วิจัยวว.ตอบโจทย์ดีมานด์ดริเว่น

วิจัยวว.ตอบโจทย์ดีมานด์ดริเว่น

วว.ปรับทิศทางงานวิจัยโดยพยายามผลักดันผลงานให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทั้งเชิงพาณิชย์และเชิงสังคม ในลักษณะของดีมานด์ดริเว่น เน้นทำน้อยได้มาก

นโยบายพัฒนาประเทศตามโมเดลไทยแลนด์ 4.0 มุ่งขับเคลื่อนประเทศด้วยนวัตกรรม สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ซึ่งเป็นองค์กรวิจัย จึงต้องปรับทิศทางงานวิจัยโดยพยายามผลักดันผลงานให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ทั้งเชิงพาณิชย์และเชิงสังคม ในลักษณะของดีมานด์ดริเว่น (Demand Driven) ตามความต้องการของตลาดแล้วนำงานวิจัยไปตอบโจทย์ความต้องการนั้น

“ไทยแลนด์ 4.0 ต้องทำน้อยได้มาก ระบบการผลิตจำเป็นต้องพึ่งพิงวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ทดแทนการใช้แรงงาน เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานยกระดับเศรษฐกิจฐานราก” นางลักษมี ปลั่งแสงมาศ ผู้ว่าการ วว. กล่าว


6 ศูนย์นวัตกรรมดึงเอกชน


ต้นปีที่ผ่านมา วว.ได้ปรับโครงสร้างองค์กรเพื่อให้งานวิจัยเดินไปในทิศทางดังกล่าว โดยมุ่งสร้างความร่วมมือกับภาคเอกชนมากขึ้น พร้อมทั้งแบ่งงานวิจัยออกไปตามศูนย์นวัตกรรมทั้ง 6 ศูนย์ ประกอบด้วย เกษตรสร้างสรรค์ อาหารสุขภาพ ผลิตภัณฑ์สมุนไพร พลังงานสะอาด-สิ่งแวดล้อม วัสดุและหุ่นยนต์-เครื่องจักรกลอัตโนมัติ แต่ละศูนย์จะมีกลุ่มเป้าหมายคือภาคเอกชนในแต่ละสาขา ที่ต้องดึงให้มาลงทุนทำวิจัยเพิ่มขึ้น
ในส่วนแนวทางการทำวิจัยของ วว. จะให้ความสำคัญกับกลุ่มฟังก์ชั่นนัลฟู้ดหรืออาหารสุขภาพเฉพาะกลุ่มโรคหรือเฉพาะบุคคลมากขึ้น รองมาคือ กลุ่มผลิตภัณฑ์จากสมุนไพร ซึ่งเป็นสิ่งที่ทำมานาน มีนักวิจัยที่เชี่ยวชาญ ห้องห้องปฏิบัติการครบวงจรทั้งการทดสอบสารออกฤทธิ์ ทดสอบความปลอดภัยและประสิทธิภาพ ทำให้งานวิจัยออกมาสมบูรณ์ พร้อมกันนี้ยังสนับสนุนข้อมูลขอขึ้นทะเบียน อย. ให้กับผู้ประกอบการที่เข้ามารับบริการ ทำให้ผลิตเชิงพาณิชย์ได้เร็วขึ้น
ส่วนทิศทางการวิจัยในกลุ่มเกษตรสร้างสรรค์ ได้เตรียมรองรับเรื่องเกษตรปลอดภัย ลดการใช้สารเคมีนำไปสู่เกษตรอินทรีย์ รวมทั้งการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ภายใต้โครงการ InnoAgri พัฒนาเกษตรกรด้วย วทน. โดยเฉพาะเกษตรกรคนรุ่นใหม่ที่เป็นทายาทและมีความพร้อมที่จะใช้เทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็น เครื่องทุนแรงระบบอัตโนมัติ พรีซิชั่นฟาร์มมิ่ง ระบบเซนเซอร์รวมถึงแอพพลิเคชั่นด้านเกษตร
นางลักษมี กล่าวว่า เทคโนโลยีและนวัตกรรมเหล่านี้จะช่วยยกระดับเกษตรกรรมไทยให้เป็นแบบ “ทำน้อยได้มาก” ขณะเดียวกัน วว. ก็มีจุดแข็งด้านการแปรรูปเพิ่มมูลค่าสินค้าเกษตร เมื่อมารวมกับ วทน.และมาตรฐานแล้ว ในที่สุดก็จะทำให้ผลิตภัณฑ์ขายได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศอย่างยั่งยืน


โอทอป 4.0 ต้องการเวลาบ่มเพาะ


วว.ได้รับการสนับสนุนงบประมาณ 1,600 ล้านบาท ส่วนงบปีหน้าเตรียมเสนอขอเพิ่มเล็กน้อยตามภารกิจที่เพิ่มขึ้น สำหรับเป้าหมายการดำเนินงานปีนี้ ในส่วนของโอทอปตั้งเป้าว่าจะยกระดับ 400 รายทั่วประเทศ ขณะที่งานวิจัยที่ผลักดันสู่เชิงพาณิชย์ 20-30 รายการทั้งการถ่ายทอดแบบซื้อเทคโนโลยีและงานบริการวิจัย อย่างไรก็ตาม ถ้ามองภาพรวมของโอทอปและเอสเอ็มอีที่จะไปถึง 4.0 สำเร็จนั้นต้องยังใช้เวลาและความต่อเนื่อง เพราะผู้ประกอบการเหล่านี้มีหลายระดับ


“เรื่องแบบนี้ต้องใช้เวลาเหมือนยุทธศาสตร์ชาติต้องใช้เวลา 20 ปี จึงต้องทำต่อเนื่องและมุ่งมั่น ไม่ใช่ทำแบบฉาบฉวย ต้องใจเย็น เพราะจากการลงพื้นที่ พบว่า สินค้าบางอย่างที่ไม่ใช้เทคโนโลยียังมีอยู่อีกมาก การที่จะเปลี่ยนให้เขาหันมาใช้เทคโนโลยีจึงต้องใช้เวลาเพื่อสร้างการยอมรับ” นางลักษมี กล่าว


ที่ผ่านมา มีผู้ประกอบการหลายรายเข้ามาใช้บริการและงานวิจัยของ วว .กระทั่งสามารถขายสินค้าในช่องโมเดิร์นเทรด สนามบินรวมทั้งส่งออกตลาดต่างประเทศ ถือเป็นความเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้น แม้อาจจะยังไม่ถึง 4.0 แต่ก็สามารถขยับตัวและพัฒนาขึ้น จึงเป็นเรื่องดีที่ไต่อันดับไปเรื่อยๆ ทั้งนี้ เป้าหมายคือ อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงจากผลิตภัณฑ์ ที่มีมูลค่าเพิ่มขึ้นจากการนำ วทน. เข้ามาช่วยทำให้สามารถขยายไปสู่ตลาดใหญ่ขึ้น จากแค่ในประเทศสู่ตลาดต่างประเทศได้


“สิ่งที่สำคัญของการสร้างนวัตกรรมคือ ภาคเอกชนต้องเข้ามาร่วม เพราะตลาดอยู่ที่ภาคเอกชน การร่วมมือกันระหว่าภาครัฐกับเอกชนจะเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างนวัตกรรมที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง และจะทำให้การพัฒนาประเทศก้าวกระโดดได้เร็วขึ้นหากเจอนวัตกรรมที่เป็นไฮไลท์” ผู้ว่าการ วว. กล่าว