อพท.รอแก้ไขกฤษฎีจัดตั้งลุยงานเพิ่ม

อพท.รอแก้ไขกฤษฎีจัดตั้งลุยงานเพิ่ม

อพท.ยันมติ ครม.สั่งลดงบประมาณไม่มีผลการทำงาน ชี้เริ่มดำเนินแผนปรับล่วงหน้ามาแล้วกว่า 3 ปี เผยชงเรื่องแก้ไขกฤษฎีกาจัดตั้งแล้ว รอ กพร.พิจารณาก่อนเข้าครม. ยืนยันบทบาทอพท.ขยายกว่าเดิม เดินหน้ารับอัตราเพิ่มตามมอบหมายดูแล 9 คลัสเตอร์ท่องเที่ยว

พันเอก ดร.นาฬิกอติภัค แสงสนิท ผู้อำนวยการองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. กล่าวว่า จากการที่ เมื่อวันอังคารที่ 20 มิ.ย. คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้ อพท.ยังคงสถานะเป็นองค์การมหาชนต่อไป แต่ให้ปรับลดงบประมาณด้านการบริหารองค์กรภายในลง เพื่อให้มีงบประมาณสำหรับการดำเนินกิจการตามวัตถุประสงค์จัดตั้งและการปฏิบัติงานกับประชาชนกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่มากขึ้นนั้น ไม่ได้มีผลกระทบต่อการดำเนินงานในปัจจุบันแต่อย่างใด เนื่องจากการพิจารณาของครม.ครั้งนี้ สืบเนื่องมาจากคำสั่งของนายกรัฐมนตรีตั้งแต่เดือน ม.ค.2558 ที่ให้ทบทวนความจำเป็นในการมีอยู่ขององค์การมหาชน และนับตั้งแต่ช่วงเวลาดังกล่าว ถึงปัจจุบันเป็นเวลารวมเกือบ 3 ปี อพท. ได้ดำเนินการปรับตัวด้านบทบาท ด้วยการแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้องมาแล้วตั้งแต่ช่วงดังกล่าว

ทั้งนี้ คณะกรรมการอพท.ได้เห็นชอบเรื่องการแก้ไขร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง อพท.และเสนอให้ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (กพร.) พิจารณา เพื่อจะได้นำเสนอให้ครม.อนุมัติแล้ว ซึ่งสาระของการแก้ไข จะทำให้สะท้อนกับปรัชญาการดำเนินงาน และภารกิจที่ อพท.ได้รับมอบหมายให้ขยายขอบเขตเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะหลังจากการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของคณะกรรมการนโยบายท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) และได้รับมอบหมายให้ อพท.เป็นผู้ช่วยเลขานุการของคลัสเตอร์ท่องเที่ยว 9 คลัสเตอร์ ซึ่งภารกิจดังกล่าว ยังไม่สอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ในพระราชกฤษฎีกาจัดตั้ง จึงต้องแก้ไขเพื่อให้ขยายพื้นที่รับผิดชอบครอบคลุมเพิ่มขึ้นรวมเป็น 38 จังหวัด

พันเอก ดร.นาฬิกอติภัค กล่าวด้วยว่า คำสั่งดังกล่าวไม่มีผลต่องานด้านการพัฒนาท่องเที่ยวในพื้นที่ เนื่องจากคำสั่งปรับลดงบประมาณมุ่งเป้าไปด้านการบริหาร ซึ่งปัจจุบันสัดส่วนงบใชจ่ายด้านบุคลากรอยู่ที่ 22% เท่านั้น ต่างจากหน่วยงานราชการอื่นๆ ที่อาจจะสูงถึง 60% ซึ่งระหว่างที่เกิดช่องว่างเพราะครม.สั่งให้ลดงบประมาณด้านการบริหารภายใน แต่ขณะเดียวกันยังมีภารกิจเพิ่มขึ้น และต้องใช้จ่ายด้านบุคลากรมากกว่าเดิมนั้น มีวิธีรับมือชั่วคราว ด้วยการนำเงินทุนที่ประหยัดได้จากงบประมาณใช้จ่ายแต่ละปี มาใช้สำรองสำหรับบุคลากรไปก่อน จนกว่าครม.จะเห็นชอบแก้ไขร่างพระราชกฤษฎีกา และเกิดการจัดสรรงบประมาณที่สอดคล้องกับภารกิจใหม่ ซึ่งการใช้วิธีนี้ ได้ผ่านการหารือกับสำนักงบประมาณเรียบร้อยแล้ว

"งบด้านการพัฒนายังคงอยู่ที่ 66% เหมือนเดิม ไม่กระทบต่อการทำงานกับพื้นที่แน่นอน และยืนยันว่าอพท.ยังขยายงานต่อเนื่อง มีการรับบุคลากรเพิ่มอีก 20 คนจาก 160 คน เพื่อเข้ามาเสริมในภารกิจดูแลคลัสเตอร์ร่วมกับ ท.ท.ช.และการส่งเสริมการท่องเที่ยวชุมชนด้วย"