ประธานฯร่างกฎหมายบัตรทอง ยันแก้ไขมุ่งประโยชน์ประชาชน

ประธานฯร่างกฎหมายบัตรทอง ยันแก้ไขมุ่งประโยชน์ประชาชน

ประธานฯร่างกฎหมายบัตรทอง ยันแก้ไขมุ่งประโยชน์ประชาชน พร้อมรับความเห็นต่าง บันทึกเสนอรมว.สธ.แน่นอน

ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานคณะกรรมการพิจารณาร่างพรบ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(ฉบับที่...) พ.ศ....ให้สัมภาษณ์ว่า กรณีตัวแทนภาคประชาชนมองว่าร่างพรบ.นี้มีแต่หน่วยบริการได้ประโยชน์ แต่ประชาชนไม่ได้ประโยชน์นั้น ขอชี้แจงว่าคณะกรรมการชุดนี้ทำงานโดยมีเป้าหมายสำคัญเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์ ดังนั้น ทุกประเด็นที่มีการแก้ไขก็มุ่งที่ประชาชนได้ประโยชน์ทั้งสิ้น ไม่มีส่วนที่จะทำให้หน่วยบริการได้ประโยชน์ อย่างเช่น  เรื่องค่าใช้จ่ายของหน่วยบริการก็ทำเพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์มากที่สุดจากงบประมาณที่จัดสรรลงไป เป็นต้น  ซึ่งตนรับเข้ามาทำหน้าที่เพราะมีความศรัทธาในสิ่งที่จะเข้ามาแก้ไขปรับปรุงว่าจะทำให้เกิดประโยชน์กับประชาชน  

"ที่ว่าประชาชนไม่ได้ประโยชน์จากการร่างพรบ.นี้นั้น ไม่จริง เพราะตอนที่คณะกรรมการทำงานในการร่างพรบ. ได้เอาประโยชน์ของประชาชนเป็นหลักไม่ได้เอาประโยชน์ของหน่วยบริการเป็นหลักเลย"ดร.วรากรณ์กล่าว 

ส่วนที่ภาคประชาชนไม่เข้าร่วมกับเวทีปรึกษาสาธารณะนั้น ดร.วรากรณ์กล่าวว่า แท้จริงเวทีประชาพิจารณ์ได้เสร็จสิ้นไปแล้วในการทำแบบออนไลน์และการเปิดเวที 4 ภูมิภาค การจัดเวทีปรึกษาสาธารณะเป็นการทดลองรูปแบบใหม่ที่เพิ่มเติมเข้ามาในกระบวนการรับฟังความคิดเห็น หลังจากนี้ก็จะมีการประมวลรวบรวมประเด็นทั้งหมดขึ้นในเวบไซต์เพื่อให้ประชาชนติดตามได้ รวมทั้ง นำความเห็นทั้งหมดสรุปเข้าสู่การประชุมของคณะกรรมการพิจารณาฯเพื่อดูว่าควรมีการแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนใดบ้าง ซึ่งจะพิจารณาด้วยเหตุและผลโดยเฉพาะในประเด็นที่มีความกังวลกว้างขวาง         

ผู้สื่อข่าวถามว่า ในฐานะประธานคณะกรรมการฯ ภาคประชาชนต้องการให้รับปากว่าประเด็นที่ยังเห็นต่างจะไม่มีการปรับแก้ในร่างพรบ. ดร.วรากรณ์ กล่าวว่า ตนเป็นประธาน แต่การทำงานทำในรูปแบบคณะกรรมการ  ไม่สามารถไปรับปากแทนใคร อย่างไรได้แม้จะเป็นประธานก็ตาม จะต้องให้คณะกรรมการประชุมและมีการหารือแล้วออกความเห็นเป็นมติของคณะกรรมการร่วมกัน  จากนั้นจึงจะนำเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขภายในวันที่19 ก.ค.นี้ก่อนนำเข้าคณะรัฐมนตรี เข้าสู่คณะกรรมการกฤษฎีกาและสภานิติบัญญัติแห่งชาติ(สนช.) ซึ่งขั้นตอนในปัจจุบันเป็นเพียงขั้นเบื้องต้นเท่านั้น  

ต่อข้อถาม ภาคประชาชนมองว่ากระบวนยกร่างพรบ.นี้ใช้เวลาน้อยเพียง 2 เดือนและเปิดรับประชาพิจารณ์เพียง 20 วัน  ดร.วรากรณ์ กล่าวว่า ร่างพรบ.นี้มีการประชาพิจารณ์ที่กว้างขวางมากทั้งในรูปแบบออนไลน์และเวทีประชาพิจารณ์ 4 ภูมิภาค  ไม่เห็นกฎหมายที่ไหนจะเปิดกว้างขวางในการรับฟังความคิดเห็นเท่านี้  

"ความคิดเห็นในส่วนที่ยังเห็นต่างคณะกรรมการพิจารณาฯจะจัดทำเป็นรายงานการประชุมแนบท้ายว่ายังมีประเด็นเรื่องใดบ้างที่ยังมีความเห็นที่แตกต่างกัน เพื่อเสนอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งอาจจะมีการตั้งคณะกรรมการมาพิจารณาเพิ่มเติม หรือในขั้นตอนของคณะกรรมการกษฎีกาหรือสนช.ก็อาจจะหยิบยกประเด็นเหล่านี้มาพิจารณาประกอบเพิ่มเติมก็ได้"ดร.วรากรณ์ กล่าว