'ซีพีเอฟ' เยียวยาผู้สูญเสียคนละ 3 ล้าน

'ซีพีเอฟ' เยียวยาผู้สูญเสียคนละ 3 ล้าน

"ซีพีเอฟ" แสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวผู้ตกบ่อบำบัดน้ำเสีย พร้อมมอบเงินเยียวยาให้ครอบครัวผู้สูญเสียทั้ง 5 ศพ คนละ 3 ล้านบาท

จากอุบัติเหตุที่โรงงานแปรรูปเป็ดบางนา ถ.บางนา-ตราด จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิต จำนวน 5 คนนั้น บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) ขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้ง พร้อมแสดงความรับผิดชอบเยียวยาครอบครัวผู้เสียชีวิตคนละ 3 ล้านบาท และหากผู้สูญเสียเป็นหัวหน้าครอบครัวที่ยังมีลูกเล็กบริษัทก็พร้อมให้ทุนการศึกษาจนถึงระดับปริญญาเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของครอบครัว

นายปริโสทัต ปุณณภุม รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านทรัพยากรบุคคล บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ในนามบริษัทขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งต่อครอบครัวของผู้เสียชีวิต โดยบริษัทยืนยันว่าจะให้ความช่วยเหลือและเยียวยาครอบครัวผู้สูญเสียอย่างเต็มที่นอกเหนือจากความช่วยเหลือตามระเบียบของบริษัท และหากครอบครัวใดมีบุตรหลานที่อยู่ระหว่างศึกษา บริษัทจะให้การดูแลเรื่องทุนการศึกษาจนจบการศึกษาระดับปริญญาตรี เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของครอบครัว โดยเบื้องต้นบริษัทได้ดำเนินการติดต่อกับครอบครัวผู้เสียชีวิตเรียบร้อย พร้อมทำการส่งศพให้ครอบครัวเพื่อประกอบพิธีกรรมทางศาสนาต่อไป

สำหรับเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นบริเวณพื้นที่ควบคุมที่ระบุชัดเจนว่าเป็นพื้นที่อันตราย ซึ่งจะต้องได้รับการอนุญาตจึงจะเข้าเยี่ยมชมได้ ทั้งนี้ เป็นที่ทราบกันดีว่าบริเวณบ่อบำบัดน้ำเสียดังกล่าวอาจมีแก๊สที่สามารถทำให้หมดสติ จึงมีความเป็นไปได้ว่าผู้เข้าเยี่ยมชมอาจประสบอุบัติเหตุพลัดตก พนักงานผู้นำชมได้ให้ความช่วยเหลือโดยดึงร่างของผู้ตกบ่ออย่างสุดกำลัง พร้อมทั้งส่งเสียงร้องขอความช่วยเหลือเป็นเหตุให้พนักงานด้านนอกที่ได้ยินเสียงอีก 3 คนวิ่งเข้าไปช่วย จนเกิดความสูญเสียทั้ง 5 คนดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ยังอยู่ระหว่างการสอบสวนข้อเท็จจริงของเจ้าหน้าที่ตำรวจ

ทั้งนี้ บริษัทยืนยันว่าทุกพื้นที่ในโรงงานปฏิบัติตามมาตรฐานความปลอดภัย อาชีวอนามัย และสิ่งแวดล้อม ตลอดจนมีมาตรการในการป้องกันอุบัติเหตุในโรงงาน และระบบบำบัดน้ำเสียอย่างเคร่งครัด ทั้งยังได้ดำเนินการฝึกอบรมด้านความปลอดภัยในการปฏิบัติงานเป็นประจำอย่างต่อเนื่อง โดยมาตรการความปลอดภัยจะมีขั้นตอน ตั้งแต่เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยเข้าประเมินความเสี่ยงของพื้นที่ต่าง ๆ ภายในโรงงาน โดยพิจารณาความเสี่ยงต่อความปลอดภัยและสุขอาชีวอนามัย เมื่อได้พื้นที่เสี่ยงแล้วจะกำหนดเป็นพื้นที่ควบคุม ซึ่งจะมีมาตรการกำกับดูแล เช่น ต้องขออนุญาตเข้าพื้นที่ โดยทุกพื้นที่จะมีการตรวจสอบเป็นประจำ แต่ยังเกิดอุบัติเหตุครั้งนี้ขึ้นซึ่งถือเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของบริษัท