ดวงตาเทียม ๓ มิติ แววตาที่ขาดหายไป..เติมเต็มได้

ดวงตาเทียม ๓ มิติ แววตาที่ขาดหายไป..เติมเต็มได้

ทันตแพทย์มหิดลประดิษฐ์ดวงตาเทียม ๓ มิติ มีความลึกซึ่งเมื่อมองในมุมต่างๆ จะดูเหมือนดวงตาจริง เมื่อผู้ป่วยได้สวมใส่แล้วจะทำให้เกิดความสวยงามดูมีความสมดุล ออกมาเชิญชวนผู้จิตศรัทธาร่วมสมทบทุนช่วยเหลือผู้ป่วยที่ด้อยโอกาสในสังคม

ในสังคมปัจจุบันผู้ป่วยจำนวนมากมีความวิการ (deformity) บริเวณใบหน้าและขากรรไกรที่เกิดจากอุบัติเหตุ พันธุกรรม หรือโรคเนื้องอกชนิดต่างๆ รวมทั้งมะเร็ง หนึ่งในบุคคลเหล่านั้น อาจเป็นคนใกล้ชิดท่าน หรือญาติพี่น้องท่านก็ได้ ท่านทราบไหมว่าจะแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้อย่างไร  


การสูญเสียดวงตา สามารถทดแทนได้ด้วยตาเทียม ไม่ว่าจะเป็นเด็กหรือผู้ใหญ่ต่างก็มีโอกาสสูญเสียดวงตาไป ทำให้เกิดความพิการและขาดความสวยงาม การทำตาเทียมเป็นการทดแทนสิ่งที่ขาดหายไป


หน่วยประดิษฐ์ใบหน้าขากรรไกร คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นศูนย์การบูรณะฟื้นฟูผู้ป่วยที่สูญเสียอวัยวะบนใบหน้า และตาเทียมเพื่อทดแทนอวัยวะเทียมบนใบหน้า ที่ได้รับการผ่าตัดและคงสภาพขนาดดวงตาที่สูญเสียและลดการหดตัวของเบ้าตาพิการ โดยผลงานของ หม่อมหลวง ธีรธวัช ศรีธวัช ทันตแพทย์หัวหน้าหน่วยฯ ผู้ประดิษฐ์ดวงตาเทียม ๓ มิติ (Three Dimensional Ocular Prosthesis) ได้รับการจดสิทธิบัตร และร่วมแสดงนิทรรศการทางการแพทย์ การสาธารณสุข และสุขภาวะ เพื่อขับเคลื่อนประเทศตามนโยบาย Thailand 4.0 ในโอกาสที่ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มาแสดงปาฐกถาพิเศษ เรื่อง "บทบาทของมหาวิทยาลัยไทยต่อ Thailand 4.0" ณ หอประชุมมหิดลสิทธาคาร มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา เมื่อเร็วๆ นี้


 หม่อมหลวงธีรธวัช อธิบายว่า ดวงตาเทียม ๓ มิติมีความแตกต่างจากดวงตาเทียมทั่วไป กล่าวคือ ดวงตาเทียมทั่วไปจะเป็นสองมิติซึ่งเหมือนภาพวาด แต่ดวงตาเทียมสามมิติจะมีความลึกซึ่งเมื่อมองในมุมต่างๆ จะดูเหมือนดวงตาจริง จักษุแพทย์และทันตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญทางด้านการประดิษฐ์ใบหน้าและขากรรไกร จะร่วมรักษาในการใส่ตาเทียมให้ผู้ป่วย หากผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดดวงตา หลังการผ่าตัดจะได้รับการใส่ตาเทียมชั่วคราวก่อน เพื่อให้บาดแผลจากการผ่าตัดหายดีก่อน ตาเทียมชั่วคราวจะมีความใสเพื่อให้แพทย์สามารถตรวจเนื้อเยื่อด้านในได้


ตาเทียมชั่วคราว จะมีทั้งชนิดสำเร็จรูปที่มีขนาดที่ผลิตเตรียมไว้แล้ว หรือในกรณีที่ขนาดที่ตาเทียมชั่วคราวไม่เหมาะสม ทันตแพทย์จะพิมพ์เนื้อเยื่อด้านในเพื่อทำตาเทียมเพื่อให้มีความแนบต่อเนื้อเยื่อดังกล่าว หลังจากบาดแผลจากการผ่าตัดหายดี ทันตแพทย์จะเป็นผู้พิจารณาในการทำตามเทียมถาวรให้พอดีกับความพิการ


ตาเทียมถาวร จะมีลักษณะคล้ายคลึงกับตาเทียมชั่วคราว แตกต่างกันที่ความสวยงาม ตาเทียมถาวรจะมีสี และตาดำ และขนาดที่คล้ายกับตาด้านปกติ เมื่อผู้ป่วยได้สวมใส่แล้วจะทำให้เกิดความสวยงามดูมีความสมดุล ขั้นตอนในการทำตาเทียมถาวรเฉพาะบุคคล จะมีขั้นตอนการผลิตหลายขั้นตอน ผู้ป่วยจะต้องมาพบทันตแพทย์เป็นเวลา ๓ – ๔ ครั้ง จึงจะได้รับตาเทียมถาวรไป หลังจากนั้นทันตแพทย์จะนัดทุกๆ ๖ เดือนเพื่อมาตรวจและบำรุงรักษาตาเทียม เพื่อให้มีสภาพดีตลอดไป


ผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่หน่วยประดิษฐ์ใบหน้าฯ ส่วนใหญ่แล้วเป็นผู้ป่วยที่ด้อยโอกาสในสังคม โดยเฉพาะยามเมื่อผู้ป่วยได้รับความพิการที่ใบหน้า หรืออวัยวะส่วนอื่นๆ แล้วไม่สามารถออกจากบ้านไปทำงานได้อย่างปกติ ทำให้เสียความเชื่อมั่นและขาดโอกาสทางสังคม หน่วยประดิษฐ์ใบหน้าฯ ได้ทำการรักษาผู้ป่วยโดยการประดิษฐ์อวัยวะเทียมให้ผู้ป่วยเพื่อทดแทนส่วนที่ขาดหายไป อีกทั้งเป็นการเพิ่มโอกาสทางสังคมและเติมเต็มด้านจิตใจให้มีความหวังขึ้นมา โดยมีความมุ่งมั่นที่จะรักษาผู้ป่วยอย่างสุดกำลัง และยังได้มีการวิจัยวิธีการรักษาใหม่ๆ อย่างไม่หยุดยั้ง เพียงเพื่อจุดมุ่งหมายเดียวคือช่วยเหลือให้ผู้ป่วยสามารถอยู่ร่วมกับคนปกติในสังคมได้อีกครั้ง

“อวัยวะที่ขาดไป เติมเต็มได้ด้วยน้ำใจคุณ”
การทำบุญอื่นใดคงไม่เท่ากับการทำให้ชีวิตที่ใกล้จะมืดมิด กลับมีประกายแห่งแสงสว่างขึ้นมาอีกครั้ง หน่วยประดิษฐ์ใบหน้าฯ จึงมีความหวังว่า ถ้าทุกคนในสังคมมีจิตใจเอื้อเฟื้อต่อกัน โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าท่านจะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยเหลือผู้ป่วยด้อยโอกาสเหล่านี้ให้กลับมาใช้ชีวิตเช่นคนปกติ ซึ่งท่านสามารถบริจาคโดยแสดงความประสงค์จะสนับสนุนทางด้านต่างๆ ของกองทุน อาทิ ด้านจัดสรรหาวัสดุเครื่องมือ ด้านช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาสในชนบท และด้านการวิจัย โดยมีช่องทางบริจาค ดังนี้
- เช็คสั่งจ่าย “มูลนิธิคณะทันตแพทยศาสตร์มหิดล” โดยส่งเช็คมาที่ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ทันตแพทย์ หม่อมหลวง ธีรธวัช ศรีธวัช กองทุนโครงการ “หน่วยประดิษฐ์ใบหน้าขากรรไกร” คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เลขที่ ๖ ถนนโยธี แขวงพญาไท เขตราชเทวี กรุงเทพฯ ๑๐๔๐๐
- โอนเงินเข้าบัญชีออมทรัพย์ ธนาคารไทยพาณิชย์ สาขารามาธิบดี ชื่อบัญชี “มูลนิธิคณะทันตแพทยศาสตร์มหิดล” เลขที่บัญชี ๐๒๖-๒-๑๓๖๘๕-๙
- บริจาคโดยตรงที่ หน่วยประดิษฐ์ใบหน้าขากรรไกร คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล อาคาร ๕ ชั้น ๘ อาคารเฉลิมพระเกียรติ ๕๐ พรรษา ชั้น ๙ โทร. ๐-๒๒๐๐-๗๗๓๕-๗ โทรสาร ๐-๒๒๐๐-๗๗๓๕
กรณีโอนเงิน กรุณาส่งโทรสาร หรือสำเนาใบโอนเงิน พร้อมแจ้งชื่อที่ประสงค์ให้ออกใบเสร็จรับเงิน มายังหน่วยประดิษฐ์ใบหน้าขากรรไกร เพื่อหน่วยฯ จะจัดส่งใบเสร็จรับเงินให้ท่านต่อไป โดยท่านสามารถระบุชื่อบุคคลที่ต้องการนำไปลดหย่อนภาษีได้ โดยแนบมากับสำเนาใบโอนเงิน หรือเช็ค (มูลนิธิคณะทันตแพทยศาสตร์มหิดล เป็นองค์การหรือสถาน สาธารณกุศล ลำดับที่ ๕๙๗ ของประกาศกระทรวงการคลังฯ ใบเสร็จรับเงินสามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้)
ถ้าหากท่านมีผู้ป่วยต้องการรับการรักษาสามารถติดต่อ เจ้าหน้าที่หน่วยประดิษฐ์ใบหน้าขากรรไกร ได้ที่โทร. ๐-๒๒๐๐-๗๘๘๗

“เราจะช่วยผู้ป่วยทุกคนอย่างเต็มความสามารถ เพื่อให้พวกเขาสามารถดำเนินชีวิตในสังคมได้ตามปกติ”