เปิด 5 เงื่อนไขรถไฟไทย-จีน

เปิด 5 เงื่อนไขรถไฟไทย-จีน

"อาคม" แจงความเป็นโครงการรถไฟไทย-จีนกว่า1.7 แสนล้าน หวังสร้างความเข้าใจเดินหน้าโครงการ ยันไทยไม่เสียเปรียบเหตุจีนยอมรับ 5 ข้อเสนอจากไทย

นับตั้งแต่รัฐบาลคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ตัดสินใจประกาศใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่อผลักดันโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เส้นทางกรุงเทพฯ-นครราชสีมา ระยะทาง 252.5 กิโลเมตร วงเงิน 179,412 ล้านบาท เมื่อวันที่ 15 มิ.ย. ที่ผ่านมา สังคมไทยก็เกิดการตั้งคำถามเกี่ยวกับโครงการรถไฟไทย-จีน และความจำเป็นในการใช้มาตรา 44 เป็นวงกว้างในหลายแง่มุม ทั้งประเด็นเรื่องความโปร่งใส ความคุ้มค่า รวมไปถึงอำนาจอธิปไตยของประเทศ

กระทรวงคมนาคมในฐานะเจ้าภาพหลักของโครงการ จึงต้องออกมาชี้แจงในประเด็นต่างๆ รายวัน ทั้งในรูปแบบการแถลงข่าวและการออกข่าวประชาสัมพันธ์ให้สื่อมวลชน เพราะแม้มาตรา 44 จะขจัดอุปสรรคด้านกฎหมายได้ แต่การดำเนินโครงการขนาดใหญ่และใช้เงินทุนมหาศาลเช่นนี้ ก็ต้องได้รับการสนับสนุนและความเข้าใจจากคนในประเทศด้วย

วานนี้ (23 มิ.ย.)นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วยนายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม และนายชัยวัฒน์ ทองคำคูณ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดชี้แจงและทำความเข้าใจต่อโครงการรถไฟไทย-จีน ทั้งๆที่เพิ่งจะชี้แจงไปเมื่อวันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา แต่ปรากฏว่ามีผู้มีชื่อเสียงในสังคม อย่างเช่น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์และอดีตนายกรัฐมนตรี รวมถึงนักวิชาการได้ออกมาตั้งคำถามและแสดงความไม่มั่นใจในการดำเนินโครงการกันมาก

ร่ายยาวแจงที่มารถไฟไทย-จีน

ในการแถลงข่าววานนี้ (23 มิ.ย.)นายอาคม ได้รวบรวมประเด็นต่างๆ มาชี้แจงเป็นข้อๆ เริ่มจากการอธิบายที่มาของความร่วมมือรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ซึ่งเกิดจากบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ตั้งแต่ปี 2553 แต่ไม่มีผลเป็นรูปประธรรมจนรัฐบาลชุดนี้ได้ลงนามเอ็มโอยูอีกครั้งในปี 2557 เพื่อเดินหน้าโครงการตลอดระยะเวลา 2 ปีครึ่งที่ผ่านมา คณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน ได้ประชุมร่วมกันมา 18 ครั้ง แต่ก็ยังไม่สามารถลงนามสัญญาและเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติโครงการได้ เพราะติดปัญหาอุปสรรคด้านกฎหมาย ดังนั้นรัฐบาลจึงได้สรุปอุปสรรคและใช้อำนาจตามมาตรา 44 ปลดล็อกเพื่อให้เดินหน้าโครงการอย่างรวดเร็ว

เป้าหมายของโครงการนี้คือ การเดินรถไฟความเร็วสูงจากกรุงเทพฯ-นครราชสีมา-หนองคาย ไปเชื่อมต่อกับลาวและจีน เพื่อบรรจบกับเส้นทางสายไหมใหม่ (One Belt, One Road) ซึ่งจะทำให้ไทยได้รับประโยชน์ในแง่ของการท่องเที่ยวและขนส่งสินค้า เพราะปัจจุบันประเทศจีน เป็นคู่ค้าและเป็นตลาดท่องเที่ยวอันดับที่ 1 ของประเทศไทย

ยัน5ข้อตกลงไทยไม่เสียประโยชน์

ขณะเดียวกัน ขอให้เชื่อมั่นว่าไทยจะไม่เสียเปรียบและได้ประโยชน์จากโครงการนี้ เพราะจีนได้ยอมรับเงื่อนไข 5 ข้อจากไทยประกอบด้วย 1. ไทยจะเป็นผู้พัฒนาเชิงพาณิชย์ในสถานีรถไฟและพื้นที่ข้างหน้าทั้งหมด เพื่อให้มีรายได้กลับมายังภาครัฐ ซึ่งเบื้องวางแผนจะพัฒนาปากช่องเป็นพื้นที่นำร่อง 2.การก่อสร้างโยธาต้องเป็นของผู้รับเหมาไทย 3.วัสดุและอุปกรณ์ก่อสร้างต้องใช้ภายในประเทศให้ได้มากที่สุด ตอนนี้ก็ถือว่าเกือบ100%

4.ต้องไม่มีการนำแรงงานก่อสร้างเข้ามาจากจีน ยกเว้นผู้เชี่ยวชาญที่เป็นวิศวกรและสถาปนิก และ 5.ผู้ที่ขับรถไฟความเร็วสูงเป็นบุคลากรไทยนับตั้งแต่วันแรกที่เปิดให้บริการ

นอกจากนี้ ไทยและจีนได้มีข้อตกลงเรื่องแลกเปลี่ยนความรู้ ที่ผ่านมามีการส่งบุคลากรไทย 250 คน ไปศึกษาดูงานรถไฟความเร็วสูงในจีน และตอนนี้ได้สั่งนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยชั้นนำอีก 20 คนไปศึกษาเพิ่มเติม

นอกจากนี้ จะบรรจุเรื่องการถ่ายทอดเทคโนโลยีระหว่าง 2 ประเทศในสัญญาระหว่าง ร.ฟ.ท. และรัฐวิสาหกิจจีนทั้ง 3 ฉบับ เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีเทคนิคการก่อสร้าง เดินรถ และบำรุงรักษาให้บุคลากรชาวไทย พร้อมจะให้คนไทยเป็นวิศวกรเสริมในโครงการเพื่อเรียนรู้จากการทำงานจริง

เสนอบอร์ดสศช.ก่อนชงครม.เดือนหน้า

นายอาคม กล่าวถึงความคืบหน้าในขออนุมัติโครงการว่า ตอนนี้คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (บอร์ดสภาพัฒน์) แจ้งว่าจะนัดประชุมวันที่29 มิ.ย. นี้ เพื่อพิจารณาโครงการรถไฟไทย-จีน จากนั้นจะเสนอให้ครม. เห็นชอบ ถ้าดูจากกรอบเวลาจะเห็นว่าขั้นตอนการเสนอ ครม.ต้องเลื่อนเป็นเดือนก.ค. แต่ยังคงเป้าหมายการลงนามสัญญาในเดือนก.ค.นี้ และเริ่มต้นก่อสร้างเดือนก.ย.2560 เช่นเดิม

ทั้งนี้ คงต้องมีการเวนคืนพื้นที่เพื่อก่อสร้างประมาณ 10-20%ของเส้นทาง คิดเป็นระยะทางราว 25-50 กิโลเมตร เนื่องจากต้องปรับแนวเส้นทางให้ตรงมากที่สุดเพื่อความปลอดภัย ด้านเส้นทางส่วนใหญ่ราว 80%ไม่มีปัญหาเรื่องนี้ เพราะอยู่ในแนวเส้นทางรถไฟเดิมอยู่แล้ว

กัน3พันล้านจ่ายค่าเวนคืน

นายชาติชาย ปลัดกระทรวงคมนาคม ชี้แจงเรื่องความปลอดภัยว่า ที่ผ่านมา ร.ฟ.ท. และ สนข. ได้ว่าจ้างผู้เชี่ยวชาญเพื่อดูแลการทำงานกับฝ่ายจีนทุกขั้นตอน ขณะเดียวกันสภาวิศวกร และสภาสถาปนิกจะนัดหารือกับกระทรวงคมนาคมในสัปดาห์หน้าว่า จะต้องมีการฝึกอบรมและทดสอบวิศวกรและสถาปนิกจีน ที่จะมาดำเนินโครงการอย่างไรและเรื่องอะไรบ้าง เพื่อให้การก่อสร้างเรียบร้อยและปลอดภัย

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคม แจ้งว่า โครงการรถไฟไทย-จีน เตรียมงบประมาณราว 3,000 ล้านบาท เพื่อใช้ในการเวนคืนที่ดิน การเวนคืนครั้งนี้คงไม่เกิดปัญหา เพราะที่ดินซึ่งติดกับแนวรถไฟส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ตาบอดหรือพื้นที่รกร้าง และมีนโยบายว่าจะจ่ายค่าเวนคืนในราคาตลาด บวกค่าเสียโอกาส 20% ซึ่งเป็นอัตราเดียวกับการเวนคืนที่ดินเพื่อสร้างรถไฟฟ้าในกรุงเทพฯ ซึ่งมีความคุ้มค่ามาก

นายชัยวัฒน์ ผู้อำนวยการ สนข. ระบุว่าจะมีผู้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการเวนคืนไม่มากนัก เพราะบางส่วนเป็นเวนคืนและบางส่วนเป็นการขอใช้พื้นที่ เช่น การขอใช้พื้นที่กรมป่าไม้หรือพื้นที่เหมือง

สาเหตุที่ต้องใช้พื้นที่เกินแนวเส้นทางเดิม เพราะรถไฟปกติจะมีความเร็วไม่มาก และใช้พื้นที่เข้าโค้งแคบ แต่รถไฟไทย-จีนจะมีความเร็วถึง 200-250 กิโลเมตร จึงต้องปรับแนวเส้นทางเข้าโค้งให้เป็นแนวตรงที่สุดเพื่อความปลอดภัย จึงต้องใช้พื้นที่นอกแนวรถไฟเดิมบ้าง