วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (23 มิ.ย.60)

วิเคราะห์สถานการณ์ราคาน้ำมัน (23 มิ.ย.60)

ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้น หลังปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐ ปรับตัวลดลง

+ ราคาน้ำมันดิบปรับเพิ่มขึ้น หลังสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐ ปรับตัวลดลงราว 2.5 ล้านบาร์เรล ซึ่งมากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลงราว 2.1 ล้านบาร์เรล ในขณะที่ปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐ ปรับลดลงเช่นกัน โดยปรับลดลงราว 578,000 บาร์เรล

+ พายุดีเปรสชันซินดี (Tropical Depression Cindy) ในสหรัฐ ส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติงานในพื้นที่ Gulf of Mexico ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการผลิตน้ำมันดิบถึงร้อยละ 17 ของปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในสหรัฐ และก๊าซธรรมชาติแห้ง (dry natural gas) ถึงร้อยละ 5 ของปริมาณการผลิตและก๊าซธรรมชาติแห้งในสหรัฐ 

+ นาย Jabar al-Luaibi รัฐมนตรีกระทรวงน้ำมันอิรักเผยว่า ราคาน้ำมันดิบจะเริ่มปรับตัวดีขึ้นในช่วงปลายเดือนก.ค. และแตะระดับ 54 ถึง 56 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในช่วงปลายปี 2560

- ปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐ ที่อยู่ในระดับสูงส่งผลให้ความต้องการใช้ท่อขนส่งน้ำมัน Colonial pipeline ปรับลดลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 6 ปี ทั้งนี้ ยังเป็นอีกหนึ่งสัญญาณที่บ่งบอกถึงภาวะอุปทานล้นตลาดของตลาดน้ำมันโลกที่เกิดขึ้น ณ ขณะนี้

- ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังยุโรป ที่ Amsterdam-Rotterdam-Antwerp (ARA) รายงานโดย Genscape ปรับตัวเพิ่มขึ้นแตะระดับ 64.2 ล้านบาร์เรล สำหรับสัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 16 มิถุนายน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบปี และเป็นอีกสัญญาณที่บ่งบอกว่าการปรับลดกำลังการผลิตของกลุ่มโอเปค ณ ปัจจุบันอาจไม่เพียงพอที่จะทำให้ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังโลกปรับลดลงอย่างที่คาดการณ์ไว้


ราคาน้ำมันเบนซิน ปรับตัวลดลงน้อยกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ หลังปริมาณน้ำมันเบนซินคงคลังสหรัฐ และสิงคโปร์ ปรับตัวลดลง นอกจากนี้ยังได้รับแรงหนุนจากความคาดหวังว่าความต้องการใช้น้ำมันเบนซินในสหรัฐ ในช่วงฤดูการขับขี่ จะปรับตัวดีขึ้น

ราคาน้ำมันดีเซล ปรับตัวลดลงมากกว่าราคาน้ำมันดิบดูไบ เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันดีเซลในภูมิภาคเอเชียและประเทศอินเดียยังคงอยู่ในระดับดี ประกอบกับอุปทานยังคงตึงตัวในช่วงฤดูการปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่นในภูมิภาคเอเชียเหนือ


ไทยออยล์คาดการณ์ราคาน้ำมันดิบในสัปดาห์หน้า

         ราคาน้ำมันดิบเวสต์เทกซัสเคลื่อนไหวในกรอบ 41-46 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล   

         ราคาน้ำมันดิบเบรนท์เคลื่อนไหวในกรอบ 43-48 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล 

ปัจจัยที่น่าจับตามอง

- ตลาดยังคงกังวลกับการปรับเพิ่มขึ้นของปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของไนจีเรียและลิเบีย ซึ่งเป็นประเทศที่ได้รับการยกเว้นจากข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิต โดยล่าสุด หลังท่อขนส่งน้ำมันดิบ Trans Forcados Pipeline กลับมาดำเนินการอีกครั้ง ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบของไนจีเรียคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นเกิน 2 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือนส.ค. ซึ่งเป็นระดับที่สูงที่สุดรอบ 17 เดือน และปรับเพิ่มขึ้นมากกว่าเดือนก.ค. ราว 0.18 ล้านบาร์เรลต่อวัน นอกจากนี้ ปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของลิเบียปรับเพิ่มขึ้นแตะระดับ 0.885 ล้านบาร์เรลต่อวัน และคาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นไปสู่ระดับ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน ในเดือนก.ค.

- ปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐ คาดว่าจะปรับลดลง จากอัตราการกลั่นของโรงกลั่นในสหรัฐที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ประกอบกับ ความต้องการใช้น้ำมันในช่วงฤดูร้อนที่ปรับเพิ่มขึ้นในตะวันออกกลางโดยเฉพาะ ซาอุดิอาระเบีย ที่จะทำให้ปริมาณการส่งออกน้ำมันดิบจากซาอุดิอาระเบียมาสู่สหรัฐ ปรับลดลง โดยสำนักงานสารสนเทศด้านพลังงานสหรัฐ (EIA) รายงานปริมาณน้ำมันดิบคงคลังสหรัฐ ปรับลดลง 2.5 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ระดับ 509.1 ล้านบาร์เรล มากกว่าที่นักวิเคราะห์คาดการณ์ไว้ว่าจะปรับลดลงราว 2.1 ล้านบาร์เรล

- จับตาท่าทีของผู้ผลิตน้ำมันดิบเกี่ยวกับมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันดิบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต หลังอิหร่านให้ความเห็นว่ากลุ่มโอเปคอาจพิจารณาปรับลดกำลังการผลิตมากกว่า 1.8 ล้านบาร์เรลต่อวัน เนื่องจากปริมาณการผลิตน้ำมันดิบของสหรัฐ ปรับเพิ่มขึ้นเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้


----------------------------

ที่มา : บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน)

โทร.02-797-2999