'ซุปเปอร์' เร่งลดต้นทุน ผ่านอินฟราฯฟันด์-หุ้นกู้ 

'ซุปเปอร์' เร่งลดต้นทุน ผ่านอินฟราฯฟันด์-หุ้นกู้ 

“ซุปเปอร์”เร่งลดต้นทุน ผ่านอินฟราฯฟันด์-หุ้นกู้ 

ท่ามกลางภาวะต้นทุนทางการเงินที่กำลังมีแนวโน้มจะปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยน่าจะอยู่ในทิศทางขาขึ้นมากกว่าขาลง ดังนั้นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จึงต้องเร่งปรับตัว และหากลยุทธ์เพื่อรับมือกับสถานการณ์เช่นนี้

กรุงเทพธุรกิจได้มีโอกาสพูดคุยกับ“จอมทรัพย์ โลจายะ”ประธานคณะกรรมการ บริษัท ซุปเปอร์บล๊อก จำกัด (มหาชน) SUPER ดำเนินธุรกิจการให้บริการด้านการปฏิบัติการดูแลบำรุงรักษาโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (Operation and Maintenance services) ได้เล่าให้ฟังถึงแผนปรับตัวและรับมือกับสถานการณ์ปัจจุบัน

โดยการเลือกแนวทางการระดมทุนผ่านกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน หรืออินฟราสตรัคเจอร์ ฟันด์ และ การเสนอขายหุ้นกู้ เพื่อช่วยลดภาระต้นทุนดอกเบี้ยที่ปัจจุบันมีค่าเฉลี่ยอยู่สูง5-6% โดยคาดหวังว่าวิธีดังกล่าวจะทำให้ต้นทุนทางการเงินบริษัทในระยะยาวจะลดลงได้ประมาณ 1% และมองว่า เป็นสิ่งจำเป็นที่บริษัทจดทะเบียนควรจะให้ความสำคัญเวลานี้ เนื่องจากแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยจากนี้ไปน่าจะเป็นขาขึ้นอย่างแน่นอน

"ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมระดมทุนกองทุนอินฟราฯฟันด์ โดยแต่งตั้งให้ธนาคารกรุงเทพ จำกัด(มหาชน)BBLเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน คาดว่าจะระดมทุนประมาณ 8พันถึง1 หมื่นล้านบาท อาจจะใช้ชื่อว่า กองทุนSUPERIF คาดว่าจะเสนอขายได้ในครึ่งหลังของปีนี้"

สำหรับสินทรัพย์ที่บริษัทจะนำเข้ากองทุนอินฟราฟันด์ คือโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิตรวม100-120 เมกะวัตต์ และในอนาคตหากต้องใช้เงินทุนระยะยาว บริษัทจะนำโรงไฟฟ้าขายเข้ากองทุนดังกล่าวอีกครั้ง เพราะมองว่าต้นทุนทางการเงินของระดมทุนรูปแบบนี้ต่ำกว่ารูปแบบอื่น และเป็นจังหวะที่ดีเนื่องจากสภาพคล่องมีสูง นักลงทุนต้องการลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าการฝากเงินกับธนาคาร 

ขณะที่วัตถุประสงค์การระดมทุนครั้งนี้ บริษัทจะนำไปชำระคืนหนี้บางส่วน และนำไปขยายการลงทุนโรงไฟฟ้ากำลังการผลิต 500-600 เมกะวัตต์ ซึ่งอยู่ระหว่างกำหนดสัดส่วนที่ชัดเจน

การระดมทุนหุ้นกู้นั้น บริษัทได้ขอมติจากผู้ถือหุ้นไว้ในวงเงิน 1500 ล้านบาท ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างให้เตรียมบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัดจัดทำเรทติ้ง ซึ่งการเสนอขายหุ้นกู้จะช่วยทำให้ต้นทุนทางการเงินของบริษัทลดลง และคาดหวังว่าจะสามารถลดต้นทุนดอกเบี้ยให้ลดลงเหลือเพียงประมาณ4 %

ปัจจุบันมีกำลังการผลิตไฟฟ้า เมื่อพิจารณาจากสัญญาซื้อขายไฟฟ้าในมือที่มีอยู่( PPA ) 809 เมกะวัตต์ โดยจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 735.6 เมกะวัตต์ และมีโรงไฟฟ้าพลังงานโซลาร์ที่จีน 30 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างพัฒนา โดยคาดว่า PPA ในมือจะ COD ปีนี้ จะมีรวม 800 เมกะวัตต์ เพราะโรงไฟฟ้าขยะที่เพชรบุรี จ่ายไฟได้ประมาณเดือนธ.ค.นี้้

ขณะที่ภาพรวมผลประกอบการในไตรมาส 1ปีนี้2560 บริษัทมีรายได้รวม 1,477.35 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,164.73 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 372.57 % เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนมีรายได้รวม 312.62 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 563.04 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 535.26 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1,926.78 % เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อนมีกำไรสุทธิ 27.78 ล้านบาท เนื่องจากการมีการรับรู้รายได้จากโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ที่ได้ดำเนินการจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD)ในมือที่มีกำลังการผลิต 735.60 เมกะวัตต์ จากสัญญาซื้อขายไฟที่ปัจจุบันมีทั้งหมด 809 เมกะวัตต์

ในครึ่งปีแรกบริษัทน่าจะสามารถทำได้ตามเป้าหมายที่วางไว้ โดยเป้าหมายทั้งปีมีรายได้จากการขายไฟ 9,000-10,000 ล้านบาท ”

ในโครงการสหกรณ์การเกษตรและหน่วยงานราชการระยะที่ 2 กำลังการผลิต 219 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโควต้าสหกรณ์การเกษตร 119 เมกะวัตต์ และโควต้าหน่วยงานราชการ 100 เมกะวัตต์ และเตรียมประกาศผลผู้ชนะการประมูลในวันที่ 26 มิ.ย. 2560 นี้ ซึ่งคาดว่าบริษัทจะได้รับงานในสัดส่วนประมาณ 25 - 30% จากการเข้าร่วมประมูลโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์การเกษตร ซึ่งบริษัทซุปเปอร์บล๊อกได้ส่งบริษัทลูกเข้าร่วมประมูลโซลาร์ฟาร์มสหกรณ์การเกษตร 119 เมกะวัตต์ กระจายในพื้นที่ภาคเหนือจำนวน 19 เมกะวัตต์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 50 เมกะวัตต์ และภาคใต้ 50 เมกะวัตต์

แผนการขยายการลงทุนโรงไฟฟ้าในต่างประเทศ อยู่ระหว่างการเจรจาร่วมลงทุนกับพันธมิตรในญี่ปุ่น จีน  กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งในส่วนของจีนอยู่ระหว่างการเจรจาเพื่อซื้อกิจการหรือร่วมทุน โดยบริษัทสนใจที่จะลงทุนกับบริษัทผลิตแผงโซลาร์เซล และคาดว่าจะได้ข้อสรุปเร็วๆนี้ ขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าโซลาร์ฟาร์มในจีนที่เข้าไปลงทุนก่อนหน้า มีกำลังการผลิต 30 เมกะวัตต์ คาดว่าจะเริ่มรับรู้รายได้เข้ามาภายในไตรมาส 3ของปี2560

จอมทรัพย์ เล่าให้ฟังถึง กรณีการที่บริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยมีปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ตั๋วแลกเงินระยะสั้น(บีอี)มากขึ้นนั้น ส่วนตัวมองว่า การระดมทุนในลักษณะของตั๋วเงินระยะสั้น ผู้ออกตั๋วควรนำเงินใช้ในการลงทุนระยะสั้น ส่วนการลงทุนระยะยาว ก็ต้องระดมทุนในรูปแบบลงทุนระยะยาว ซึ่งหากมีการบริหารไม่ดีหรือบาลานซ์สภาพคล่องไม่รอบคอบก็อาจทำให้ประสบปัญหาเรื่องสภาพคล่องทางการเงินได้

“ยอมรับว่ากรณีการผิดนัดบีอีของบริษัทจดทะเบียนทำให้สั่นคลอนความเชื่อมั่นของนักลงทุนที่ลงทุนในตั๋วเงิน แต่เชื่อว่าเป็นผลกระทบระยะสั้นเท่านั้น เนื่องจากอัตราผลตอบแทนของการลงทุนบีอียังอยู่ในระดับสูงกว่าการลงทุนในรูปแบบอื่น แต่เมื่อเกิดผิดนัดชำระขึ้นมา จะเป็นบทเรียนให้นักลงทุนรับรู้ว่า การลงทุนที่ปลอดภัยควรตระหนักถึงคุณภาพของบริษัทที่จะเข้าไปลงทุนต้องหันกลับมาศึกษาข้อมูลมากกว่าที่จะมองแค่ผลตอบแทนสูงเท่านั้น”