บลจ.เผย นักลงทุนเน้น 'กองค่าฟีต่ำ'

บลจ.เผย นักลงทุนเน้น 'กองค่าฟีต่ำ'

วงการบลจ.โชว์ผลศึกษา นักลงทุนเน้น...กองค่าฟีต่ำ

มีคนเคยกล่าวไว้ว่า ถ้านักลงทุนเลือกกองทุนที่ให้ผลตอบแทนที่ดีคุ้มค่า แถมมีค่าธรรมเนียมต่ำ เรียกได้ว่า “ถูกหวย 2 เด้ง” ..จากข้อมูลรายละเอียดค่าธรรมเนียม กลายเป็นสิ่งที่นักลงทุนต้องการจากผู้จัดการการลงทุนมากที่สุด โดย “โจนาธาน บอรซมอา” สถาบันซีเอฟเอ กล่าวในหัวข้อ “ความต้องการของผู้ลงทุน” บนเวที Thailand Investment Conference 2017 ด้วยหัวข้อที่น่าสนใจ “Putting Investors First” จัดโดย สำนักงาน ก.ล.ต. ร่วมกับ CFA Society Thailand เมื่อเร็วๆ นี้ว่า

ผลสำรวจของ CFA institute Trust to loyalty survey 2016 พบว่า “ความเชื่อมั่น” จากผู้จัดการการลงทุน เป็นสิ่งที่นักลงทุนต้องการมากที่สุด และความเชื่อมั่นของนักลงทุน มาจากต้องการให้ผู้จัดการการลงทุนอธิบายเกี่ยวกับรายละเอียด “ค่าธรรมเนียมต่างๆ”ให้กับนักลงทุนได้รับรู้ มากที่สุด ถึง 80%

อีกทั้งจากผลสำรวจดังกล่าว ยังพบว่า มีเพียง 50% ของนักลงทุนเท่านั้นที่จะแนะนำผู้จัดการการลงทุนต่อไปยังนักลงทุนรายอื่น ดังนั้น ในอุตสาหกรรมกองทุนต้องกลับมาสนใจในประเด็นนี้

แต่กลับไม่มีใครรู้ตัวเลยว่า ผู้จัดการกองทุนทั่วโลกนั้น ยังเลือกการลงทุนที่ out perform ตลาด แถม ค่าธรรมเนียมบริหารจัดการกองทุนยิ่งสูง ผลตอบแทนยิ่ง outperformไปอีก และคงแย่ไปกว่านั้น ถ้านักลงทุนยิ่งไม่รู้จักสไตล์ลงทุนของการผู้จัดการลงทุนอย่างชัดเจนแล้วสุดท้าย “นักลงทุนจะเหลืออะไร”

ธนาวุฒิ พรโรจนางกูร” หัวหน้าฝ่ายจัดการกองทุน บลจ.บางกอกแคปปิตอล (BCAP) พบว่า จากรายงานผลวิจัยภาพรวมกองทุนรวมทั่วโลก พบว่า ในช่วงย้อนหลัง 20 ปีมานี้ ผู้จัดการกองทุนทั่วโลกเกินกว่า 80% มีผลงานบริหารจัดการกองทุนทำผลตอบแทนแพ้ดัชนีตลาดหรือเกือบ 90%ยังได้ปิดกองทุนไปแล้ว ในขณะที่คิดค่าธรรมเนียมบริหารจัดการใกล้เคียงกับไทยเฉลี่ยที่ 1.5% ต่อปี

สะท้อนว่า ผลตอบแทนที่ผู้จัดการกองทุนทั่วโลก ทำได้เฉลี่ยแล้วเท่ากับผลตอบแทนของตลาดโดยอัตโนมัติ และยังต้องถือครองระยะเวลา 5-10 ปีขึ้นไป นอกจากนี้ยังพบด้วยว่า ผลตอบแทนกองทุนทั่วโลก มีมากถึง 70,000 กองทุนที่ปรับตัวลดลงและได้ปิดกองทุนไป

ดังนั้น จึงเท่ากับผู้จัดการกองทุนทั่วโลก ทำผลงานแพ้ตลาดเสมอ จากปัจจัยที่สำคัญคือ “ค่าธรรมเนียม”

และส่งผลให้ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ตลาดกองทุนรวมทั่วโลกปรับตัวลดลง แต่ในขณะที่ตลาดกองทุนอีกประเภทหนึ่ง คือ กองทุน ETF ในทั่วโลก กลับพบว่า เติบโตเพิ่มขึ้นและกำลังเป็นเทรนด์ทั่วโลก จึงมองว่า น่าจะเป็นพื้นฐานการลงทุนที่ดีของนักลงทุนไทยควรเปลี่ยนไปเช่นกัน

กิตติคุณ ธนรัตนพัฒนกิจ” นักวิเคราะห์กองทุน ประจำประเทศไทย บริษัท มอร์นิ่งสตาร์ รีเสิร์ช (ประเทศไทย) กล่าวว่า “ค่าธรรมเนียม” เป็นต้นทุนการลงทุนผ่านกองทุนรวมทั้งสิ้น ถ้าผู้จัดการกองทุนทำผลตอบแทนได้น้อยกว่าต้นทุนค่าธรรมเนียม นั่น หมายความ กองทุนกำลังขาดทุน และยังสอดคล้องกับช่วงที่ผ่านมา กองทุนที่เป็น Active Management เก็บค่าธรรมเนียมสูง แต่ก็ไม่ได้ทำผลตอบแทนได้ดีนัก

ทั้งสองประเด็นนี้ เป็นสิ่งสำคัญทำให้นักลงทุนในสหรัฐตื่นตัวกันมาก และด้วยแรงกดดันดังกล่าวในต่างประเทศ ส่งผลให้ค่าธรรมเนียมกองทุนมีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างมากในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาค่าธรรมเนียมกองทุนเฉลี่ยต่ำกว่า 1% และยังพบว่า เงินลงทุนในช่วงหลังจึงไหลเข้ามาลงทุนในกองทุนแบบ Passive Fund และแบบActive Fund ที่เก็บค่าธรรมเนียมต่ำ เพราะตลาดแข่งขันค่าธรรมเนียมสูงขึ้น จากการที่นักลงทุนเริ่มตระหนักว่าผลตอบแทนที่จะได้ในอนาคตเป็นสิ่งที่ไม่แน่นอน ขณะที่ต้นทุนค่าธรรมเนียมคง

ขณะที่นักลงทุนไทยส่วนใหญ่ยังไม่ตื่นตัวในเรื่องนี้อย่างจริงจัง โดยปัจจุบันค่าธรรมเนียมกองทุน มี2ส่วนหลัก คือ ค่าธรรมเนียมที่หักโดยตรงจากผู้ถือหน่วย (เวลาซื้อ-ขาย) และค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากกองทุน หรือดูที่ Total Expense (ค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เรียกเก็บจากกองทุน) ซึ่งค่าธรรมเนียมในส่วนที่สองนี้ นักลงทุนไทยไม่ค่อยดูรายละเอียด

ทางด้านผลงานของผู้จัดการกองทุน มองว่า มีทั้งแพ้และชนะตลาด จะตัดสินใครชนะหรือแพ้จุดนี้คงพูดไม่จบ แต่จุดสำคัญ นั่นคือ “ค่าธรรมเนียม” กองหุ้นไทย ค่าธรรมเนียมเฉลี่ยอยู่ที่ 1.75-2% และกองทุนตราสารหนี้ไทย ค่าธรรมเนียมจะอยู่ที่ 0.4-0.6% ยังเห็นมีบางบลจ. ปรับขึ้นค่าธรรมเนียมอยู่บ้าง

กิตติคุณ มองว่า ค่าธรรมเนียมกองทุนไทยเฉลี่ยที่ระดับ 2% เป็นระดับสูง เมื่อเทียบกับในต่างประเทศ ทุกประเภทกองทุน มีค่าธรรมเนียมเฉลี่ยต่ำกว่า 1% และในความเป็นจริงแล้วเมื่อขนาดกองทุนใหญ่ขึ้น แนวโน้มค่าธรรมเนียมก็ควรต้องมีการปรับลดลง

นอกจากนี้ หากการลงทุนในอนาคตที่ผลตอบแทนอาจไม่อยู่ในระดับสูงตลอดเวลา นักลงทุนไทย ควรกลับมามอง การลดต้นทุนทางการลงทุนหรือไม่ เช่นเดียวกับในสหรัฐหรือยุโรปที่นักลงทุนตื่นตัวเองว่า “ค่าธรรมเนียมมันมากเกินไปแล้ว แถมทำผลตอบแทนไม่ดีอีก” นักลงทุนก็ควรต้องตั้งคำถามนี้กลับไปยังผู้จัดการกองทุน

ส่วนกองทุน ETF ที่มีการลงทุนไม่มีความซับซ้อน เท่ากับกองทุนแบบActive Fund ที่พยายามลงทุนเพื่อเอาชนะตลาด จึงทำให้มีค่าธรรมเนียมไม่ได้สูง มองว่า ก็อาจจะกลายเป็นอีกทางเลือกหนึ่งของนักลงทุนได้ สำหรับนักลงทุนที่ต้องการลงทุนให้ได้ผลตอบแทนเทียบเท่าหรือใกล้เคียงกับดัชนีที่ใช้อ้างอิง

ปัจจุบันมูลค่ากองทุน ETFทั่วโลก มีประมาณ 4 ล้านล้านเหรียญฯ เป็นกองทุนที่กำลังเป็นเทรนด์ในสหรัฐ ยุโรปและเข้ามาในเอเชียบางประเทศที่กำลังตื่นตัว เช่น ญี่ปุ่นและเกาหลี ขณะที่ในไทยก็คงตามมา

อย่างไรก็ตามแนวโน้มการเติบโตของกองทุน ETFในไทย มองว่า ในช่วงแรกคงไม่ได้เติบโตเท่ากับในต่างประเทศ จุดอ่อนคือดัชนีอ้างอิงในไทย ไม่ได้มีมาก ทำให้กองทุนETFที่เคยออกมาใช้ดัชนีอ้างอิงเหมือนตลาด นักลงทุนบางกลุ่มก็ยังไม่เข้าใจและนักลงทุนไทย ส่วนใหญ่ยังชอบกลยุทธ์กองทุนแบบ Active Fund มากกว่า Passive Fund

ทั้งนี้ทั้งนั้น หากมีบลจ. ที่ผลักดันกองทุน ETF ทำให้นักลงทุนไทย ตื่นตัวอย่างจริงจัง น่าจะเป็นอีกโอกาสที่จะแจ้งเกิดสร้างทางเลือกการลงทุนให้กับคนไทย และที่สำคัญการลงทุนผ่านกองทุน อย่าลืม!! “ตรวจสอบค่าธรรมเนียม” กันด้วย