'อินโดนีเซีย' พระเอกคนใหม่ SCN

'อินโดนีเซีย' พระเอกคนใหม่ SCN

ไม่ควรละเลยโอกาสใหม่ในต่างแดน 'ฤทธี กิจพิพิธ' นายน้อยแห่ง 'สแกน อินเตอร์' ยืนยัน ล่าสุดจับมือเทรดดิ้งยักษ์ใหญ่ญี่ปุ่นส่งอุปกรณ์ก๊าซธรรมชาติตีตลาดอินโดนีเซีย ก่อนขยับตัวสู่เมียนมาเป็นสเต็ปต่อไป

แม้ 'กำไรสุทธิ' ไตรมาสแรกของปี 2560 จะทำได้ดีสุดเพียง 47.57 ล้านบาท เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ระดับ 82.04 ล้านบาท แต่เหล่า 'กองทุนในประเทศ' กลับอาศัยจังหวะเข้าซื้อ หุ้น สแกน อินเตอร์ หรือ SCN ของ 'ตระกูลกิจพิพิธ' ส่งผลให้สัดส่วนการถือหุ้นของกองทุนในประเทศขยับขึ้นจากไม่ถึง 5% เป็นเฉลี่ย 10% ในปัจจุบัน

ล่าสุด บริษัทหลักทรัพย์จัดการ กองทุนรวมบัวหลวง จำกัด ได้เข้าซื้อหุ้น SCN เพิ่มเติมอีก 0.21% เมื่อวันที่ 31 มี.ค.2560 ส่งผลให้ครอบครองหุ้น SCN ทั้งสิ้น 5.04% ของสิทธิออกเสียงทั้งหมดของกิจการ
ทว่าแม้การเข้าซื้อหุ้น SCN ในครั้งนี้ ผู้จัดการกองทุนจะรู้ดีว่า งบการเงินไตรมาส 1 ปี 2560 จะออกมาไม่สวย แต่แผนขยายอาณาจักรทั้งในและนอกบ้านของบริษัท ทำให้กองทุนมีความเชื่อว่า ราคาหุ้นปัจจุบันยังคงมีอัพไซด์ระดับหนึ่ง

สะท้อนผ่านราคาเป้าหมายหุ้น SCN ที่ระดับ 8.80 บาท จากตอนนี้ที่ซื้อขายเฉลี่ย 5.85 บาท

'ดร.ฤทธี กิจพิพิธ' กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.สแกน อินเตอร์ เล่าแผนเติบโตในต่างแดนให้ 'กรุงเทพธุรกิจ Biz Week' ฟังว่า แม้โอกาสการขยายตัวของกิจการก๊าซธรรมชาติในประเทศยังมีอยู่ค่อนข้างมาก แต่ไม่ควรหลงลืมที่จะออกไปแสวงหาโอกาสใหม่ๆในต่างประเทศด้วย

เมื่อหลายปีก่อน บริษัทได้ทดลองเข้าไปติดตั้งอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับก๊าซธรรมชาติตามอุตสาหกรรมต่างๆในประเทศเวียดนาม 12 สถานี ผ่านปิโตรเวียดนาม แต่เนื่องจากราคาก๊าซธรรมชาติในเวียดนามมีราคาแพง ขณะที่ราคาน้ำมันดิบลดลงอย่างมต่อเนื่อง ส่งผลให้เวียดนาม หยุดการขยายตัวชั่วคราว ทำให้ช่วงที่ผ่านมาบริษัทตัดสินใจเข้าไปศึกษาตลาดอื่นแทน

หนึ่งในนั้น คือ ประเทศอินโดนีเซีย เพราะในอนาคตความต้องการใช้ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวเนื่องกับก๊าซธรรมชาติจะเพิ่มสูงขึ้น ทั้งในภาคยานยนต์และอุตสาหกรรม สอดคล้องกับนโยบายของรัฐมนตรีพลังงานอินโดนีเซียที่ต้องการเพิ่มจำนวนสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ จากจำนวน 112 แห่ง ในปัจจุบัน เป็น 2,800 แห่ง ในปี 2563 ก่อนจะขยับขึ้นเป็น 5,000 แห่ง ในอนาคต เนื่องจากทางการของอินโดนีเซียต้องการผลักดันให้ก๊าซธรรมชาติขึ้นเป็นเชื้อเพลิงหลักของประเทศ

ส่วนตัวมั่นใจว่า การเข้าไปเจาะตลาดอินโดนีเซียครั้งนี้จะประสบความสำเร็จอย่างแน่นอน แตกต่างจากเมื่อ 7 ปีก่อนที่เคยเข้าไปจัดตั้งบริษัท เพื่อทดลองขายผลิตภัณฑ์อุปกรณ์ที่เกี่ยวกับก๊าซธรรมชาติมูลค่าเฉลี่ย 30 กว่าล้านบาท สุดท้ายไม่ประสบความสำเร็จ หลังกฎหมายบางประการไม่เอื้ออำนวย ทำให้ตัดสินใจปิดบริษัทไปเมื่อ 4 ปีก่อน

การกลับเข้าไปเจาะตลาดอินโดนีเซียอีกครั้งจะมาในรูปแบบใหม่ โดยจะไม่จัดตั้งบริษัทเหมือนครั้งก่อน แต่จะขายผลิตภัณฑ์และอุปกรณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับก๊าซธรรมชาติอย่างครบวงจรทั้งในกลุ่ม CNG และ NGV ให้กับลูกค้าที่มีความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงทั่วโลก

ผ่านพันธมิตรคนสำคัญสัญชาติญี่ปุ่นอย่าง บริษัท โซจิตสึคอร์ปอเรชั่น จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทจัดหาสินค้าและบริการครบวงจรรายใหญ่ของโลก สะท้อนผ่านการมีฐานซื้อขายอยู่ทั่วโลก เช่น บราซิล อาร์เจนติน่า และอินโดนีเซีย เป็นต้น
หนึ่งในหลากหลายข้อดีของการขายสินค้าโดยตรงให้กับพันธมิตรหลัก โดยไม่ต้องจัดตั้งบริษัทร่วมทุน คือ บริษัทจะรับรู้ยอดขายและกำไรทันที โดยไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายด้านอื่นๆ เป็นต้น

ตามแผนงาน ต้นปี 2561 จะเริ่มมีรายได้จากการขายผลิตภัณฑ์นวัตกรรม ถังบรรจุก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ หรือ CNG Type IV และอุปกรณ์ที่เกี่ยวเนื่องกับก๊าซธรรมชาติในประเทศอินโดนีเซีย

แต่จะมีสัดส่วนการขายเท่าไหร่ ยังไม่สามารถตอบได้ เพราะอยู่ระหว่างขอมาตรฐานไอเอสโอ หากไม่มีอะไรผิดพลาดอาจได้รับในเดือนส.ค.นี้ หลังได้รับมาตรฐานระดับโลกแล้วต้องผลิตเพื่อทดสอบสินค้าก่อน

ตอนนี้บอกได้เพียงว่า ผลิตภัณฑ์ได้รับการตอบรับที่ดีจากลูกค้า หลังนำผลิตภัณฑ์ไปออกบูทเมื่อเดือนก่อน สะท้อนผ่านลูกค้าที่ติดต่อขอซื้อสินค้าเข้ามาค่อนข้างมาก เพราะผลิตภัณฑ์ของบริษัทช่วยลดต้นทุนให้ลูกค้ามากถึง 3 เท่า

'โรงงานของเรามีศักยภาพในการผลิตสินค้าเพื่อนำไปขายได้สูงถึงมูลค่า 200 กว่าล้านบาทต่อปี (เฉลี่ย 10 คันต่อปี) ที่สำคัญยังสามารถเพิ่มกำลังการผลิตได้อีก 3 เท่า หรือประมาณ 600 ล้านบาทต่อปี' 

เมื่อถามถึงอัตรากำไรขั้นต้นในการขายผลิตภัณฑ์ในอินโดนีเซีย ดอกเตอร์แชมป์ ตอบว่า กำไรขั้นต้นดีมาก หากพิจารณาจากผู้ประกอบการสองรายใหญ่สัญชาติอเมริกา และเยอรมันที่ดำเนินการขายอยู่แล้วจะพบว่า สองเจ้านี้สามารถสร้าง กำไรขั้นต้นเกิน 200%

แต่เมื่อบริษัทนำผลิตภัณฑ์เข้าไปขายจริงๆ ก็คงต้องลดราคาสู้เจ้าตลาดก่อนในช่วงแรก ฉะนั้นกำไรขั้นต้นช่วงแรกของการทำธุรกิจอาจไปไม่ถึงระดับดังกล่าว แม้จะต้องหั่นราคาสู้ แต่ในแง่ของต้นทุนสามารถทำได้ต่ำกว่าคู่แข่งแน่นอน
เพราะวัตถุดิบเฉลี่ย 40% ของบริษัทมาจากเมืองไทย ขณะที่ของคู่แข่งส่วนใหญ่ต้องนำเข้าจากประเทศอื่น ที่สำคัญสินค้าของบริษัทยังปลอดภาษีการนำเข้า

สำหรับสเต็ปรุกงานในต่างประเทศต่อไป เขา ยอมรับว่า หากราคาน้ำมันดิบขยับตัว ขึ้นจาก 50 เหรียญต่อบาร์เรล สู่ระดับ 70 เหรียญต่อบาร์เรล ภายใน 1-2 ปีข้างหน้า อาจกลับเข้าไปลุยงานในเวียดนามมากขึ้น หลังปีก่อนขายอุปกรณ์ที่เกี่ยวกับก๊าซธรรมชาติในเวียดนามเหนือได้เฉลี่ย 20 ล้านบาท แต่ในปีนี้อาจมียอดลดลง

ล่าสุดอยู่ระหว่างศึกษาตลาดประเทศเมียนมา เนื่องจากก๊าซธรรมชาติในเมียนมามีค่อนข้างมาก สะท้อนผ่านการแบ่งไฟฟ้าให้ประเทศไทยใช้อย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญตอนนี้เมียนมาอยู่ระหว่างการก่อสร้างโรงไฟฟ้า หากแล้วเสร็จความต้องการใช้มาแน่ แต่คงต้องใช้เวลาอีกประมาณ 5 ปีกว่าโรงไฟฟ้าจะก่อสร้างเสร็จ

ปัจจุบันบริษัทมีรายได้หลักมาจากในประเทศ แต่ภายใน 2-3 ปีข้างหน้า โมเดลจะเปลี่ยนแปลงไป โดยจะมี รายได้ต่างประเทศเข้ามาเสริมทัพเฉลี่ย 10-20% ส่วนใหญ่จะมาจากอินโดนีเซียเป็นหลัก ยกเว้นราคาน้ำมันดิบดีดตัวกลับมาเวียดนามอาจเป็นประเทศหลักที่ สร้างรายได้นอกบ้าน เพราะมีความพร้อมมากกว่า และทำง่ายกว่า

'การขายอุปกรณ์ที่ผลิตได้เอง แม้จะมีกำไรต่อหน่วยสูง แต่อาจสู้การขยับตัวไปเป็นผู้ร่วมขายก๊าซธรรมชาติไม่ได้ เพราะกิจการนี้น่าจะสร้างผลตอบแทนจากการลงทุนได้อย่างน้อย 12% ที่ผ่านมาปิโตรเวียดนามเคยชวนทำกิจการดังกล่าว แต่ราคาน้ำมันดิบดันปรับตัวลดลง'

เมื่อถามถึงแผนขยายงานในประเทศ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ถือโอกาสเล่าสถานการณ์ก๊าซธรรมชาติให้ฟังว่า ช่วงทางการประกาศลอยตัวราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์ในปี 2559 ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติปรับตัวลดลงทันทีเฉลี่ย 10%

แต่ตอนนี้ยอดการใช้เริ่มกลับมาแล้ว หลังราคาเอ็นจีวีถูกกว่าน้ำมันเบนซินเฉลี่ย 3 เท่าตัว ขณะที่เอ็นจีวีถูกกว่าน้ำมันดีเซล 'เท่าตัว' ฉะนั้นจะเริ่มเห็นบริษัทขนส่งหลายแห่งกลับมาใช้เอ็นจีวีเหมือนเดิม

สะท้อนผ่านความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติในปัจจุบันที่อยู่ระดับ 7,200 ล้านตันต่อวัน จากเคยลงไปต่ำสุดที่ระดับ 6,500 ล้านตันต่อวัน ในอดีตความต้องการใช้เคยขึ้นไปยืนจุดสูงสุดที่ระดับกว่า 8,000 ล้านตันต่อวัน (ก่อนประกาศลอยตัวเอ็นจีวี)

ภายใน 2 ปีข้างหน้า ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติ มีโอกาสกลับไปยืนบนจุดสูงสุด แต่ต้องยืนอยู่บนสมมุติฐานที่ว่า ราคาน้ำมันดีดตัว,ผู้บริโภคมีความเข้าใจมากขึ้น และจำนวนสถานีมีเพียงพอต่อความต้องการ ปัจจุบันเมืองไทยมีจำนวนสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ 460 สถานี ลดลงจากต้นปีก่อนที่มี 501 สถานี

เมื่อสามปัจจัยโคจรมาพบกันจะทำให้ก๊าซธรรมชาติกลับมาเป็น 'พระเอกอีกครั้ง'

ตามแผนงานในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า บริษัทต้องการมีสถานีบริการก๊าซธรรมชาติประมาณ 20 แห่ง จากปัจจุบันที่มี 7 แห่ง และปลายปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็น 12-14 แห่ง ขณะเดียวกันต้องการเห็นการเปิดสถานีบริการก๊าซธรรมชาติแบบใหม่
ล่าสุดกำลังเจรจากับ “บริษัทน้ำมันยักษ์ใหญ่ระดับประเทศสัญชาติไทย” เพื่อทำธุรกิจร่วมกัน เช่น บริษัทนำอุปกรณ์ไปติดในสถานีบริการที่อยู่ตามแนวท่อ หรือบริษัทน้ำมันราย ใหญ่นำแบรนด์ของเขามาติดตั้งในสถานีของเรา ถือเป็นการขยายธุรกิจน้ำมันและค้าปลีก ทางอ้อม คาดว่า ภายในไตรมาส 3 ปีนี้ น่าจะมีการเซ็นสัญญา

'ถ้าทำแล้วได้กำไรอาจเห็นเราเปิด สถานีบริการใหม่บางแห่งร่วมกับเพื่อนใหม่ก็เป็นได้ ถือเป็นการขยับตัวเข้าสู่แวดวงพลังงานที่ลึกมากขึ้น'

ทายาทคนโต ทิ้งท้ายว่า สำหรับ 'ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน' คงไม่ได้ยกให้เป็นกิจการหลัก แต่คงทำเป็นน้ำจิ้ม ไม่ให้ตกขบวนรถไฟฟ้ามากกว่า อย่างในปีนี้อาจมีกำไรจากการจำหน่ายไฟฟ้า 5 เมกะวัตต์
ภายใต้โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินสาหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร ซึ่งดำเนินการบนพื้นที่ จังหวัดนครปฐม ประมาณ 60 ล้านบาท แต่เมื่อหักค่าเสื่อมแล้วอาจเหลือกำไรในมือเพียงเกือบ 20 ล้านบาท (หักค่าเสื่อม 20 ปี)

ล่าสุดจับมือกับ สหกรณ์ภาคอีสาน เพื่อยื่นประมูลโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินสำหรับหน่วยงานราชการและสหกรณ์ภาคการเกษตร เฟส 2 จำนวน 5-10 เมกะวัตต์ หากดวงดีคงจับสลากได้เหมือนเฟสแรก

'รายได้รวมเติบโต 30-40% ปีนี้ทำได้แน่นอน อย่าตกใจที่กำไรสุทธิไตรมาสแรกลดลง เพราะในช่วงที่เหลือของปีนี้ตัวเลขดีดกลับแน่นอน' นายน้อย ยืนยันเช่นนั้น