โอกาส“ไอโอที”สู่อินฟราสตรัคเจอร์โทรคม

โอกาส“ไอโอที”สู่อินฟราสตรัคเจอร์โทรคม

ชมรมนักข่าวสายเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอทีพีซี) สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ ( กสทช.)

เปิดเวทีเสวนา “ค่ายมือถือ ยึดหัวหาดไอโอที” ระบุ ไอโอที จะกลายเป็นเทคโนโลยีโครงสร้างพื้นฐานสำคัญของอุตสาหกรรมโทรคมนาคม ข้อมูลชี้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจโลกได้ถึง 1.7 ล้านล้านดอลลาร์ ขณะที่ สร้างเม็ดเงินสะพัดในไทย 3.4 หมื่นล้านบาท 

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีการสื่อสารได้พัฒนา และเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา จากการเป็นเครื่องมือหนึ่งให้คนใช้สื่อสารจนกลายมาเป็นเครื่องมือที่สื่อสารกันเองโดยไม่ต้องใช้คนอีกต่อไป เกิดรูปแบบใหม่ทำธุรกิจผ่านระบบอินเทอร์เน็ต ออฟ ธิงส์ (ไอโอที) 

ไอโอทีเงินสะพัด 3.4 หมื่นล้าน

จากข้อมูล พบว่า ปัจจุบันมีอุปกรณ์ไอโอทีที่เชื่อมต่อกันกว่า 13,000 ล้านชิ้น และคาดว่าภายในปี 2562 การใช้งานอุปกรณ์ไอโอทีในหลายภาคส่วนจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจโลกถึง 1.7 ล้านล้านดอลลาร์

สำหรับสถานการณ์ไอโอทีในไทย คาดการณ์ โดยบริษัทฟรอสต์ แอนด์ ซัลลิแวนว่า อาจสร้างเม็ดเงินประมาณ 34,000 ล้านบาทได้ในอีก 3 ปีข้างหน้า หรือในปี 2563 ด้วยการเติบโตของการใช้งานที่สูงต่อเนื่องแต่ละปี แต่ละอุตสาหกรรม เช่น อุตสาหกรรมการผลิตที่ใช้ระบบเซ็นเซอร์เชื่อมโยงผ่านอินเทอร์เน็ตในการติดตามแต่ละขั้นตอน และแต่ละชิ้นส่วนในสายการผลิต อุตสาหกรรมยานยนต์ที่ใช้ระบบเซ็นเซอร์ไอโอทีสื่อสารแบบอัตโนมัติกับระบบรอบตัวรถ เพื่อนำทางและควบคุม โดยไม่ใช้คนและอุตสาหกรรมเกษตรที่สามารถประมวลผลข้อมูลสภาพดินและความชื้นได้ เป็นต้น

ทั้งนี้ จะเห็นว่าการใช้งานไอโอทีจะเกิดประโยชน์อย่างกว้างขวางและจะมีการใช้งานใช้งานสูงขึ้นในประเทศไทยสำนักงาน กสทช. จึงเตรียมความพร้อมรองรับบริการไอโอทีในไทยด้วยการวางรากฐานการเข้าถึงอินเทอร์เน็ต ทั้งแบบไร้สายและทางสาย 

แบบไร้สายสำนักงาน กสทช. ได้จัดสรรคลื่นความถี่ย่าน 2100 เมกะเฮิรตซ์ 1800 เมกะเฮิรตซ์ และ 900 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อสนับสนุนบริการ 3จีและ4จีทำให้ไทยมีคลื่นความถี่รวมสำหรับกิจการโทรคมนาคมในปัจจุบันเท่ากับ 420 เมกะเฮิรตซ์ นอกจากนั้นยังมีแผนที่จะจัดสรรเพิ่มเติมอีก 380 เมกะเฮิรตซ์ ในปี 2563 ซึ่งจะเพียงพอต่อการใช้งานตามคำแนะนำของสหภาพโทคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) 

ส่วนของการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตทางสาย สำนักงาน กสทช.ติดตั้งอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงทั่วประเทศผ่านโครงการยูเอสโอซึ่งมีเป้าหมาย 19,652 หมู่บ้านโดยสำเร็จแล้ว 3,920 หมู่บ้านและคาดว่ากลางปี 2561 จะแล้วเสร็จทั้งหมดเมื่อรวมกับส่วนที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมรับผิดชอบอีก 24,700 หมู่บ้านแล้วจะสร้างการเข้าถึงบรอดแบนด์ทางสายได้ทั่วประเทศ และเมื่อรวมกับบริการ 3จีและ4จีที่ครอบคลุมทุกจังหวัดแล้วในปัจจุบันทำให้ประเทศไทยมีความพร้อมสำหรับบริการ ไอโอทีภายในปีหน้าอย่างแน่นอน

คลื่นความถี่” สำคัญ

นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการกสทช.ด้านคุ้มครองผู้บริโภคในกิจการโทรคมนาคม กล่าวว่า ไม่กี่ปีมานี้ประชาชนทั่วไปก็ใช้งานไอโอทีโดยที่ไม่รู้ตัว เช่น สมาร์ททีวีถือเป็นอุปกรณ์ที่สื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตและเริ่มมีการใช้งานมากขึ้นเรื่อยๆ แม้แต่ใช้ในเรื่องการแพทย์ มีทั้งส่วนที่ใช้สาย และไม่ใช้สาย ปัจจุบันดีไวซ์หลายตัวมีทั้งการใช้งานแบบเคลื่อนที่และไม่เคลื่อนที่ เช่น รถขับเคลื่อนอัตโนมัติก็ใช้ระบบไร้สาย ดังนั้น เรื่องของคลื่นความถี่ เพื่อนำมาให้บริการจึงสำคัญ โดยในอนาคตจะมีระดับ 3-5 หมื่นล้านชิ้นทั่วโลก กสทช.จะต้องจัดสรรคลื่นความถี่เพื่อรองรับการใช้งาน ดังนั้นการใช้เทคโนโลยี 5จีจะตอบโจทย์การใช้งานไอโอทีได้อย่างดี

อย่างไรก็ตาม ผู้ให้บริการต่างพัฒนาไอโอทีเพื่อให้บริการเชิงพาณิชย์ในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม เช่น สมาร์ทมิเตอร์ ไม่ต้องใช้คนเพื่อจดมิเตอร์ ระบบจราจร ไฟอัจริยะ กสทช.ต้องดูว่าคลื่นไหนว่าง เพื่อจัดสรรให้ตรงธุรกิจเพื่อตอบรับการใช้งานทุกกลุ่มอุตสากรรม ที่สำคัญต้องเน้นเรื่องระดับสากลประเทศไทย ไม่ใช่ประเทศมหาอำนาจในเรื่องของเทคโนโลยีไทยจึงต้องยึดมาตรฐานโลกเช่นกัน

นอกจากนี้ การโจมตีระบบคอมพิวเตอร์ที่ผ่านมา ยังถือว่าสามารถแก้ปัญหาได้ไม่ยากแต่หากโจมตีระบบใช้งานไอโอที จะวุ่นวายมาก ผู้ผลิตต้องดูระบบป้องกัน ถ้าสามารถเจาะข้อมูลได้หนึ่งตัว ก็จะเจาะได้หมดซึ่งในส่วนของความรับผิดชอบนั้น ผู้ผลิตจะเป็นผู้รับผิดชอบกสทช.จะกำกับในเรื่องของการให้ใบอนุญาตต้องดูแลเรื่องโครงสร้างพื้นฐานและการสร้างความรู้แก่ผู้ใช้งาน

เอกชนชี้ ‘ไอโอที’ จุดเปลี่ยน

นายวีรวัฒน์ เกียรติพงษ์ถาวร หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านธุรกิจสัมพันธ์ และองค์กร บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส หรือ เอไอเอส กล่าวว่า ไทยใช้ไอโอทีนานแล้ว เช่น เอทีเอ็มส่วน เอไอเอส มีไลเซ่นส์แบรนด์อยู่แล้ว ให้บริการในพื้นที่ไกลผ่านคลื่นความถี่ 900 เมกะเฮิรตช์ 

สิ่งสำคัญ คือ ดีไวซ์ปัจจุบันจีนผลิตจำนวนมาก แต่ไทยยังน้อยสิ่งสำคัญ คือ ผลักดันให้มีการผลิตดีไวซ์ขึ้นมาในไทยรัฐบาลต้องส่งเสริมสตาร์ทอัพในไทยเพราะนอกจากขายในไทยแล้วยังขายได้ทั่วโลก ซึ่งหากดีไวซ์ เมกเกอร์ ของไทยผลิตได้ก็สามารถผลิตไปทั่วโลกต่อไปอุปกรณ์รองรับไอโอทีจะมากกว่าจำนวนผู้ใช้ เทรนด์ต่อไปไทยจะนำไอโอทีมาใช้ในทางการแพทย์ การเกษตร เป็นต้น

นายธีรพันธุ์ ศิริสุนทรไพบูลย์ ผู้อำนวยการฝ่ายธุรกิจบีทูบี บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น หรือดีแทค กล่าวว่า ดีแทคนำไอโอทีมาใช้เพื่อการเกษตรในโครงการดีแทคฟาร์มแม่นยำ นำข้อมูลไปประมวลผล สิ่งที่ดีแทคมอง คือ กลไกลหลัก คือ การสร้างพาร์ทเนอร์ชิพสร้างโมเดลขึ้นมาแล้วจะขับเคลื่อนโมเดลอย่างไร ดีแทคเน้นทำอย่างไรให้เขานำไอโอทีไปใช้ในธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ

นายสรรเสริญ สมัยสุต กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทรู ดิจิตอลแอนด์ มีเดีย แพลตฟอร์ม จำกัด กล่าวว่า ไอโอทียังเป็นเรื่องใหม่ในตลาด การเข้าสู่ยุคไอโอทีไม่ได้เปลี่ยนเทคโนโลยีแต่เป็นการส่งถ่ายการใช้ไอทีเป็นดิจิทัล ไม่ได้เกิดจากผู้ให้บริการอย่างเดียวภาคการผลิตก็แข่งขันกันสูงฝั่งเน็ตเวิร์ค ถ้าภาครัฐสนับสนุนโครงข่ายธุรกิจไอโอทีราคาก็ต้องต่ำด้วย ที่ผ่านมาจับมือซูโลชั่นผู้นำระดับโลก โดยทดลองกับ ซีพี กรุ๊ป ก่อน เช่น สมาร์ทฟาร์มก็ใช้ทั้งหมดครอบคลุม ต้องดูว่าการใช้ดิจิทัลนั้นคุ้มทุนแค่ไหน โดยความเป็นจริงแต่ละธุรกิจจะเอาเทคโนโลยีมาใช้ต้องเน้นเรื่องความคุ้มทุน เพราะเอสเอ็มอีขนาดเล็กไม่มีเงินที่จะสร้าง บริษัทใหญ่ต้องทำให้เห็นก่อน