนี้บริษัทมองโอกาสขายคอนเทนท์ในตลาดต่างประเทศ ทั้งสารคดีสำเร็จรูป และโปรเจคร่วมทุนผลิตสารคดี

ล่าสุดได้ขายลิขสิทธิ์สารคดีชุด Tasty Journey หรือ “วัฒนธรรมยั่วน้ำลาย” ที่เคยออกอากาศทางช่องพีพีทีวี ให้กับช่องดิสคัฟเวอรี่ เอเชีย เนื้อหารายการเป็นการเล่าเรื่องราววัฒนธรรมด้านอาหารในแต่ละประเทศกลุ่มเอเชีย ผสานการเดินทางท่องเที่ยว ซึ่งเป็นเนื้อหาสากลที่สามารถรับชมได้ทุกชาติทุกภาษา 

นอกจากนี้ มองโอกาสผลิตสารคดีโปรเจคร่วมทุน โดยได้นำไอเดียสารคดี 5 เรื่อง ไปร่วมออกบูธที่งาน Sunny Side of the Doc ที่ฝรั่งเศส เดือน มิ.ย.นี้  ประกอบด้วย 1.A Simpler Guide to Survival การใช้ชีวิตในเมืองใหญ่ที่มีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย 2.Tribal Crossroads การใช้ชีวิตของเด็กชนเผ่าในไทยที่มีคาแรคเตอร์ต่างกัน 3 คน  3.Creepy Crawly Superfoods การนำแมลงและสัตว์เลื้อยคลานมาปรุงเป็นอาหารรูปแบบใหม่ นำเสนอความงดงามทางอาหารและภูมิปัญญาแบบไทย 4. Against all Odds การเกิด ต่อสู้และใช้ชีวิตของนกกระเรียน สัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์ และ5.Wilderness Ambassador เรื่องราวของช้างไทย คาดว่าภายในปีนี้น่าจะได้ข้อสรุปการร่วมผลิต 2 โปรเจค