“ฮอนด้า” ดึงเอไอ - บิ๊กดาต้า พัฒนาวิศวกรรมยานยนต์

“ฮอนด้า” ดึงเอไอ - บิ๊กดาต้า พัฒนาวิศวกรรมยานยนต์

ส่งนวตกรรมใหม่การเดินทาง โชว์งาน CES Asia

       งานเทคโนโลยีและสินค้าอิเล็กทรอนิกส์เพื่อผู้บริโภค 2017 (CES ASIA - Consumer Electronics Show ASIA 2017) ปีนี้ ที่เซี่ยงไฮ้ ประเทศจีน ที่เพิ่งจบไปไม่นาน มีสินค้าต่างๆ มากมาย ตั้งแต่นาฬิกา ไปจนถึงรถยนต์ เครื่องดนตรีไปถึงหุ่นยนต์เข้าร่วมแสดงกว่า 400 บู๊ท

       ฮอนด้า ก็เข้าร่วมงานนี้เช่นกัน ซึ่งผมมีโอกาสไปร่วมงาน ก็เห็นได้ว่าเป็นอีกบู๊ทที่ผู้คนให้ความสนใจ แม้ว่าผลิตภัณฑ์บางอย่างจะทำได้แค่ดูเท่านั้น จะม่ีบางอย่างเท่านั้นที่ผู้ชมมีส่วนร่วมโดยตรงได้ เช่น LiB-AID E500 แบตเตอรี่แปลงพลังงานไฟฟ้าขนาดพกพาที่ให้พลังงานไฟฟ้าเทียบเท่ากับแหล่งพลังงานจากภายในบ้าน ซึ่งตั้งแสดงเอาไว้ 3-4 ตัว พร้อมต่อสายชาร์จสำหรับไอโฟนเอาไว้ตัวละ 2 สาย และไมโครยูเอสบี อีก 2 สาย ให้ผู้ชมสามารถชาร์จได้

       อีกสิ่งหนึ่งที่สัมผัสได้ก็คือพาหนะส่วนบุคคล ยูนิ-คับ (UNI-CUB) โดยเปิดให้ผู้สนใจลองใช้งานลงชื่อต่อคิว 

       ยูนิ-คับ พัฒนาขึ้นด้วยแนวคิด “การกลมกลืนร่วมกับผู้คน เน้นความสะดวกในการใช้งานในพื้นที่ที่ผู้คนสัญจรไปมาได้ ไม่เกะกะ ได้รับการพัฒนาขึ้นจาก เทคโนโลยีควบคุมการทรงตัวของฮอนด้า ทำให้เคลื่อนที่ได้อย่างอิสระไม่ว่าจะเป็นไปข้างหน้า-ด้านหลัง ไปด้านข้างซ้าย-ขวา หรือแม้แต่แนวทแยงมุมก็ทำได้ แค่นั่งบนตัวมัน แล้วควบคุมด้วยการโน้มตัวไปในทิศทางที่ต้องการ ซึ่งผมเองมีโอกาสไปลองใช้งานในพื้นที่ไม่กว้างนักบนเวที ร่วมกับคนอื่นๆ รวม 6 ตัว และเจ้าหน้าที่ที่เดินขวักไขว่อีก 5-6 คน ก็เห็นได้ว่ามันสามารถซอกแซกไปมาได้ และหากมีประสบการณ์ในการใช้งาน เชื่อว่าคงให้ความรู้สึกไม่ต่างกับเราไปด้วยเปล่าต่างกันแค่ว่าไม่ต้องออกแรงเดินเท่านั้นเอง 

       ที่เด่นขึ้นไป คือ ยูนิ-คับ มีระบบปฏิบัติการหุ่นยนต์ สามารถใช้ได้กับโปรแกรมการเชื่อมต่อการใช้งานแอพพลิเคชั่น (API) ทำให้สามารถควบคุมได้จากระยะไกล สิ่งที่ได้ตามมาคือสามารถใช้เป็นอุปกรณ์สำหรับส่งของ หรือนำทางแขกไปยังที่นั่งด้วยการตั้งโปรแกรมเส้นทางไว้ล่วงหน้า

       ทางด้านรถยนต์ ฮอนด้ามีรถต้นแบบ นิววี (NeuV) ขับเคลื่อนด้วยพลังงานไฟฟ้า มาพร้อมเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ  AI และฟังก์ชั่นการขับเคลื่อนอัตโนมัติ จุดเด่นของมันก็คือสามารถตรวจจับสภาวะทางอารมณ์ของผู้ขับได้ โดยประมวลผลจากการแสดงออกทางสีหน้า น้ำเสียง เพื่อเลือกฟังก์ชั่นที่ช่วยให้ผู้ขับสามารถขับขี่ได้อย่างปลอดภัย เช่น เปิดเพลงให้ฟังเมื่อเห็นว่ารู้สึกเครียด 

       มันยังเป็นรถที่เรียนรู้ไลฟ์สไตล์และความชอบของผู้ขับได้อีกด้วย เพื่อที่จะนำเสนอทางเลือกต่างๆ ให้ และที่เด่นอีกอย่างคือ หากเจ้าของไม่ได้ใช้งานแต่ยินยอมพร้อมใจให้คนอื่นใช้ นิววี ก็จะขับไปรับส่งคนอื่นด้วยตัวมันเอง อย่างนี้ไม่รู้ว่าถ้าในอนาคตผลิตขึ้นมาใช้จริง จะถูกแท็กซี่บางคันบ้านเราไล่ล่าปิดล้อม เหมือนที่ทำกับรถที่คิดว่าเป็นอูเบอร์หรือเปล่า 

        ผลิตภัณฑ์อีกตัวหนึ่งที่ผู้คนสนใจก็คือ รถจักรยานยนต์ที่มีระบบช่วยการทรงตัว (Honda Riding Assist) สามารถจอดโดยไม่ใช้ขาตั้งได้ เพราะสามารถทรงตัวได้เอง ด้วยเทคโนโลยีควบคุมการทรงตัวที่ต่อยอดมาจากหุ่นยนต์ชื่อดัง อาซิโม ส่วนกรณีที่มีผู้ขับขี่ประโยชน์ของมันก็คือ หากพบว่าเสียการทรงตัวในระดับหนึ่ง ตัวรถก็จะกลับมาทรงตัวได้เอง

       และการขับขี่ที่ความเร็วต่ำ ซึ่งคนขี่จักรยานยนต์รู้ดีว่าควบคุมได้ยากกว่าช่วงขับขี่เร็วๆ ระบบนี้จะช่วยลดการโยกตัวไปมา ลดความเสี่ยงของการล้ม

      การแสดงอีกส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของระบบจราจร ที่เรียกว่า Safe Swarm ซึ่งฮอนด้าบอกว่าได้รับแรงบันดาลใจมาจากโลกของความเป็นจริงในธรรมชาติ คือ ฝูงปลา ที่แม้จะหนาแน่น แต่ก็สามารถว่ายไปมาได้อย่างไหลลื่น เพราะฉะนั้นรถยนต์บนท้องถนนก็ควรจะทำแบบนั้นได้เช่นกัน 

       ฮอนด้านำเทคโนโลยีการเชื่อมต่อการสื่อสารระหว่างรถยนต์แต่ละคันผ่านอินเทอร์เน็ตเข้ามาใช้ เพื่อให้รถแลกเปลี่ยนข้อมูลกับรถด้วยกัน เกี่ยวกับสภาพถนนและสิ่งกีดขวางบนถนน และช่วยลดการจราจรติดขัดด้วยการช่วยผู้ขับเปลี่ยนเลน และเมื่อถึงทางแยกที่มีการรวมเลน ระบบจะวิเคราะห์ความเร็วของรถ และลดความเร็วในระยะเวลาที่เหมาะสม เพื่อให้การเปลี่ยนเลนและรวมเลนลื่นไหลและคล่องตัว

       อีกสิ่งหนึ่งก็คือ HMI (Human Machine Interface) เป็นการนำเสนอแนวคิดของฮอนด้าในสภาพการขับขี่แบบใหม่ ที่ทำให้การขับขี่สะดวกสบายและปลอดภัย โดยเป็นระบบการจดจำภาพที่มีการขับขี่อัตโนมัติ มีหน้าจอแสดงผลแบบใหม่ที่รวมเอาระบบหน้าจอสัมผัส และการควบคุมจากระยะไกลไว้ด้วยกัน

       แยกส่วนงานวิจัยออกจากธุรกิจหลัก

       ทสึโตมุ วากิทานิ เจ้าหน้าที่บริหารปฏิบัติการ ศูนย์ อาร์แอนด์ดี เซ็นเตอร์ เอ็กซ์ ฮอนด้า มอเตอร์ กล่าวว่า ในอนาคตแนวคิด KOTO-ZUKURI หรือศิลปะแห่งการสร้างสรรค์ประสบการณ์ของฮอนด้าจะมีความสำคัญมากขึ้น แนวทางจากนี้ไปของฮอนด้าก็คือต้องนำเสนอผลิตภัณฑ์และบริการที่ช่วยให้ผู้คนติดต่อกันได้ และสร้างความเชื่อมโยงทางอารมณ์ความรู้สึก โดยใช้ซอฟท์แวร์ เอไอ, บิ๊กดาต้า และโรโบติกส์ มาใช้ร่วมกับวิศวกรรมเครื่องจักรกล 

       เมื่อมุ่งหน้ามาทางนี้เต็มตัว ออนด้าจึงได้ตั้งบริษัทใหม่ คือ  ฮอนด้า อาร์ แอนด์ ดี อินโนเวชั่น ในซิลิคอน วัลเล่ย์ เมื่อเดือนเม.ย.ที่ผ่านมา และตั้ง ศูนย์อาร์แอนด์ดีเซ็นเตอร์เอ็กซ์ ในญี่ปุ่น เดือนเดียวกัน เพื่อแยกการดำเนินงานวิจัยและพัฒนาจากศูนย์การวิจัยและพัฒนารถจักรยานยนต์ รถยนต์ เครื่องยนต์อเนกประสงค์ และธุรกิจ ฮอนด้าเจ็ทหรือธุรกิจเครื่องบิน

       ช่วงแรกอาร์แอนด์ดีเซ็นเตอร์เอ็กซ์เน้นเทคโนโลยีโรโบติกส์ และเอไอ แต่ขณะนี้ได้เพิ่มขอบเขตเป้าหมายให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้น พร้อมรับกับความเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นได้

       วากิทานิ กล่าวอีกว่า ฮอนด้ายังมี อาร์ แอนด์ ดี อินโนเวชั่น แล็บ โตเกียว ซึ่งตั้งขึ้นช่วงปลายปีที่แล้ว เพื่อให้นักวิจัยและวิศวกรได้ทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญและนักวิจัยจากภายนอก ซึ่งมีส่วนสนับสนุนให้การวิจัยและพัฒนาเอไอ

       ส่วนการเข้าร่วมงานที่เซี่ยงไฮ้ครั้งนี้ เพราะต้องการที่จะแนะนำนวัตกรรมใหม่ๆ ในจีน ซึ่งเป็นประเทศที่ไอที และพลังงานไฟฟ้า เติบโตอย่างรวดเร็วในระดับโลก